ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอใช้ในวัยเกษียณ

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที


​​​​​​

คำถามยอดฮิตที่หลายคนมักสงสัยและ​​​​​สอบถามมาอย่างสม่ำเสมอก็คือ “ต้องมีเงินเท่าไหร่ในวันเกษียณ?” เพื่อให้พอใช้ทั้งชีวิตแบบไม่รันทดอดมื้อกินมื้อในวันที่ไม่ได้ทำงานสร้างรายได้อีกแล้วอย่างน้อยๆ 20 ปี 


ถ้าให้ตอบตามความจริง จะขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนว่าจะเน้นไฮโซโก้หรูอยู่สบาย หรืออยู่ง่ายกินง่ายไม่ฟุ่มเฟือย ลักษณะการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันอย่างแน่นอน

ค่าใช้จ่ายที่ลดลงทันทีหลังเกษียณ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำงาน จำพวกเสื้อผ้าหน้าผม การเดินทาง ภาษีสังคมจิปาถะ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายประจำวันลดลงแต่ก็ไม่ได้ชิลล์แบบไม่ต้องใช้เงินเลย เพราะยังมีใช้จ่ายหลักที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าอาหารการกินที่ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ก็ควรใส่ใจกับคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น หรือจะเป็นค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายมากขึ้นแน่นอน เพราะร่างกายก็เหมือนเครื่องยนต์ ใช้นานวันเข้าก็ย่อมสึกหรอเป็นธรรมดา ความทรุดโทรมของร่างกายก็เช่นเดียวกัน


จะต้องมีเงินเท่าไหร่หลังเกษียณ คำนวณแบบทั่วไปคือ จำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้ต่อเดือน X 240 เดือน (20 ปี) ก็จะได้เงินที่จำเป็นต้องมี ณ วันเกษียณ (ยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งวิธีการนี้ถือว่ายากพอสมควร เพราะกว่าหลายท่านจะเกษียณก็อีกหลายสิบปี อาจนึกภาพไม่ออกว่าต้องใช้จ่ายอะไรบ้างและควรต้องมีเงินใช้เดือนละเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้เรามีตัวช่วย...


จากโครงการศึกษาวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีสำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน (วัยสูงอายุ) โดยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า


ผู้ชาย ควรมีเงินขั้นต่ำ ณ วันเกษียณอายุ อยู่ที่ 2.1 – 2.9 ล้านบาท

ผู้หญิง ส่วนใหญ่อายุยืนกว่าและมีค่าใช้จ่ายดูแลตัวเองมากกว่า จึงควรมีเงินขั้นต่ำ 2.5 – 3.3 ล้านบาท

เฉลี่ยเงินที่ควรมีขั้นต่ำ ณ วันเกษียณอายุสำหรับคนไทย เท่ากับ 3 ล้านบาท


ต้องขอบอกว่าเงินจำนวน 3 ล้านบาทที่ว่านี้ เป็นแค่เงินขั้นพื้นฐานให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ ถ้าหากอยากมีชีวิตแบบหรูหราขึ้นก็ต้องมีเงินมากกว่านี้อย่างแน่นอน

ถ้าอยากทำนายได้ว่าเราควรมีเงินเท่าไหร่กันแน่ ทีมนักวิจัยในโครงการข้างต้นร่วมกับ ก.ล.ต. ก็ได้จัดทำเครื่องมือคำนวณขึ้นมาและให้บริการบนเว็บไซต์ www.retirement-checkup.com​ ที่มีฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ มาจากผลการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นค่า ที่พักอาศัย รักษาพยาบาล การกินอยู่ ได้ถูกนำมาคำนวณรวมไว้หมดแล้ว แค่ตอบคำถามไม่กี่ข้อก็พอจะประเมินได้แล้ว ที่สำคัญพอบอกได้ด้วยว่าเงินที่เราสะสมไว้ใช้สำหรับเกษียณมีแนวโน้มจะพอหรือไม่พอด้วย