เมื่อเป็นสมาชิก

03 ตุลาคม 2562
อ่าน 5 นาที

​​​​​หน้าที่ของสมาชิกกองทุนมีอะไรบ้าง
สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีหน้าที่ต้องรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง รวมทั้งต้องติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างต่อเนื่อง โดยสิทธิและหน้าที่ที่สมาชิกพึงปฏิบัติมีดังนี้

ทุกเดือน  
สมาชิกมีหน้าที่ตรวจสอบการนำเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าถูกต้องหรือไม่ โดยดูจากใบรับรองการจ่ายเงินเดือน ซึ่งควรเก็บไว้เพื่อตรวจสอบกับรายงานรอบ 6 เดือนด้วย หากพบว่าไม่ถูกต้อง รีบแจ้งคณะกรรมการกองทุน
ทุก 6 เดือน  
บริษัทจัดการจะส่งรายงานรอบ 6 เดือน ที่แสดงยอดเงินสะสมและเงินสมทบให้สมาชิกภายในเดือนมกราคมและกรกฎาคมของทุกปี ซึ่งสมาชิกควรดูข้อมูลดังต่อไปนี้
            1.  เงินสะสม : ดูว่ายอดเงินรวม 6 เดือน ตรงกับยอดเงินที่เข้ากองทุนในแต่ละเดือนหรือไม่
            2.  เงินสมทบ : ดูว่ามียอดเงินตามที่กำหนดในข้อบังคับกองทุนหรือไม่
            3.  จำนวนหน่วย : ดูว่าเพิ่มขึ้นตราบเท่าที่มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น
            4.  มูลค่าต่อหน่วย : หากมูลค่าเพิ่มขึ้น แสดงว่าผลประกอบการของกองทุนดีขึ้น แต่หากมูลค่าลดลง แสดงว่าผลประกอบการของกองทุนลดลง
ทุกปี
            1. สมาชิกควรเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานของกองทุน รวมทั้ง
ทิศทางการดำเนินงานในปีต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งในการประชุมสมาชิกสามารถซักถามข้อสงสัยได้
            2. สมาชิกควรใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้าง เนื่องจากกรรมการกองทุนจะเป็นตัวแทนสมาชิกในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของกองทุนและสมาชิก อื่นๆ ในการรักษาผลประโยชน์ยังมีข้อมูลสำคัญที่สมาชิกควรทราบหรือสอบถามเพิ่มเติมด้วย เช่น

  • ​ใครเป็นกรรมการกองทุนในที่ทำงานของคุณ หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้
  • ใครเป็นผู้จัดการกองทุน (บริษัทจัดการ) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
  • นโยบายการลงทุนของกองทุนเป็นอย่างไร ปัจจุบันกองทุนลงทุนในอะไรบ้าง
  • ​มีความเสี่ยงอะไรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของกองทุนบ้าง

จะได้รับเงินกองทุนเมื่อใด
สมาชิกจะได้รับเงินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สิ้นสมาชิกภาพ ตามวิธีการรับเงินที่ระบุไว้ ดังนั้น หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ได้รับเงิน สมาชิกควรทวงถามไปยังคณะกรรมการกองทุนหรือบริษัทจัดการ ทั้งนี้ หากมีเจ้าหนี้ขอรับเงินแทนสมาชิกหรือมีบุคคลใดขอยึดหรือหน่วงเหนี่ยวเช็คไว้ จะไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

ควรปรับสัดส่วนมูลค่าเงินลงทุนเมื่อใด
เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญที่กระทบกับการลงทุน หรือ​​เมื่อความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนแปลง

ดูได้จากที่ไหนว่าตอนนี้มีเงินในกองทุนแล้วกี่บาท
หน้าที่ของสมาชิกกองทุนอย่างหนึ่ง คือ การรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง รวมทั้งมีการติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างต่อเนื่อง โดยดูจาก “ใบแจ้งยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ที่บริษัทจัดการจะส่งให้สมาชิกทุกคนปีละ 2 ครั้ง ซึ่งรายงานดังกล่าวจะแสดงถึงข้อมูลในส่วนของยอดเงินสะสม-สมทบ/จำนวนหน่วยของสมาชิกในกองทุน และผลการดำเนินงานของกองทุน เป็นต้น และปัจจุบันหลายบริษัทจัดการให้บริการสมาชิกแต่ละบุคคลในการตรวจสอบยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และผลประโยชน์รายบุคคล ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทจัดการได้

  • ​ตรวจสอบยอดเงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบที่เป็นยอดยกมาของปีก่อนว่าจำนวนตรงกับใบแจ้งยอดเมื่อสิ้นปีก่อนหน้าหรือไม่
  • เงินสะสมและเงินสมทบทั้งหมดที่มีการนำส่งเข้ากองทุนเพื่อสมาชิกตั้งแต่ต้นปีจนถึงรอบการรายงาน
  • ตรวจสอบในช่องเงินสะสม และ เงินสมทบว่าตรงกับยอดที่ถูกหักไปในจำนวน 6 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่
  • ตรวจสอบจำนวนหน่วยว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยจำนวนหน่วยจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น
  • ตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุน โดยดูจากมูลค่าต่อหน่วย หากมูลค่าต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจากใบแจ้งยอดก่อนหน้าแสดงว่าผลประกอบการดี แต่หากลดลงก็หมายความว่าผลประกอบการแย่ลง

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีอะไรบ้าง
1. สิทธิประโยชน์รายปี

  • เงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท
  • เงินสะสมส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 490,000 บาท (เมื่อรวมกับ
    เงินลงทุนใน RMF และกองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชกการ : กบข.) ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี
2. สิทธิประโยชน์เมื่อสิ้นสมาชิกภาพ
  • ​ไม่ต้องเสียภาษี หากออกจากงาน + อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป + เป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน
  • เสียภาษีบางส่วน ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี แต่มีระยะเวลาทำงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร คำนวณภาษีตามสูตร ดังนี้ เงินกองทุนทั้ง 3 จำนวนสามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้บางส่วน โดยหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ส่วน 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน ที่เหลือหักค่าใช้จ่ายได้ครึ่งหนึ่ง และสามารถนำไปแยกยื่นภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อคำนวณภาษี แต่ถ้ามีอายุงานน้อยกว่า 5 ปีจะต้องนำเงินทั้ง 3 ส่วนนั้นไปรวมกับรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี
  • เสียภาษีทั้งจำนวน กรณีไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 1 และ 2 เช่น ลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน จะต้องนำเงินทั้ง 3 ส่วนที่ได้รับทั้งหมดมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีที่ได้รับเงินนั้นตาม
    หลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด



อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง