เริ่มต้นการทำงาน

03 ตุลาคม 2562
อ่าน 5 นาที

ถ้าบริษัท (นายจ้าง) มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควรเข้าร่วมหรือไม่

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรของรัฐต่าง ๆ ซึ่งประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้แก่
  • เป็นการออมอย่างมีวินัย เพื่อเป้าหมายระยะยาว
  • เหมือนได้รับค่าจ้างเพิ่มจากเงินสมทบของนายจ้าง 
  • ได้รับดอกผลที่เกิดขึ้นจากการที่บริษัทจัดการนำเงินกองทุนไปบริหารจัดการ 
  • ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 3 ต่อ
    - เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 2-15 ของรายได้ต่อเดือน สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีสูงสุดถึง 500,000 บาทต่อปี (เมื่อนับรวมกับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท)
    - ผลประโยชน์จากการลงทุนของกองทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการขายหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษี
    - เงินที่ได้รับจากกองทุนจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน กรณีตาย ทุพพลภาพ หรือออกจากงานเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่อง โดยที่สมาชิกสามารถเลือกรับเงินออกไปทั้งก้อน เลือกรับเป็นงวด หรือคงเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน

ทำอย่างไรถ้าอยากเป็นสมาชิกกองทุน​​

ติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อขอรับใบสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน มีขั้นตอน ดังนี้
1. สมาชิกที่มีคุณสมบัติตามที่ข้อบังคับกองทุนกำหนดกรอกใบสมัครการเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ตามแบบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องระบุ ดังนี้
  • ​อัตราเงินสะสม ปัจจุบันกฎหมายเปิดให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมในอัตราสูงกว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบได้ โดยเปิดให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมได้ตั้งแต่ 2% และสูงสุดถึง 15% ของค่าจ้าง ​
  • ชื่อผู้รับผลประโยชน์ ควรจะระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์จากเงินกองทุนกรณีที่สมาชิกเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละกองทุนจะมีแบบฟอร์มหนังสือผู้รับประโยชน์ ถ้าสมาชิกไม่ระบุผู้รับประโยชน์ไว้ เมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ เงินที่ได้รับจากกองทุนจะตกแก่บุคคลตามกฎหมาย ดังนี้
    -
    บุตร ได้รับ 2 ส่วน แต่ถ้ามีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปให้ได้รับ 3 ส่วน
    -
    สามีหรือภรรยาให้ได้รับ 1 ส่วน
    -
    บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับ 1 ส่วน
การเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ ชื่อผู้รับประโยชน์ที่สมาชิกระบุไว้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสมาชิกที่จะกำหนดให้ใครเป็นผู้รับประโยชน์ โดยสมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยแจ้งต่อคณะกรรมการกองทุน 

2. เมื่อได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนแล้ว ควรจะต้องจดข้อมูลต่างๆ ไว้ โดยอาจระบุในแบบกรอกข้อมูลสำคัญของสมาชิกในหน้าแรก เช่น อัตราเงินสะสม อัตราเงินสมทบ ชื่อผู้รับประโยชน์ เป็นต้น เพื่อเตือนความจำเมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องอ้างอิงถึงข้อมูลดังกล่าวในอนาคต 

ทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  • ​ออมให้เต็มสิทธิ หากต้องการให้การออมเพื่อเกษียณอายุถึงเป้าหมายเร็วขึ้น ควรออมให้เต็มสิทธิ บางกองทุนให้สมาชิกสามารถเลือกอัตราการจ่ายเงินสะสมได้ในอัตราสูงสุด 15%
  • เลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะสม กับอายุ ผลตอบแทนที่ต้องการ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น
  • ออมต่อเนื่อง

ควรเลือกนโยบายการลงทุนอย่างไร

นายจ้างในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยส่วนใหญ่จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 1 กองทุน ซึ่งมีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว ซึ่งในปัจจุบันมีนายจ้างเป็นจำนวนมากที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเลือกลงทุนได้ หรือที่เรียกว่า Employee’s Choice หรือการให้สมาชิกเลือกนโยบายการลงทุน นั่นคือ นายจ้าง 1 ราย อาจมีหลายนโยบายการลงทุน เพื่อให้สมาชิกเลือกการลงทุนได้ตรงใจ และเหมาะกับสมาชิกมากที่สุด ทั้งนี้ รูปแบบของการให้สมาชิกเลือกนั้นอาจจะเป็นการนำเงินทั้งก้อนไปลงทุนในนโยบายการลงทุนใดนโยบายหนึ่ง หรือเลือกที่จะแบ่งสัดส่วนของเงินกองทุนของตัวเองเพื่อไปลงทุนในนโยบายการลงทุนหลายๆ นโยบาย

นโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีนโยบายการลงทุนหลักๆ 3 นโยบาย โดยแบ่งระดับความเสี่ยง ดังนี้
  • ​นโยบายตราสารแห่งหนี้ หมายถึง กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะตราสารแห่งหนี้ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น และเงินฝาก  
  • นโยบายผสม หมายถึง กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนทั้งตราสารแห่งทุน และตราสารแห่งหนี้
  • นโยบายตราสารแห่งทุน หมายถึง กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นลงทุนในตราสารแห่งทุน เช่น หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (warrant) เป็นต้น ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

การวางเงื่อนไขนโยบายการลงทุนที่กำหนดสัดส่วนของเงินลงทุนส่วนใหญ่ ให้ลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความมั่นคงสูง อาจเป็นข้อจำกัดและไม่ยืดหยุ่นตามลักษณะและความต้องการที่แท้จริงของสมาชิก ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ได้แก่ อายุ การยอมรับในเรื่องความเสี่ยงจากการลงทุน และความต้องการผลตอบแทนที่ต่างกัน เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดรายละเอียดด้านนโยบายการลงทุนของสมาชิกกองทุนที่มีความหลากหลายมากกว่าที่กำหนดเป็นเงื่อนไขการลงทุนเพียงแบบเดียว ซึ่งสามารถใช้แผนภาพ

ทำอย่างไรหากไม่รู้ว่าจะเลือกนโยบายการลงทุนอะไรดี​​

life path เป็นนโยบายที่มีการจัดสรรเงินลงทุนระยะยาวเพื่อให้สมาชิกมีเงินเพียงพอหลังเกษียณ โดยจะปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ต่างๆ ตามอายุสมาชิก (ตามระยะเวลาการลงทุน) มีสินทรัพย์กลุ่มเน้นสร้างผลตอบแทนมากกว่าในช่วงอายุน้อย และทยอยลดสัดส่วนสินทรัพย์ดังกล่าวลงโดยอัตโนมัติเพื่อเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์มั่นคงเมื่อสมาชิกอายุมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงก่อนเกษียณ 

สมาชิกไม่ต้องเลือกนโยบายการลงทุนเอง เพียงแค่เลือก life path และแจ้งอายุเกษียณให้บริษัทจัดการทราบ บริษัทจัดการจะทำหน้าที่เลือกลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุและระยะเวลาการลงทุนของสมาชิก และปรับเปลี่ยนการลงทุนตามความเหมาะสมโดยอัตโนมั​​​​​​​​ติตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป โดยจะเน้นลงทุนในทรัพย์สินความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นมาก ในช่วงที่สมาชิกอายุยังน้อย มีระยะเวลาการลงทุนอีกนานสามารถรับความเสี่ยงได้ เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น และลดสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินความเสี่ยงสูง เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ เมื่อเข้าใกล้วัยเกษียณ เพื่อรักษามูลค่าเงินลงทุนของสมาชิก









อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง