กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ​​​​ คือ ...


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการออมเงินระยะยาวเพื่อรองรับเกษียณอายุ โดยเงินของกองทุนมาจากเงินออมลูกจ้างเรียกว่า "เงินสะสม" และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" นั่นคือ นอกจากลูกจ้างจะออมแล้ว นายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกแรงหนึ่งด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง จึงช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างนานๆ 


จุดเด่นของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ...


นอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีการออมต่อเนื่องอย่างมีวินัย และมีนายจ้างช่วยออมแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมีการนำเงินไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารโดยมืออาชีพที่เรียกว่าบริษัทจัดการ โดยดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน​​​​​


นั่นหมายความว่ าเงินออมของสมาชิกจะเติบโตจาก 1.เงินสะสม 2.เงินสมทบ และ 3.ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุน


กองทุนนี้จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้สมาชิกแต่จะสะสมยอดเงินทั้งหมดให้เป็นก้อนใหญ่ เก็บไว้รอจ่ายคืนให้สมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ เช่น เมื่อลาออกจากงาน นอกจากนี้ กองทุนจะไม่ให้สมาชิกถอนเงินออกบางส่วน เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกนำเงินไปใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออมเงินเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ​​


เมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิก


สมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง โดยจะได้รับส่วนของเงินสะสมเต็มจำนวนทุกกรณี พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสะสม สำหรับในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ซึ่งสมาชิกสามารถขอดูรายละเอียดของข้อบังคับกองทุนได้ที่คณะกรรมการกองทุน​​​


กรณีที่มีการเปลี่ยนงาน สมาชิกสามารถขอคงเงินไว้ในกองทุนของนายจ้างเดิมเป็นการชั่วคราวเพื่อรอโอนเงินจากกองทุนเดิมไปออมต่อในกองทุนนายจ้างรายใหม่ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนกำหนด) ซึ่งเป็นการออมอย่างต่อเนื่องในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  นอกจากนี้ การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้จนเกษียณอายุ เงินที่รับออกจากกองทุนจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนด้วย​