ตลาดทุนดิจิทัลในยุค New Normal #Single Form

03 ธันวาคม 2563
อ่าน 4 นาที
​​

​ทุกวันนี้การทำธุรกรรมของตลาดทุนไทยไ
ด้นำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ผู้ลงทุนมีความสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นหรือหน่วยลงทุนผ่านมือถือ รับข้อมูลข่าวสารผ่านอีเมลหรือแอปพลิเคชัน และรับโอนเงินปันผลหรือดอกเบี้ยที่ผูกบัญชีไว้ได้ทันที

แต่ยังมีอีกหลายประเภทธุรกรรมที่ในสถานการณ์ของโควิด-19 ไม่สามารถดำเนินการแบบดิจิทัลได้ เช่น การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ การโอนหรือเปลี่ยนชื่อหลักทรัพย์เพื่อส่งมอบเป็นมรดกให้คนในครอบครัว การจองซื้อหลักทรัพย์ที่มีการออกเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) รวมทั้งการจัดประชุมผู้ถือหุ้นที่ยังไม่สามารถจัดแบบออนไลน์ได้ 100% 

ก.ล.ต. จึงริเริ่มโครงการที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลาง (digital infrastructure) เพื่อยกระดับตลาดทุนไทยให้เป็น “ตลาดทุนดิจิทัล” โดยยกเครื่องกระบวนการที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมดจากต้นทางจนถึงปลายทาง (End-to-end process) 

เริ่มตั้งแต่การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ การจองซื้อหลักทรัพย์ IPO การซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ ไปจนถึงการทำธุรกรรมหลังการซื้อขายแล้วเสร็จ (post-trade) เช่น การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ลงทุน การโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองหลักทรัพย์ หรือการยื่นคำร้องเพื่อขอรับชำระหนี้กรณีที่หลักทรัพย์นั้นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น 

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลาง ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมของผู้ลงทุนลดลง หรือได้รับบริการผ่านระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มทดลองการใช้งานจริงแบบวงจำกัด เฉพาะหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงปี 2564 เป็นต้นไป เมื่อทดสอบจนมั่นใจว่าระบบไม่มีปัญหา ก็จะทยอยเปิดให้ใช้งานจริงอย่างเต็มรูปแบบและพัฒนาระบบให้รองรับหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ต่อไป




​สำหรับผู้ลงทุนได้ประโยชน์ของระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลางหลายด้าน เริ่มจาก การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ 

ก่อนหน้านี้ การเปิดบัญชีหลักทรัพย์อาจจำเป็นต้องพบปะกันระหว่างบริษัทผู้ให้บริการกับผู้ลงทุนเพื่อทำความรู้จักลูกค้า หรือ Know Your Client (KYC) ผู้ลงทุนจะให้ข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี ทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน(Suitability test) และแสดงหลักฐานยืนยันตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นผู้ให้บริการก็จะตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ก่อนพิจารณาการเปิดบัญชี ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 – 7 วันทำการขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละแห่ง และเมื่อจะเปิดบัญชีกับผู้ให้บริการรายใหม่ ผู้ลงทุนก็จะต้องให้ข้อมูลเดิมซ้ำโดยไม่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วกับผู้ให้บริการรายเดิมมาใช้งานได้ 

ก.ล.ต. จึงพัฒนา แบบฟอร์มมาตรฐาน (Single form) สำหรับการเปิดบัญชีลงทุนในผลิตภัณฑ์ตลาดทุนทุกประเภท โดยใช้ชุดข้อมูลที่เหมือนกันทั้งอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ลงทุนกรอกข้อมูลเปิดบัญชีเพียงครั้งเดียวก็สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในตลาดทุนได้ อาทิ หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งยังสามารถ re-use หรือเรียกใช้ข้อมูลที่เราเคยให้ไว้แล้วในการเปิดบัญชีกับผู้ให้บริการรายหนึ่ง นำไปใช้เปิดบัญชีกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ด้วย

วิธีการใช้ Single form ก็ไม่ยาก เมื่อเราได้กรอกแบบฟอร์มเพื่อเปิดบัญชีลงทุนกับผู้ให้บริการรายใดไว้แล้ว หากต่อมาผู้ลงทุนสนใจเปิดบัญชีลงทุนกับผู้ให้บริการรายใหม่ ก็สามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการรายเดิมที่เคยเปิดบัญชีไว้ให้ส่งชุดข้อมูลเปิดบัญชีของเราไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ได้ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลางภายในเวลาไม่กี่นาที โดยผู้ลงทุนเพียงแค่ลงชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของข้อมูลไว้ให้ผู้ให้บริการรายใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-signature) 

นอกจากนี้ หากผู้ลงทุนประสงค์จะให้ข้อมูลแก่ผู้ให้บริการรายใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ใน Single form ก็สามารถทำได้ เนื่องจากบางประเภทบริการอาจจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากผู้ลงทุนที่มากกว่าปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์จากที่ไหนหรือเมื่อใดก็ได้ (anywhere anytime) 

ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ยังมีประโยชน์สำหรับผู้ลงทุนในด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน โปรดติดตามในตอนต่อไป
________________________

เนื้อหาจากบทความ ก.ล.ต. เรื่อง "ตลาดทุนดิจิทัลในยุค New Normal (ตอนที่ 1)" โดย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายธุรกิจตัวกลาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อ่านฉบับเต็ม  https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2563/301063.pdf​