Check First!! ตรวจสอบให้แน่ใจ นี่ใช่ มิจฉาชีพ หลอกลวงลงทุน?

13 พฤษภาคม 2565
อ่าน 4 นาที


ในปัจจุบันมีมิจฉาชีพจำนวนมาก อ้างตัวเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตมาหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุน และสร้างความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้าง 

อีกทั้ง ยังแอบอ้าง ชื่อ ภาพ หรือตราสัญลักษณ์ ของ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เช่น สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในการโฆษณาชวนเชื่อและชักชวนให้ประชาชนลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ต่าง ๆ ผ่านหลากหลายช่องทาง อาทิ โทรศัพท์ ข้อความสั้น โซเชียลมีเดีย และช่องทางออนไลน์ 

ภัยกลโกงหลอกลวงให้ลงทุนที่เกิดขึ้นมาก ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ต้องออกมาเตือนภัยประชาชนระมัดระวังการถูกหลอกลวงให้ลงทุน จากการโฆษณาชวนเชื่อ ชักชวน และปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าหรือโลโก้ เพื่อปกป้องตัวเองจากมิจฉาชีพที่จะมาหลอกลวง

จะสังเกตได้อย่างไรว่า การชักชวนนั้นจะใช่การหลอกลวง? 
ทาง ก.ล.ต. และ FETCO ได้มีข้อแนะนำเบื้องต้นให้พิจารณารูปแบบการชักชวนลงทุนที่เข้าข่ายหลอกลวง ซึ่งพบว่ามักจะมีลักษณะ 6 ข้อ ดังนี้  

  • เสนออัตราผลตอบแทนการลงทุนที่จูงใจและสูงเกินจริง ที่มาของผลตอบแทนไม่ชัดเจน
  • ให้ผลตอบแทนจากการชักชวนคนอื่นมาลงทุน
  • รับประกันผลตอบแทนการลงทุน อ้างว่าไม่มีความเสี่ยง
  • แอบอ้างชื่อ ภาพ โลโก้หน่วยงาน บริษัท หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือในการโฆษณาชวนเชื่อ 
  • ชักชวนให้ลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้ตรวจสอบได้
  • ให้ฝากหรือโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลธรรมดา ไม่มีการรายงานหรือแจ้งยืนยันการลงทุน
หากพบเห็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย อย่าเพิ่งหลงเชื่อ ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ เพราะการโฆษณาชวนเชื่อหรือชักชวนให้ลงทุนในลักษณะดังกล่าว มักจะเป็นการหลอกลวง






ช่องทางในการตรวจสอบข้อมูลและสอบถามหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ใด?

กรณีถูกชักชวนให้ลงทุน หรือพบเห็นโฆษณาชักชวน สามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่แนะนำการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First และเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หัวข้อ SEC Check First  และหากมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการหลอกลวงให้ลงทุน สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ที่ 

  • ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร. 1207 หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. 
  • สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) โทร. 0-2226-0909 
  • สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) โทร. 0-2264-0900
  • สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โทร. 1166
  • กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  โทร. 1202
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  โทร. 1570
  • กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โทร. 1441
  • ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359
  • ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213