เงินก้อนเพื่อเกษียณทำยังไงให้ใช้ได้ตลอดชีพ

11 พฤศจิกายน 2563
อ่าน 4 นาที
​ปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนขึ้น อายุขัยเฉลี่ยเพศชายเพิ่มขึ้นจาก 73 ปี เป็น 76.8 ปี และเพศหญิงเพิ่มขึ้นจาก 80 ปี เป็น 83.2 ปี อายุที่ยาวขึ้นทำให้คนเราต้องมีเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณมากขึ้นด้วย  

อย่างไรก็ดี พบว่าผู้ที่มีเงินพอใช้ยามเกษียณจริง ๆ มีไม่ถึงร้อยละ 50 ของคนเกษียณทั้งหมด และในยุคนี้หากจะพึ่งพาลูกหลานก็ทำได้ยากแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดคือเริ่มวางแผนเพื่อเกษียณให้เร็วหรือเริ่มตั้งแต่วันนี้ โดยหากต้องการใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท ในช่วงหลังเกษียณอีก 20 ปี จะต้องมีเงิน 4 ล้านบาท

ส่วนผู้ที่เกษียณแล้ว มีเงินเก็บไม่ถึง 4 ล้าน จะทำอย่างไรที่จะจัดการให้เพียงพอใช้ได้นานที่สุด?

เกษตร ชัยวันเพ็ญ คณะกรรมการกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ยกตัวอย่างการบริหารจัดการเงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1 ล้านบาทให้พอใช้ยามเกษียว่า  หากใช้เงินปีละ 1 แสนบาท (เฉลี่ยเดือนละ 8,333 บาท) เงิน 1 ล้านบาท จะเพียงพอใช้ได้แค่ 10 ปีเท่านั้น

ถ้าอยากมีเงินใช้ยามเกษียณมากกว่า 10 ปี ต้องนำเงินไปลงทุนต่อ โดยกรณีได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 3% จะทำให้มีเงินใช้ 12 ปี ถ้าผลตอบแทน 4% จะทำให้มีเงินใช้ 13 ปี จะเห็นว่า ผลตอบแทนที่เพิ่มทุก ๆ 1 % จะขยายเวลาได้ 1 ปีกว่า ๆ  ดังนั้น เมื่อเราได้รับเงินก้อนมาแล้วเราควรนำเงินไปลงทุนต่อ เพื่อให้เงินงอกเงย และสามารถใช้ได้ยาวนานขึ้น




การออมเพื่อเกษียณเริ่มเร็วยิ่งดี และเริ่มถูกที่ยิ่งทำให้เงินงอกเงย โดยหนึ่งในตัวช่วยในการวางแผนเกษียณที่ดี คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจุบันมีนโยบายการลงทุนแบบ Employee’s Choice ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนเลือกนโยบายลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 

ผู้ลงทุนควรปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง คนอายุน้อย ควรเลือกลงทุนตราสารเสี่ยงสูง อาทิ หุ้น มากกว่า 50% ส่วนคนอายุมาก เช่น 50-60 ปี ควรลงทุนในตราสารเสี่ยงสูงบ้าง แต่ไม่เกิน 20% เพราะถ้าเลือกลงทุนในเงินฝาก ตราสารเสี่ยงต่ำเท่านั้น อาจทำให้เงินของเราโตไม่ทันเงินเฟ้อ 

สำหรับคนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และตอนนี้ขาดทุนอยู่ ควรสำรวจว่า เรามีระยะเวลาลงทุนเหลืออยู่เท่าไหร่และยังรับความเสี่ยงได้หรือไม่ หากมีเวลาเหลืออยู่มากและยังรับความเสี่ยงได้ ก็ควรถือต่อไป ยกเว้นคนใกล้เกษียณควรสับเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ 

"ในช่วงตลาดหุ้นผันผวน หลายคนสงสัยว่าควรย้ายเงินก้อนที่เหลือไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำหรือไม่นั้น ต้องดูก่อนว่า PVD มี choice อะไรบ้าง ถ้าอายุน้อย ก็ไม่ควรสับเปลี่ยนกองทุน ควรถือยาวอย่างน้อย 3-5 ปี และควรเปลี่ยนต่อเมื่ออายุเพิ่ม หรือความสามารถในการรับความเสี่ยงเปลี่ยนแปลง  ไม่ควรเปลี่ยนตามภาวะตลาด เพราะโอกาสเปลี่ยนถูกจังหวะมีน้อย และอาจทำให้ได้กำไรน้อยกว่าเดิม" เกษตร ชัยวันเพ็ญ กล่าว

สำหรับผู้ที่ใกล้เกษียณแล้ว คุณเกษตรได้แนะนำ 4 วิธีจัดการเงิน ดังนี้
1. ชำระหนี้ให้หมด เลือกชำระหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงก่อน 
2. นำเงินไปลงทุน จัดสรรเงินให้พอใช้ยามเกษียณ
3. ทำประกันสุขภาพ หากทำตอนอายุน้อย เบี้ยจะถูก แต่หากทำไม่ได้แล้ว ให้ทำประกันอุบัติเหตุแทน
4. หาอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้เข้ามาในยามเกษียณ

สกล สุชาตวุฒิ อดีตพนักงานสายการบิน อายุ 72 ปี กล่าวว่า ช่วงหลังเกษียณ หากยังทำงานหรือหาอาชีพเสริมได้ก็ควรทำ เพื่อให้มีรายได้เข้ามาในช่วงเกษียณบ้าง เพราะดอกเบี้ยอย่างเดียวอาจไม่พอ สำหรับส่วนที่เก็บออมไว้ ต้องใช้เป็น ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ให้รางวัลตัวเอง เช่น ไปเที่ยวบ้าง ควรใช้ชีวิตอย่างสมดุลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รายได้ และอายุของเรา การวางแผนที่ดี ทำให้มีชัยไปกว่าครึ่ง

ในช่วงทำงานได้มีการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่พอสมควร ซึ่งพอเกษียณแล้วก็ได้เงินออกมาก้อนหนึ่งเพราะในอดีตไม่มีทางเลือก ผู้ที่เกษียณอายุแล้วต้องนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาทั้งก้อน แต่ปัจจุบันมีทางเลือกจัดการเงินก้อนที่ได้รับจาก PVD มากขึ้น ได้แก่ 1) คงเงินในกองทุน PVD 2) ทยอยรับเป็นงวด คล้าย ๆ กับเงินบำนาญ   เช่น หากได้เงินจาก PVD 3 ล้านบาท อาจเลือกรับในงวดแรก 5 แสนบาท ที่เหลือบางส่วนฝากไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญไปลงทุนต่อ



 สกล สุชาตวุฒิ ทิ้งท้ายให้ข้อคิดการเตรียมพร้อมรับวัยเกษียณว่า “ทุกคนควรรักษาสุขภาพ ไม่เครียด ใช้ชีวิตอย่างสบายใจ เพราะไม่เช่นั้นเงินก้อนที่ได้รับอาจหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล และอย่าลืมว่า ความแน่นอน = ความไม่แน่นอน ถ้าย้อนไปได้อยากจะเริ่มออมเงินเพื่อเกษียณให้เร็วกว่านี้ ดังนั้น ฝากข้อคิดให้ทุกคนควรเตรียมพร้อมออมเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่วันนี้ ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งได้เปรียบ”

เพราะเรื่องเกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หากเราอยากมีชีวิตเกษียณสุข ก็ควรเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้!
________________________________
อ้างอิงเนื้อหาจากรายการรู้เงินรู้ลงทุน หัวข้อ “เงินก้อนเพื่อเกษียณทำยังไงให้ใช้ได้ตลอดชีพ” เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63