Smart SMEs/Smart Start up ฉลาดระดมทุน หนุนธุรกิจเติบโต

10 กันยายน 2563
อ่าน 4 นาที


SME และ Startup มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดอัตราการจ้างงาน มากกว่า 12 ล้านคน โดยจำนวนผู้ประกอบการ SME มีสัดส่วนร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการทั้งหมด และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 35.3 ของ GDP ทั้งประเทศ ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงให้ความสำคัญต่อการผลักดันและสนับสนุนการเติบโตของ SME และ Startup โดย ก.ล.ต. มีส่วนร่วมสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งเงินทุน (financial inclusion) จัดสรรทรัพยากรแหล่งทุนที่มีอยู่ไปสู่ภาคเศรษฐกิจให้มากขึ้น หรือที่เรียกว่า fund allocation

“ตลาดทุนเป็นของทุกคน ภายใต้แนวคิดของ ก.ล.ต. ที่ว่า “capital market for all” โดยตลาดทุน
จะเป็นเครื่องมือสำหรับ SME และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง หน้าที่ของ ก.ล.ต. จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้เกิดการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเห็นกิจการ SME และ Startup ที่มีศักยภาพและน่าลงทุน” คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวไว้ในรายการ “รู้เงิน รู้ลงทุน” เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563  

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME และ Startup เป็นรูปธรรมมากขึ้น ก.ล.ต. จึงจัดตั้งคณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้น กิจการร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน สู่ตลาดทุนไทย เรียกโดยย่อว่า “คณะทำงาน SME Startup PE VC”  เพื่อระดมความคิดในการส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง 14  หน่วยงานร่วมเป็นคณะทำงาน จึงเป็นโอกาสที่ได้รู้จักและเข้าใจความต้องการของ SME และ Startup เตรียมปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวก ลดภาระหรืออุปสรรคของ SME และ Startup พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังกำหนดแนวทางที่ทำให้ SME และ Startup สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกมากขึ้น ดังนี้

1. การระดมทุนด้วยหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ (CD) จากผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement) (ตลาดแรก) มีผลบังคับใช้วันที่ 30 มี.ค.63 

ประเภทกิจการ: บริษัทจำกัดที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนระหว่าง ก.ล.ต. และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ประเภทผู้ลงทุน: หากเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถระดมทุนจากกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานบริษัทและบริษัทย่อย (ESOP) และ II/VC/PE (ไม่จำกัดมูลค่า) 

หากเป็นวิสาหกิจขนาดกลาง จะสามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อยได้เพิ่ม แต่จำกัดจำนวนผู้ลงทุนและมูลค่า คือ ผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ราย และมูลค่าระดมทุนรวมไม่เกิน 20 ล้านบาท

การเข้ามาระดมทุนในลักษณะนี้ ไม่ได้มีขั้นตอนมากอย่างที่หลายคนกังวล โดยผู้ระดมทุนไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบ filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงไม่ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ระดมทุนเพียงแค่ทำการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนด้วยแบบ factsheet 

2. การระดมทุนด้วยหุ้นในวงกว้าง (ซื้อขายหุ้น SME ในตลาดรอง หรือ SME Board) ได้มีการวางแผนการจัดตั้งตลาดรองร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้มีกระดานที่ 3 ภายในปี 2564

3. การระดมทุนด้วยหุ้น/หุ้นกู้ ผ่านระบบ crowdfunding เพราะตลาดทุนไม่ใช่เพียงแค่ “ตลาดหลักทรัพย์” ในยุคดิจิทัลตลาดทุนมี “crowdfunding” ซึ่งเป็นการระดมทุนจากคนหมู่มากโดยใช้ “crowdfunding platform” ผ่านระบบเว็บไซต์ของตัวกลาง หรือ funding portal ที่อาศัยเทคโนโลยี ทำให้ผู้สนใจระดมทุนและผู้ลงทุนมาเจอกัน ระดมทุนโดยการออกหุ้น หรือ หุ้นกู้ ซึ่ง funding portal ที่จะช่วยให้ SME และ Startup ระดมทุนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 แห่ง  ได้แก่
 
  • บริษัทไลฟ์ฟินคอร์ป (เฉพาะหุ้น)
  • บริษัทสินวัฒนา (เฉพาะหุ้น) : มี SME Startup ที่ระดมทุนสำเร็จ 2 บริษัท มูลค่าระดมทุนจำนวน 30.34 ล้านบาท
  • บริษัทเพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม (หุ้นและหุ้นกู้) : มี SME และ Startup ระดมทุนสำเร็จ 9 บริษัท มูลค่าระดมทุนจำนวน 29.85 ล้านบาท
  • บริษัทดรีมเมคเกอร์ อิควิตี้ คราวด์ฟันดิ้ง (เฉพาะหุ้น)
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่สนใจจะระดมทุนผ่านระบบ crowdfunding จะต้องอยู่ในรูปแบบของบริษัทเท่านั้น ซึ่งการแปลงเป็นบริษัททำได้ไม่ยาก สามารถกรอกข้อมูลจากแบบฟอร์มมาตรฐานได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ

4. การระดมทุนด้วยหุ้น โดยวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) มีผลบังคับใช้ วันที่ 23 พ.ค. 62 สำหรับกิจการประเภท บริษัทที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) มีเป้าหมายหลักเพื่อสังคม และจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นไม่เกิน 30% ของกำไรทั้งหมด
 

 
นอกจากการเปิดช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้กิจการทุกประเภทให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนแล้ว ก.ล.ต. ยังมุ่งสร้างการรับรู้เรื่องกลไกตลาดทุนแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เข้าพบผู้ประกอบการเพื่อทราบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพบว่าต้องการแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่ เพิ่มเติมจากกู้เงินสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมโครงการคาราวาน ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานของจังหวัดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการได้เข้าใจภาพตลาดทุนที่มีต่อเศรษฐกิจ เข้าใจกลไกการระดมทุนและลงทุน รวมถึงหลักการบริหารจัดการเงินแก่เจ้าของกิจการ  

จากแนวทางทั้งหมดที่ ก.ล.ต. ดำเนินการไปแล้วนั้น จะเห็นว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะตลาดทุนเป็นของทุกคน สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจระดมทุน มีเรื่องที่ต้องรู้ 3 ข้อเท่านั้น คือ

1. เข้าใจ รู้ว่าตลาดทุนเป็นอย่างไร มีเงื่อนไข อะไรบ้าง

2. เตรียมพร้อมกับธุรกิจของท่าน เช่น เตรียมทำบัญชี

3. รู้จัก ก.ล.ต. ซึ่ง ก.ล.ต. จะทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สมาพันธ์เอสเอ็มอี สสว.  กสอ. โดย ติดต่อ ก.ล.ต. โทร 1207 หรือ www.sec.or.th  

“ก่อนหน้านี้ที่ใคร ๆ มองว่าตลาดทุนเป็นของคนตัวใหญ่ วันนี้ขอให้มองว่าตลาดทุนเป็นของทุกคน ก.ล.ต. ขอเป็นกำลังใจให้ SME และ Startup และขอให้มั่นใจว่าความเชื่อมั่นยังมีอยู่ อยากให้ทุกท่านเข้าถึงตลาดทุน ตลาดทุนจะเป็นแหล่งเข้าถึงเงินทุนด้วยต้นทุนต่ำ ขณะที่ผู้ลงทุนหลายคนยังมองหาเพชรเม็ดงาม และต้องการลงทุนในตลาดทุน ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่นว่ายังมีความมั่นคง และยังมีโอกาสให้กับทุก ๆ คน โดยตลาดทุน พร้อมเป็นทางเลือกในการระดมทุนให้กับ SME Startup และ SE เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ และเพิ่มศักยภาพของ SME ให้ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
________________________________

อ้างอิงจากเนื้อหาในรายการ “รู้เงิน รู้ลงทุน” ในหัวข้อ “Smart SMEs / Smart Startup ฉลาดระดมทุน
หนุนธุรกิจเติบโต” วันที่ 28 ส.ค.63 โดย คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต.​