#บทความ คริปโท 101 อ่านได้
EP.3 คริปโท vs โทเคน ต่างกันไหม

08 กรกฎาคม 2564
อ่าน 4 นาที



​1. คริปโทและโทเคน ต่างกันอย่างไร
เหรียญที่รู้จักกันอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) อีเธอเรียม (Ethereum) นับเป็นตัวหลักของคริปโทเคอร์เรนซี 
ส่วน โทเคน (Token) มักจะเป็นเหรียญที่ออกอยู่บนบล็อกเชนของตัวหลัก เช่น อีเธอเรียม ที่คนทั่วไปสามารถมาออกเหรียญบนตัวบล็อกเชนของอีเธอเรียมได้
ถ้าเปรียบเทียบกับโลกจริง คริปโทเคอร์เรนซีกับโทเคน อาจเหมือนกับเงินทั่วไป แต่ต่างกันที่โทเคนจะเหมือนกับคูปองศูนย์อาหาร ที่รากฐานเหมือนเงินปกติแต่เมื่อจะใช้งานที่ฟู้ดคอร์ทต้องแลกเป็นโทเคน
ที่ต้องสนใจว่าอะไรเป็นเหรียญแบบไหน เพื่อให้เรารู้ว่าเรามีสิทธิจากเหรียญต่าง ๆ นั้นมากน้อยแค่ไหน 
คริปโทเคอร์เรนซี เหมือนการถือเงินสกุลต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร นอกจากไปแลกเป็นสินค้าหรือบริการ ตามที่คนให้ค่ากัน
ส่วนโทเคน ก็อาจจะต้องกลับไปถามกับผู้ออกว่า โทเคนนั้นมีคุณค่าอย่างไร ตัวอย่าง กรณีฟู้ดคอร์ทเวลาที่ไปแลกเป็นโทเคนออกมา เราสามารถนำโทเคนนั้นไปแลกอาหารได้เฉพาะที่ฟู้ดคอร์ทนั้น ๆ เป็นต้น 

2. โทเคนคืออะไร 
การพิจารณาว่า โทเคนแต่ละตัวทำงานอย่างไร ต้องศึกษาจาก White Paper ที่จะระบุว่าออกแบบหรือดีไซน์รูปแบบการใช้งานโทเคนนั้นไว้อย่างไร ใช้ประโยชน์ (utility) อย่างไรได้บ้าง
เปรียบเทียบได้กับ การเตรียมจะเปิดสนามกอล์ฟ และมีให้ซื้อ voucher ก่อน เป็นการขายสินค้าหรือบริการล่วงหน้า แล้วค่อยมาใช้คืนทีหลัง หรือตัวอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ คือ การแลกสินค้าหรือบริการจากศูนย์อาหารเป็นคูปองอาหารหรือเครดิตในการ์ดของฟู้ดคอร์ทสิ่งเหล่านี้มีลักษณะใกล้เคียงรูปแบบของ utility token คือ ใช้งานในพื้นที่จำกัดในสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้ 
โทเคนอีกประเภทหนึ่ง คือ อินเวสเมนต์ โทเคน (investment token) ที่อาจจะมีสิทธิต่าง ๆ ในการเข้าร่วมลงทุน แล้วแต่การออกแบบโทเคนแต่ละประเภท อาจจะมีการปันผล หรือมีสิทธิต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงหรือคล้ายกับการเข้าลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ 
ควรศึกษาให้ดีว่าแต่ละโทเคนมีการชี้แจงใน white paper อย่างไร มากกว่าดูแต่ชื่อเหรียญแล้วเข้าไปลงทุนอย่างเดียว ในมุมนี้คล้ายกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วรู้เพียงสัญลักษณ์ (symbol) แต่ไม่รู้ว่าบริษัทนี้ทำอะไร
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องสนใจ คือ โทเคนที่เข้าไปถือนั้นมีปริมาณเท่าไร มีจำนวนจำกัดหรือไม่ ซึ่งปริมาณที่ซื้อขายอยู่ในตลาดอาจไม่ใช่ทั้งหมดของเหรียญที่มี คล้ายกับการดูว่า ในตลาดมี float* อยู่เท่าไร ที่จะทำให้รู้ว่า โทเคนหรือเหรียญต่าง ๆ เหล่านั้น มีโอกาสที่จะถูกจัดการ (manipulate) กับราคาได้อย่างไรบ้าง
อีกคำหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยมากในช่วงนี้ คือ DeFi (Decentralized Finance) คือ การนำโทเคนเข้ามาอยู่ในกระบวนการ stake หรือ farm เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการที่มีคนแลกเปลี่ยนเยอะ ๆ ตรงนี้ก็น่าสนใจที่จะศึกษาและเป็นเรื่องที่ต่อยอดลงไปได้ลึกมาก ๆ 

3. Security Token คืออะไร
โทเคนอีกแบบที่น่าสนใจไม่แพ้กันและมีความผูกพันกับสินทรัพย์ชนิดต่าง ๆ คือ securities token เป็นการนำสินทรัพย์จริง ๆ ในโลกปกติ มาโทเคนไนซ์ (tokenize) หรือเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นโทเคน เป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคต เนื่องจากทำให้สามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ ที่ปกติแล้วอาจจะเข้าไม่ถึง tokenization ทำให้เกิดการสร้าง democratize investment ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการลงทุนได้เท่า ๆ กัน
หากเป็นโทเคนที่มีที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ (real estate) ต่าง ๆ เป็นสินทรัพย์อ้างอิง ก็จะมีเกณฑ์ที่เข้ากับสินทรัพย์ประเภทดังกล่าว คือ real estate-backed ICO ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ออกมาดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลตามประเภทสินทรัพย์อ้างอิงที่ต่างกัน (อ่านเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/206564806072223/posts/4281798391882157/?sfnsn=mo​ )
จึงต้องศึกษาดูว่า สินทรัพย์ที่เป็นรากฐานของการ tokenize หรือออกมาเป็นโทเคนนั้น เป็นสินทรัพย์ประเภทไหน อย่างไร ซึ่งจะมีวิธีการดูแล จัดการ และวิธีการเลือกลงทุนต่างกันไปแต่ละสินทรัพย์

 4. NFT (Non-Fungible Token) ที่เป็นกระแสอยู่ คืออะไร 
โทเคนอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ NFT (Non-Fungible Token) ที่ตอนนี้เป็นกระแสอยู่
หากเป็นโทเคนหรือคริปโททั่วไป เวลาที่ส่งข้ามหากันจะสามารถทดแทนกันได้ เหมือนธนบัตร 100 บาท เวลาแลกเปลี่ยนกันไม่ต้องสนใจว่าเป็นใบเดิมเบอร์เดิมหรือไม่
แต่โทเคนแบบ NFT ไม่สามารถทดแทนกันได้ และสามารถออกแบบให้มีเพียงชิ้นเดียวในโลกก็ได้ เช่น
ภาพงานศิลปะ 1 ภาพ ถ้าอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ปกติส่งไฟล์หากัน จะทำให้ไฟล์นั้นขยายตัวเพิ่มขึ้น ตัวอย่าง A ส่งไฟล์ให้ B แปลว่า ทั้ง  A และ B จะมีไฟล์นั้นด้วย เรียกว่าไม่ได้มีเอกสิทธิ์เฉพาะของภาพนั้น ๆ 
แต่ NFT เป็นการออกแบบโทเคน ที่ทำให้ไม่สามารถเอาโทเคนใดโทเคนหนึ่งมาทดแทนกันได้ หมายความว่า โทเคนนี้จะมีชิ้นเดียวในโลก คล้ายพระเครื่อง งานศิลปะ หรือของสะสมอย่างแสตมป์ เป็นต้น มักจะมีสตอรี่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งงานศิลปะบน NFT บางชิ้น เมื่อตัวงานจริงทำ tokenize เป็น NFT ไปแล้ว งานจริงอาจจะเผาทิ้งจากโลกไปเลย**
ล่าสุด มีการ์ดสะสมของนักบาสเก็ตบอล NBA ที่นำมาทำ NFT แปลงจากการสะสมในโลก physical หรือออฟไลน์ มาเป็นโลกออนไลน์แทน โดย NFT เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากและยังเริ่มต้นอยู่ แต่น่าสนใจที่จะเข้าไปศึกษาดูอาจเป็นโอกาสในการเติบโตได้ในอนาคต
การที่ NFT มีชิ้นเดียวในโลก มีผลกับดีมานด์/ซัพพลาย ด้วยซัพพลายมีจำกัด คือ มีชิ้นเดียวในโลก แต่อาจเกิดดีมานด์จากคุณค่าของสตอรี่ เช่น เป็นของศิลปินที่ได้รับการยกย่อง อาจจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากคนในกลุ่มที่มีความต้องการงานชิ้นนั้นที่มีชิ้นเดียวในโลก และเห็นคุณค่า นอกจากนี้  NFT อยู่บนบล็อกเชน มีเสน่ห์ที่ตรวจสอบได้ว่า ใครเคยเป็นเจ้าของมาบ้าง ก็อาจเกิดสตอรี่ที่ทำให้สินทรัพย์หรืองานศิลปะชิ้นนั้นมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว

5. ใครเป็นใครในในภาพรวมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
หากมองเป็น ecosystem ภาพใหญ่ของประเทศไทยว่า การที่จะมีเหรียญ 1 เหรียญมาอยู่ในมือของประชาชนทั่วไป จะต้องผ่านหน่วยงานใดบ้าง อาจเล่าได้ดังนี้
การจะออกเหรียญในตลาดแรก แบบ ICO (initial coin offering) จะต้องดำเนินการผ่าน ICO portal โดยบริษัทที่ต้องการออกเหรียญ จะไปยื่นผ่าน ICO Portal โดย ICO Portal จะตรวจสอบว่า เหรียญหน้าตาเป็นอย่างไร มีสินทรัพย์เบื้องหลังอย่างไร ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดูแลการเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบผู้บริหาร การบริหารจัดการเงินหรือสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงให้คนทั่วไปที่จะลงทุน
การเสนอขายเหรียญ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะเสนอขายผ่านช่องทางใด ส่วนใหญ่จะเป็นออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นตลาดแรก หรือ การระดมทุนครั้งแรก 
exchange ต่าง ๆ เป็นที่ที่สามารถนำเงินบาทเข้าไปแลกเป็นโทเคนหรือแลกเป็นสกุลเงินดิจิทัล และรายชื่อ exchange ที่อยู่ในการกำกับดูแล สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ ก.ล.ต. 
สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อาจต้องย้ำอีกทีว่า ผู้ที่ซื้อขายต้องรับผิดชอบในการเลือกซื้อขายของตัวเอง เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นของค่อนข้างใหม่ ควรลงทุนในความรู้ให้มากและติดตามสิ่งที่ซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพราะโลกหมุนเร็ว ข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ส่วนตัวเคารพในสิทธิการตัดสินใจของทุกคน เพียงแต่ว่าการเริ่มต้น ถ้าเริ่มต้นในเงินที่เสียได้ ก็จะปลอดภัยมากกว่า ทุกคนอาจจะเห็นโอกาสเติบโตมหาศาลเป็น 100 เป็น 1,000% แต่ขณะเดียวกันอาจจะเหลือศูนย์เลยก็เป็นได้ สิ่งที่น่าสนใจของสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ downside จำกัดที่ศูนย์ แต่ upside อาจไม่จำกัด ทำให้น่าศึกษา และทางที่ดีที่สุด คือ ต้องเลือกลงทุนในความรู้ เลือกลงทุนในตัวเองก่อน 
_______________
หมายเหตุ : 
* float ตามความหมายวิทยากร คือ ปริมาณเหรียญที่ซื้อขายอยู่ในตลาด
** NFT ตามบริบทวิทยากร คือ การแปลงสินทรัพย์ที่มีหนึ่งเดียวในโลกจริง (เช่น งานศิลปะ) เป็นโทเคน 1 โทเคน โดยหลังจากแปลงเป็นโทเคนแล้ว จะทำลายสินทรัพย์ในโลกจริง เพื่อให้โทเคนมีคุณค่าเพราะมีชิ้นเดียวในโลก 

อ้างอิงจากความรู้พื้นฐาน คริปโท 101 ตอนที่ 3 หัวข้อ "คริปโท vs โทเคน ต่างกันไหม” โดย คุณธีรชาติ ก่อตระกูล CEO StockRadars เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และ Start-to-invest โดยข้อคิดเห็นที่ปรากฏนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของวิทยากร มิใช่ของสำนักงาน ก.ล.ต. 
สามารถดูคลิปฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/ZnfCayjqJGE​