หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน

26 กรกฎาคม 2565
อ่าน 4 นาที

​​

“หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” หรือ “subordinated perpetual bond” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” เป็นหุ้นกู้ประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป 

ผลตอบแทนสูง ก็ย่อมมาพร้อมกับ “ความเสี่ยงสูง” ก่อนตัดสินใจลงทุนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน 
มาทำความรู้จักและเข้าใจความเสี่ยงกันก่อน เพื่อให้การลงทุนตอบโจทย์และสอดคล้องกับการยอมรับ
ความเสี่ยงของผู้ลงทุน 

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน มีลักษณะที่ซับซ้อนกว่าหุ้นกู้ประเภทอื่น โดยมี 5 ลักษณะสำคัญ ดังนี้

1. ด้อยสิทธิ : หากบริษัทต้องเลิกกิจการ ผู้ลงทุนจะได้รับชำระหนี้เป็นอันดับท้าย ๆ คือ หลังเจ้าหนี้มีประกันและเจ้าหนี้สามัญอื่น ๆ แต่ได้รับเงินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ โดยอาจได้เงินคืนทั้งหมด บางส่วน หรืออาจไม่ได้คืนเลยก็ได้
.
2. คล้ายทุน : ไม่กำหนดอายุไถ่ถอน เหมือนหุ้นกู้ทั่วไปที่ระบุเวลาไถ่ถอนชัดเจน ผู้ลงทุนจะได้รับคืนเงินต้นเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดหรือบริษัทเลิกกิจการเท่านั้น
.
3. เลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ : ผู้ออกหุ้นกู้สามารถสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลา ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จึงมีความเสี่ยงจะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้รับดอกเบี้ยช้า 
.
4. ไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ (callable) : ผู้ออกหุ้นกู้สามารถใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด เลื่อนหรือไม่ชำระดอกเบี้ยตามงวดปกติได้ ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจริงน้อยกว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ขณะที่ผู้ลงทุนไม่มีสิทธิในการขอไถ่ถอนเอง (put option)
.
5. ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross default) : หากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้อื่น จะไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
.
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน มีความเสี่ยงสูงจึงเหมาะกับ 1) ผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนสูง และ 2) ยังไม่มีเป้าหมายใช้เงินในระยะอันใกล้ หรือต้องการเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานในอนาคต โดยต้องเข้าใจความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนที่ต้องการตามที่กำหนด รวมทั้งมีสภาพคล่องต่ำกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการสภาพคล่องหรือขายระหว่างทาง และที่สำคัญควรพิจารณาคุณภาพและความสามารถชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ดังกล่าวด้วย โดยดูจากอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ rating ประกอบ 

สามารถศึกษาข้อมูลได้จากหนังสือชี้ชวนหรือสอบถามผู้แนะนำการลงทุน หรือที่แอปพลิเคชัน SEC Bond Check ที่มีข้อมูล เช่น credit rating factsheet และหนังสือชี้ชวน ให้ตรวจสอบข้อมูลหุ้นกู้ได้เบื้องต้นด้วย