การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง

03 ตุลาคม 2562
อ่าน 5 นาที

​​​​​​​​​​​รู้จัก Crowdfunding

คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) หรือ การระดมทุนจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ตัวกลาง (funding portal) เป็น
ทางเลือกการระดมทุนสำหรับแวดวงตลาดทุนไทยที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจเกิดใหม่ (สตาร์ทอัพ) เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้กิจการที่ต้องการทุนและมีศักยภาพสามารถระดมทุนได้ โดยมีเครื่องมือหรือช่องทางระดมทุนที่หลากหลาย เหมาะสมกับขนาดของกิจการ

คราวด์ฟันดิงแบบ donation-based คราวด์ฟันดิงเป็นเรื่องที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน การร่วมใจกันทำบุญทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ก็เป็น คราวด์ฟันดิง ประเภทหนึ่งที่คนให้เงินไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนนอกจากความสุขใจ 

คราวด์ฟันดิงแบบ reward-based มักจะเป็นแฟนคลับที่สมทบทุนเพื่อจะได้สินค้าหรือของที่ระลึกตอบแทนจะว่าไปแล้วก็คล้ายการซื้อสินค้าแบบ pre-order นั่นเอง  
คราวด์ฟันดิงแบบ peer-to-peer lending เป็นการให้กู้ระหว่างกัน โดยไม่มีสถาบันการเงินมาคั่นกลาง ทำให้คนให้กู้กับคนกู้ได้เจอกันผ่านเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง 
คราวด์ฟันดิงแบบ investment-based หากให้หุ้นเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน เรียกว่า equity-based crowdfunding ซึ่งผู้ลงทุนจะมีสิทธิเป็นเจ้าของบริษัท  แต่หากให้หุ้นกู้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน เรียกว่า debt-based crowdfunding ที่ผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ซึ่ง investment-based crowdfunding นี้ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เพราะเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์วิธีหนึ่ง​


ภาพรวมการระดมทุน Crowdfunding​


บริษัทที่จะระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง มักเป็นบริษัทที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โครงการยังมีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนอาจจะเสียเงินลงทุนทั้งก้อนได้ แต่หากโครงการสำเร็จ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนหลายเท่า ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีแนวทางกำกับดูแลที่ต่างจากบริษัทที่มีผลการดำเนินงานมานานแล้ว โดยผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนลงทุน และยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ ​

ขั้นตอนการระดมทุน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ 
1. บริษัทที่ต้องการระดมทุนแจ้งเสนอโครงการไปยังเว็บไซต์ตัวกลาง (Funding portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
2. เว็บไซต์ตัวกลางช่วยคัดกรองบริษัทที่ต้องการระดมทุนในเบื้องต้น โดยจะให้บริษัทเหล่านี้เปิดเผยรายละเอียดโครงการที่จะทำ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน 
3. ผู้ลงทุนเลือกบริษัทที่สนใจลงทุน พร้อมทำแบบทดสอบความเข้าใจก่อนลงทุน จากนั้นผู้ลงทุนโอนเงินค่าจองซื้อไปพักไว้กับผู้เก็บรักษาเงินค่าจองซื้อ 
4. ผู้เก็บรักษาเงินค่าจองซื้อจะโอนเงินให้บริษัทหากระดมทุนได้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่หากระดมทุนไม่สำเร็จ จะต้องโอนเงินคืนให้ผู้ลงทุน 
5. บริษัทจะออกหุ้นหรือหุ้นกู้ให้ผู้ลงทุน และนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการตามที่แจ้งไว้ โดยรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ


ศึกษาเรื่อง Crowdfunding ในแบบ infographic คลิก: ​​​ข้อควรรู้ก่อนลงทุน Crowdfunding