ก่อนเกษียณ

03 ตุลาคม 2562
อ่าน  5นาที
​​​​​

 
หากการงานของคุณเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ควรเริ่มต้นวางแผนเกษียณจะดีกว่ารอให้ใกล้เกษียณ มาเช็คความพร้อมก่อนเกษียณด้วย 6 หัวข้อสำคัญที่จะเพิ่ม “ความมั่นใจ” รับวัยเกษียณของคุณ
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่เตรียมตัวเกษียณ

วางแผนการเงินหลังเกษียณ คุณจะไม่มีรายได้จากการทำงานประจำอีกต่อไป จึงต้องวางแผนการเงิน
ล่วงหน้า ให้เพียงพอสำหรับชีวิตหลังการเกษียณ 

สำรวจและศึกษาตัวช่วยเกษียณ มีเครื่องมือมากมายที่ออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยสนับสนุนชีวิตใน
วัยเกษียณของคุณ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกันชีวิต (แบบสะสมทรัพย์และแบบเงินได้ประจำ) กองทุนรวมเพื่อ
การเลี้ยงชีพ (RMF) เงินชดเชยตามกฎหมายกรณีเกษียณอายุ เป็นต้น ซึ่งแต่ละเครื่องมือมีเงื่อนไขและข้อจำกัด
ที่แตกต่างกันไป  จึงควรศึกษาแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณเหล่านี้ไว้ เพื่อที่คุณจะไม่พลาดสิทธิประโยชน์ดีๆ
ที่ควรได้รับ

จำนวนเงินออมเพื่อการเกษียณ กรณีวางแผนการเงินแล้วพบว่า “อาจมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ” หรือ “อยากเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้ได้หลังเกษียณ” คุณสามารถทำได้ ผ่านการออมและลงทุนเพิ่มทุกเดือนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งมักเป็นแหล่งเงินออมหลักเพื่อการเกษียณ นอกจากที่คุณออม “เงินสะสม” เข้ากองทุน นายจ้างก็จ่าย “เงินสมทบ” เข้ากองทุนเช่นกัน แถมเงินสะสม (ที่คุณจ่าย) ยังสามารถนำมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้อีกด้วย เรียกว่า “ได้ 2 ต่อ” ดังนั้นหากทำได้ ขอให้พยายามเลือกอัตราเงินสะสมเข้า PVD
ให้สูงที่สุด 

อย่ากล้าเสี่ยงเกินไป ยิ่งใกล้เกษียณ คุณยิ่งต้องรักษาเงินต้นไว้ให้ปลอดภัย จึงควรลดสัดส่วนการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นสามัญ เพราะหากคุณลงทุนพลาดหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดหุ้นตกหนักๆ คุณจะไม่มีเวลาแก้ตัวใหม่

ปลดหนี้ “หนี้” เรื่องสำคัญมาก เมื่อถึงวัยเกษียณคุณไม่ควรมีภาระหนี้สินใดๆ ติดตัว เพราะหากต้องผ่อนหนี้ไปพร้อมๆ กับรายจ่ายด้านสุขภาพที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้จำกัดนั้น เป็นเรื่องที่ลำบากมาก ดังนั้นขอให้พยายามเร่งปลดหนี้สินทั้งหมดที่มี ก่อนที่วันเกษียณจะมาถึง

ปรับตัวในวัยเกษียณ คุณย่อมมีวิถีชีวิตและค่าใช้จ่ายที่ต่างไปจากตอนทำงาน เช่น ไม่ต้องเดินทางไปทำงาน อยู่บ้านมากขึ้น และมีเวลาเหลือมากจนอาจทำให้คุณเหงา เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณของคุณมีคุณค่า คุณอาจวางแผนกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สร้างรายได้เพิ่ม หรือสร้างเสริมสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เพื่อเพิ่มรายได้ หรือลดค่าใช้จ่ายสำคัญ อย่างค่ารักษาพยาบาลที่มักเพิ่มขึ้นตามวัย ที่สำคัญ คือการเตรียมพร้อมและปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงอย่างมีสติและมีวินัย เพื่อชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุขของคุณ
 
การวางแผนการเงินเพื่อวันเกษียณ มีโจทย์สำคัญ 3 ข้อที่คุณต้องตอบ นั่นคือ
ข้อที่ 1: คุณต้องการเงินเท่าไหร่ถึงจะพอใช้หลังเกษียณ? คือ จำนวนเงินที่คุณคาดว่าจะต้องใช้หลังเกษียณ ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าพยาบาล ค่าเดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งคำตอบที่ได้ คือ จำนวนเงินเป้าหมายเพื่อ
การเกษียณของคุณ

ข้อที่ 2: คุณมีเงินออมเพื่อเกษียณเท่าไหร่และเก็บไว้ที่ไหนบ้าง? หลังจากค้นพบเป้าหมายจำนวนเงินเพื่อเกษียณแล้ว คำถามต่อมาคือ คุณมีแหล่งเงินออมเพื่อยามเกษียณ เก็บไว้ที่ไหนบ้างและเท่าไหร่ เช่น เงินฝากธนาคาร (เงินเก็บส่วนตัว) กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกันชีวิต (แบบสะสมทรัพย์และแบบเงินได้ประจำ) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมถึงสินทรัพย์เพื่อการลงทุนและสินทรัพย์ส่วนตัวอื่นๆ เช็คแหล่งเงินออมเพื่อเกษียณทั้งหมดของคุณ
ว่ามีอยู่เท่าไหร่?​

  • กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ (Social Security Fund หรือ SSO)
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund หรือ PVD)
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (Government Pension Fund หรือ GPF)
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)
  • การประกันชีวิต (Life insurance)
  • เงินชดเชยตามกฎหมาย (Legal severance pay) 
  • ​สินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้นสามัญ พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม  อสังหาริมทรัพย์ เพชร ทองคำ ฯลฯ
เมื่อนำมารวมกันแล้ว เพียงพอสำหรับเป้าหมายจำนวนเงินเพื่อเกษียณ แล้วหรือยัง? หากพอ ก็สามารถเกษียณได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าไม่พอ ต้องพยายามหาเพิ่ม
 
ข้อที่ 3: เงินที่คุณมี พอแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่พอ คุณต้องการเพิ่มอีกเท่าไหร่? ส่วนที่ยังขาดอยู่ คือภารกิจที่คุณต้องคิดและทำให้สำเร็จ โดยมีวิธีการ​ดังนี้
  • เขียนแผนการเงินออกมาเพื่อที่จะสามารถวัดผลได้เช่น นาย A ต้องการเงินสำหรับหลังเกษียณที่ 2,520,000 บาท เขาคาดว่าน่าจะได้รับเงินจากแหล่งเงินออมเพื่อยามเกษียณ รวมกันประมาณ 2,000,000 บาท ดังนั้นยังขาดอยู่อีก 520,000 บาท ที่เขาต้องหาเพิ่มจากการลงทุนอื่นๆ
  • ลงมือทำตามแผน มิฉะนั้นแผนที่อุตส่าห์เขียนออกมาก็ไม่เกิดประโยชน์
  • ​ทบทวนและปรับปรุงแผน การออม/ลงทุน อย่างสม่ำเสมอเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด