วางแผนลงทุน

04 ตุลาคม 2562
อ่าน 5 นาที

​​​​​​​​

​กำหนดเป้าหมายลงทุน
วางแผนการลงทุนต้องมีเป้าหมาย เพราะมีผลต่อการกำหนดวิธีการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดีที่สุดภายใต้จำนวนเงินและระยะเวลา เป้าหมายแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยทุกคน “ต้อง” กำหนดเป้าหมายเพื่อเกษียณไว้เป็นเป้าหมายระยะยาว เช่น เกษียณในอีก 25 ปีข้างหน้า มีเวลาลงทุนนาน เลือกลงทุนต่อเนื่องสม่ำเสมอและเสี่ยงได้พอสมควรเพื่อรับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่หากเป้าหมายระยะสั้น เช่น เรียนต่อใน 6 เดือน - 1 ปี ข้างหน้า ไม่ควรเสี่ยงมากเกินไป

 

สำรวจความเสี่ยง
“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุน” คำที่ได้ยินบ่อยมากแต่สะท้อนความหมายของการลงทุนได้ถูกต้อง เพราะการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงแล้วแต่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย โดย
High Risk High Return คือ ความเสี่ยงยิ่งสูง โอกาสได้ผลตอบแทนสูงเท่านั้นและมีโอกาสขาดทุนมากเช่นกัน ตรงข้ามการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำย่อมให้ผลตอบแทนต่ำและโอกาสสูญเสียเงินต้นต่ำเช่นกัน
 
ขณะนี้ คำว่า “การไม่ลงทุน มีความเสี่ยง” เริ่มผุดขึ้นมาให้ได้ยินเป็นวงกว้างมากขึ้น
  • ​​​​เก็บเงินสดใส่กระปุกออมสินก็มีความเสี่ยงขาดทุนจากเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 3% หมายความว่า ภายใน 1 ปี เงิน 100 บาท จะเหลือมูลค่าเพียง 97 บาท
  • การฝากเงินในออมทรัพย์ ดอกเบี้ยต่ำ 0.5% แต่ค่าธรรมเนียม เช่น ค่ารายปี ค่ารักษาสมุดบัญชีเงินฝาก รวมแล้วอาจจะจ่ายมากกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับ
ทุกคนจึงควรศึกษาการลงทุนเลือกในรูปแบบความเสี่ยงที่รับได้ อย่างน้อยเพื่อให้ได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ
อยากรู้ว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้ระดับไหน คลิก​​
 
จัดพอร์ตการลงทุน
วิธีจัดพอร์ตการลงทุนที่ดีต้องกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายรองรับความผันผวน หากช่วงใดสินทรัพย์บางตัวผลตอบแทนไม่ดี ก็ยังมีผลตอบแทนจากสินทรัพย์อีกตัวหนึ่งช่วยพยุง โดยมี 3 กลุ่มหลัก
​1. กลุ่มสินทรัพย์เพื่อถือระยะสั้น สภาพคล่องสูง ผลตอบแทนต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน    
​2. กลุ่มสินทรัพย์เพื่อกระแสรายได้ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ ได้แก่ เงินฝากประจำ พันธบัตร หุ้นกู้
​​3. กลุ่มสินทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินลงทุน เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนในระยะยาว เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ETF
ผู้ลงทุนควรมีสินทรัพย์ทั้ง 3 กลุ่มอยู่ในพอร์ต โดยแบ่งสัดส่วนมากน้อยขึ้นกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ รับความเสี่ยงได้มากก็จัดสัดส่วนในประเภทที่ 3 มาก รับความเสี่ยงน้อยก็ไปเน้นที่ 1 และ 2 แทน ​
คลิก​ ศึกษาพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม
 
ประเมินผลการลงทุนเพื่อปรับพอร์ต
การลงทุนที่ให้ผลสำเร็จ ควรทบทวนปรับปรุงแผนอย่างน้อยทุก 6 เดือน ทุก 12 เดือน หรือมีปัจจัยพิเศษ อาทิ
1. ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญ เช่น วิกฤติตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจกระทบผลตอบแทนในพอร์ตการลงทุนได้ จึงต้องตื่นตัวปรับสัดส่วนการลงทุน ลดน้ำหนักสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
2. รายได้ผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสที่จะลงทุนเพิ่ม สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงหรือลงทุนระยะยาว
3. เมื่อมีความรู้มากขึ้น รู้จักสินทรัพย์การลงทุนดีขึ้น ทำให้รับความเสี่ยงได้มากขึ้น

การประเมินความเหมาะสมในการลงทุน
โลกการลงทุนยุคใหม่ สินทรัพย์มีหลากหลายและซับซ้อนมากกว่าเดิม การทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (Suitability Test) เป็นตัวช่วยที่ทำให้ผู้ลงทุนรู้จักตัวเองอยู่เสมอ