ลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 6 ราย กรณีซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายใน

11 พฤษภาคม 2565
อ่าน 2 นาที

ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 6 ราย กรณีซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายใน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 6 ราย กรณีซื้อหุ้นบริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (RCI) โดยอาศัยข้อมูลภายใน และช่วยเหลือการกระทำความผิด โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 11,395,486 บาท

ก.ล.ต. ​ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า บุคคลจำนวน 6 ราย ได้แก่ (1) นายรุ่งโรจน์ แสงศาสตรา (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร กรรมการ RCI ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริษัท ได​นาสตี้ เซรามิค จำกัด (มหาชน) (DCC)) (2) นางฉัฐรส อุตตมะโยธิน (3) นางสาวสุภาณี ทองเปล่งศรี (4) นายนครินทร์ แสงศาสตรา (5) นายวิบูลย์ วัชรสุรังค์ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ RCI) และ (6) นางวารี แก้วจินดา ได้ซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายใน หรือช่วยเหลือการกระทำความผิด

นายรุ่งโรจน์และนายวิบูลย์ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับการที่ DCC ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้น RCI ทั้งหมดโดยสมัครใจที่ราคาหุ้นละ 4.00 บาท ซึ่งเป็นราคาเสนอซื้อที่สูงกว่าราคาต​ลาดที่มีการซื้อขายหุ้น RCI ในขณะนั้น 

ในระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม – 27 สิงหาคม 2562 นายรุ่งโรจน์ได้ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น RCI โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางฉัฐรส นางสาวสุภาณี นายนครินทร์ และบุคคลภายนอก 1 ราย ซึ่งเป็นอดีตแม่บ้าน ส่วนนายวิบูลย์ได้ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น RCI โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางวารี ก่อนที่ DCC เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 

การกระทำของนายรุ่งโรจน์ และนายวิบูลย์ เป็นความผิดฐานซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 

ส่วนการกระทำของนางฉัฐรส นางสาวสุภาณี นายนครินทร์ และนางวารี เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานซื้อหุ้น RCI โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/2 ประกอบมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้ 

(1)  นายรุ่งโรจน์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ  ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,128,126 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 20 เดือน

(2)  นายวิบูลย์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 966,808 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 14 เดือน

(3)  นางฉัฐรส นางสาวสุภาณี และนายนครินทร์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น รายละ 575,138 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา รายละ 13 เดือน

(4) นางวารี ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 575,138 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 9 เดือน

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง