“หลักทรัพย์ดิจิทัล” ก้าวสำคัญแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.

13 กุมภาพันธ์ 2568
อ่าน 4 นาที



ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก ดังที่เห็นปรากฏเป็นข่าวซึ่งถูก
จับตามองของคนทั่วไป เมื่อสหรัฐอเมริกามุ่งหมายจะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (รวมถึง
สินทรัพย์ดิจิทัล) ในส่วนของประเทศไทยนั้น ก.ล.ต. มีความพร้อมในการเปิดรับเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้
ตลาดทุนไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาระบบนิเวศ
หลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Securities Ecosystem) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนตลาดทุนไทย
ไปสู่โลกดิจิทัล โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย ซึ่งไม่เพียงแต่
ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงการ
ลงทุนได้อย่างเท่าเทียม โดยอาศัยเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT)

หากมองถึงความจำเป็นหรือเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ก็มีอยู่หลายประการ เช่น ที่ผ่านมา
การพัฒนาระบบต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนเป็นการปรับปรุงบนระบบเดิมทำให้เกิดความซับซ้อน
โดยไม่จำเป็น การทำงานที่เน้นใช้บุคลากรที่อาจทำให้ต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ การมีต้นทุน
ค่าใช้จ่ายจากตัวกลางหลายประเภท การมีข้อจำกัดในการตรวจสอบย้อนหลังเนื่องจากมีหลายฐานข้อมูลหรือ
ยังจัดเก็บเป็นเอกสาร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงเป็นตัวเร่ง
ให้ต้องเกิดการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ระบบตลาดทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้านจุดเด่นของเทคโนโลยีบล็อกเชนหรือ DLT ที่จะมาใช้กับตลาดทุน เช่น ใช้การเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัย
ป้องกันการปลอมแปลง กระจายข้อมูลในเครือข่าย เพิ่มความโปร่งใส ลดความเสี่ยงเชิงระบบ ข้อมูลไม่สามารถ
เปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลได้หรือทำได้ยากมาก ๆ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายยอมรับธุรกรรมร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนชุดคำสั่งให้ทำงานอัตโนมัติ ลดการพึ่งพาตัวกลาง เช่น การใช้ smart contracts
หรือ สัญญาอัจฉริยะ ที่ทำงานโดยอัตโนมัติผ่านเครือข่ายบล็อกเชน โดยมีการระบุเงื่อนไขและข้อตกลงล่วงหน้า
ในรูปแบบของโค้ดโปรแกรม เมื่อเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเกิดขึ้น ระบบก็จะดำเนินการตามข้อตกลงทันที
โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางหรือบุคคลที่สามในการยืนยัน

สำหรับตัวอย่างที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ DLT มาใช้ในกิจกรรมตลาดทุนได้ก็มีทั้งในตลาดแรกและ
ตลาดรอง โดยการนำมาใช้ในตลาดแรก เช่น การออกหลักทรัพย์รูปแบบดิจิทัล ซึ่งออกได้ทั้งแบบที่เรียกว่า
Digital Twin คือการออกหลักทรัพย์ในรูปแบบเดิมแต่อาจจะให้ Custodian หรือผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน
เก็บหลักทรัพย์นั้นไว้แล้วนำมา tokenize ออกมาเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อให้สามารถซื้อขายบนบล็อกเชนได้และ
ยังสามารถทำให้เป็นหน่วยย่อยได้ด้วย แต่รูปแบบนี้ก็ยังต้องคอยมาเช็กหรือคอยตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกันเสมอ

อีกรูปแบบหนึ่งคือ Digital Native ที่เป็นการออกหลักทรัพย์ที่เป็นดิจิทัลตั้งแต่ต้นและอยู่บนบล็อกเชน ตอนนี้
การจะออกหลักทรัพย์แบบ Digital Native ยังอยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ให้รองรับการออก
หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดสาย เนื่องจากการออกหลักทรัพย์ในรูปแบบกระดาษก็อาจไม่สอดคล้องกับ
แนวทางของโลกดิจิทัลที่ต้องมีความจริงเพียงหนึ่งเดียว หรือ single source of truth ที่อยู่บนบล็อกเชน
อย่างไรก็ดีผู้ลงทุนยังสามารถขอออกเอกสารแสดงสิทธิเป็นสำเนาเอกสารสิ่งพิมพ์เพื่อใช้ยืนยันได้นอกจากนี้
ในส่วนของตลาดแรก DLT ยังสามารถนำมาใช้ในการสร้างฐานข้อมูลหลักทรัพย์บน distributed ledger และ
การเข้าถึงหลักทรัพย์ดังกล่าวก็จะเปลี่ยนเป็นการใช้private key โดยที่ลูกค้าอาจจะเก็บไว้เอง หรือฝากไว้กับ
Custodian เป็นผู้เก็บรักษาแทนก็ได้เป็นต้น ส่วนตลาดรองก็มีกิจกรรมที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในเรื่องระบบ
การซื้อขาย การส่งมอบ ไปจนถึงการให้บริการ post-trade service เรียกว่ารองรับได้ทุกกิจกรรมหลัก

ทั้งนี้ แนวคิดในการพัฒนาระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Securities Ecosystem) มีเป้าหมายที่
จะช่วยตอบโจทย์ในหลายด้าน เช่น ทำให้การระดมทุนและการลงทุนทำได้อย่างรวดเร็ว ลดต้นทุน โปร่งใส
สามารถเอื้อให้เกิดการแข่งขันเพื่อสร้างบริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ เชื่อมโยงระบบที่หลากหลายเข้าด้วยกัน
ตลอดจนทำให้สามารถเกิดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น

เมื่อถามถึงก้าวต่อไปที่ ก.ล.ต. จะดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัลนี้
มีทั้งเรื่องการพิจารณา Use Case ที่จะนำไปใช้ในตลาดทุน เช่น การนำเทคโนโลยี DLT มาใช้ทำ tokenize
พันธบัตรรัฐบาลที่เดิมฝากไว้กับศูนย์รับฝาก (TSD) ให้เป็นหน่วยย่อย (fractional) เพื่อให้ผู้ลงทุนรายย่อย
เข้าถึงได้มากขึ้น และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรอง ควบคู่ไปกับการสรรหาผู้พัฒนาและจัดการระบบ
โครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์อีกเรื่องที่สำคัญคือ การปรับปรุงกฎหมาย
และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้ยืดหยุ่นและทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรวมถึงการกำหนด
มาตรฐานชุดข้อมูล และวิธีการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างกันในตลาดทุนด้วย

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัลเป็นก้าวสำคัญในการปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง
ของโลกปัจจุบันที่ ก.ล.ต. ได้ติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่องและแนวคิดนี้เป็น
แผนงานสำคัญที่จะเดินหน้าผลักดันตามแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ
ภาคเอกชน และผู้ลงทุนเพื่อให้ระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัลมีความพร้อมและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับ
ทุกภาคส่วนได้