
มีท่านใดเคยลงทุน “หุ้นคราวด์ฟันดิง” และ “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” ไหมครับ วันนี้ผมขอพาไปรู้จักการระดมทุน
ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ในการดำเนินงานหรือขยายธุรกิจได้สะดวกและ
รวดเร็วขึ้น โดย ก.ล.ต. สนับสนุนการระดมทุนของ SME ที่เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต
อย่างมั่นคง และมีกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม
สำหรับผู้ลงทุน “หุ้นคราวด์ฟันดิง” และ “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” เป็นอีกช่องทางในการลงทุนในกิจการที่มี
ศักยภาพในการเติบโต โดยตั้งแต่ปี 2562 - 2567 มีมูลค่าการระดมทุนรวมแล้วมากกว่า 16,000 ล้านบาท
(ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนผ่านหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง) ครับ
Crowdfunding เป็นการระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก (the crowd) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้ลงทุน
แต่ละรายสามารถลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มากแต่อาศัยจำนวนผู้ลงทุนที่มากพอ ในการเสนอขายหุ้นคราวด์ฟันดิง
และหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจะต้องเสนอขายผ่าน “ผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง” หรือ Funding Portal
ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ขณะที่ Funding Portal มีหน้าที่คัดกรองบริษัทที่ต้องการระดมทุน (Issuer)
สอบทานความมีตัวตนและคุณสมบัติของผู้เสนอขายตามที่กำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนในระดับหนึ่ง
และต้องเปิดเผยข้อมูลการเสนอขาย รวมทั้งให้ความรู้ด้านความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุน และในกรณีที่เป็นการเสนอขาย
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง Funding Portal มีหน้าที่ประเมินระดับความน่าเชื่อถือและระดับความเสี่ยงของ
หุ้นกู้นั้นด้วยครับ
การส่งเสริม “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงแบบมีประกัน”
การระดมทุนผ่านหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงสามารถทำได้ทั้งแบบที่ “ไม่มีประกัน” และ “มีประกัน” ครับ โดยหากเป็น
“หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงแบบมีประกัน” จะมีกลไกคุ้มครองผู้ถือหุ้นกู้เพิ่มเติมจากหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงแบบไม่มีประกัน
เช่น ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้มีประกันจะได้รับชำระหนี้จากหลักประกันของหุ้นกู้รุ่นดังกล่าว
ก่อนผู้ถือหุ้นกู้ที่ไม่มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกันรายอื่น ๆ
นอกจากนี้ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงแบบมีประกันจะมี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้
ในการใช้สิทธิบังคับหลักประกันเพื่อนำมาชำระหนี้คืนแก่ผู้ถือหุ้นกู้หรือเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้
ตามหุ้นกู้ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นกู้ในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อติดตามหนี้
ดังนั้น “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงแบบมีประกัน” น่าจะช่วยเสริมความมั่นใจในการลงทุนให้กับผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น แต่
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. พบว่า มีกิจการหลายรายที่สนใจเสนอขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงแบบมีประกัน แต่อาจมีข้อจำกัด
บางอย่าง เช่น ไม่สามารถหาผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ให้บริการได้ และการจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาจส่งผลให้มี
ต้นทุนในการระดมทุนที่สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถเสนอขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงแบบมีประกันได้
เพื่อสนับสนุนให้มีการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงมีประกันเพิ่มมากขึ้น ก.ล.ต. จึงเปิดให้ Funding Portal
สามารถทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สำหรับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่ตนเองเป็นผู้ให้บริการได้ (ตั้งแต่
วันที่ 16 สิงหาคม 2567) โดย Funding Portal ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องมีคุณสมบัติ
เช่นเดียวกันกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อื่น ๆ เช่น ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ หรือมีประสบการณ์
ในการทำหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำ 25 ล้านบาท
บทบาทและหน้าที่ของ “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้”
“ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” มีหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ทั้งปวง ตั้งแต่การรับหลักประกัน
การดูแลรักษาทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน การช่วยติดตามให้ผู้ออกหุ้นกู้ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ
การจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เมื่อเกิดปัญหา ตลอดจนการดำเนินการทางกฎหมายหากมีการผิดนัดชำระหนี้ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีภาระหน้าที่หลายอย่าง ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรทั้งบุคลากร ระบบงาน
รวมทั้งเงินทุนในการดำเนินการ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงกำหนดหลักเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและฐานะการเงินให้มี
ความเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ประสงค์จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีความพร้อมในการทำหน้าที่
คุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การกำหนดคุณสมบัติและฐานะการเงินดังกล่าว
คำนึงถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความพร้อมสามารถทำหน้าที่ได้โดยที่ไม่เป็นภาระจนเกินควรด้วย
ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน มีเป้าหมายหลักในการกำกับดูแลที่มุ่งเน้นการสร้างความ
สมดุลระหว่างการส่งเสริมการระดมทุน ซึ่งรวมถึงการระดมทุนผ่านระบบคราวด์ฟันดิงให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
**************************
จากบทความ "Funding Portal กับบทบาทผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้" โดยนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในคอลัมน์ "คุยกับ ก.ล.ต." นสพ.กรุงเทพธุรกิจ