ตลาดทุน เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีนโยบายให้ธุรกิจทุกภาคส่วน สามารถเข้าถึงการระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้พัฒนาช่องทางการระดมทุนใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) และสตาร์ทอัพ (startup) ระดมทุนผ่านตลาดทุนง่ายขึ้น ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ “คราวด์ฟันดิง” ซึ่ง ก.ล.ต. เปิดให้ระดมทุนได้ทั้งรูปแบบ หุ้น และ หุ้นกู้ คราวด์ฟันดิง ผ่านแพลตฟอร์มตัวกลาง (funding portal) ที่ให้ผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนมาเจอกัน โดยในส่วนของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง มีจุดเด่นตรงที่ระดมทุนระยะสั้นกว่า มีต้นทุนดอกเบี้ยที่แน่นอน
วรพล พรวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด กล่าวว่า หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง เป็นทางเลือกการระดมทุนที่น่าสนใจสำหรับเอสเอ็มอี/สตาร์ทอัพ ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม ด้วยข้อดี คือ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและต้นทุนต่ำ
“หากเทียบกับบริการทางการเงินที่ใกล้เคียงกันอย่างสินเชื่อเบิกเกินบัญชี (O/D) และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 18% แล้ว หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงมีต้นทุนต่ำกว่าราว 4-5% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 11%” วรพล กล่าว
สิ่งที่ผู้ระดมทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงต้องมี คือ โครงการและแผนธุรกิจที่ชัดเจน ที่สามารถตอบผู้ลงทุนได้ว่า นำเงินไปแล้วจะได้อะไรกลับมา ขณะเดียวกัน เพียร์ พาวเวอร์ กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะระดมทุน ต้องทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 2 ปี เพื่อให้มีงบสอบทานจากการดำเนินงานในปีที่ 1 ที่จะนำมาวิเคราะห์กิจการได้
ทั้งหุ้นคราวด์ฟันดิง (เป็นเจ้าของ/ถือระยะยาว) และหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (เป็นเจ้าหนี้/ถือระยะสั้น 2-3 ปี) มีข้อดีแตกต่างกัน ผู้ประกอบการจะเลือกระดมทุนแบบใดขึ้นกับความต้องการและความเหมาะสมของแผนธุรกิจ โดยลองตอบคำถามให้ชัดเจน 3 ข้อ ดังนี้
\/

/\
“เพียร์ พาวเวอร์” (PeerPower) เป็น 1 ใน 4 ผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง (funding portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่ง ณ วันที่ 30 ก.ย. 63 มีเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพระดมทุนสำเร็จแล้ว 9 บริษัท
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด (Techsauce) ซึ่งเป็นผู้ที่ระดมทุนแบบหุ้นกู้ crowdfunding ได้สำเร็จ บอกเล่าประสบการณ์หาแหล่งเงินทุนว่า เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินส่วนตัวของผู้ก่อตั้ง 5 คน เวลาผ่านไป 5-6 ปี ก็เริ่มมองหาแหล่งเงินทุน ซึ่งลองปรึกษาการขอสินเชื่อจากธนาคารแล้วก็ยังไม่ตอบโจทย์
เมื่อทราบว่า มีช่องทางระดมทุนแบบหุ้นกู้ crowdfunding ผ่านเพียร์ พาวเวอร์ จึงสนใจ เพราะธุรกิจของ Techsauce มีการจัดอีเว้นท์ด้วย ซึ่งระหว่างทางต้องใช้เงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่ามัดจำสถานที่ ระยะเวลาการให้สินเชื่อ การระดมทุนด้วยหุ้นกู้ crowdfunding จึงตอบโจทย์ความต้องการสภาพคล่องระยะสั้นของบริษัท
“แน่นอนว่า ผู้ลงทุนต้องการเห็นรูปแบบธุรกิจที่ชัดและเลือกลงทุนกับธุรกิจที่มีอนาคต ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่เราจะต้องคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้ตรงตามงวด โดยการมีวินัยนั้นสำคัญมากสำหรับธุรกิจที่มาระดมทุน หากไม่มีวินัย ผู้ลงทุนคงไม่กลับมาลงทุนอีกในครั้งต่อไป” อรนุช กล่าว
การเตรียมตัวระดมทุนผ่าน crowdfunding นอกจากเตรียมแผนธุรกิจที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือ การทำบัญชี หลายครั้งที่ธุรกิจมีลูกค้าพร้อม มีบริการที่ดี แต่ระบบบัญชีไม่ดีก็พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนวงเงินระดมทุนขึ้นกับความต้องการและระยะเวลา แต่ต้องไม่เกินตัว
ผู้ลงทุนต้องรู้อะไร :
• ผลตอบแทน หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงมีอัตราดอกเบี้ยหลายระดับ แน่นอนว่าดอกเบี้ยสูงจะมาพร้อมความเสี่ยงสูง ดอกเบี้ยต่ำก็ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งผู้ประกอบการที่มาระดมทุนจะมีความเสี่ยงหลากหลายกันไป ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลผ่านหนังสือชี้ชวนที่อยู่บนเว็บไซต์ของ funding portal ซึ่งหลักการตั้งดอกเบี้ยจะเปรียบเทียบกับหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง ซึ่งผลตอบแทนสูงตามความเสี่ยง
• การคุ้มครองผู้ลงทุน funding portal มีหน้าที่ดูแลทั้งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน โดยมีแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 21/2562 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง เช่น เปิดเผยข้อมูลโปร่งใสชัดเจน รายงานผลประกอบการและรายงานต่าง ๆ เป็นต้น
-----------------------------
อ้างอิงเนื้อหาจากรายการรู้เงินรู้ลงทุน หัวข้อ “มีไอเดียเจ๋ง ทุนน้อย มาทางนี้ #2 เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 63