เงินทุนถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพิ่งเริ่มตั้งต้น วิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ (startup) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี (SME) เพราะถ้ามีไอเดียดี ๆ แล้ว เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่ความสำเร็จและเติบโตไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มั่นคง
ตลาดทุนไทยได้พัฒนารูปแบบการระดมทุนใหม่เพื่อรองรับธุรกิจเริ่มต้น นั่นคือการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง (“crowdfunding”) ในรูปแบบหลักทรัพย์ ซึ่งช่วยให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีหลายรายระดมทุนได้สำเร็จแล้ว
crowdfunding คือวิธีการที่ธุรกิจสามารถมาระดมทุนจากมวลชนหมู่มาก (crowd) ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง หรือ funding portal ซึ่ง funding portal มีหน้าที่คัดกรองและเปิดเผยข้อมูลบริษัทที่จะระดมทุน โดยธุรกิจจะนำเงินที่ระดมทุนสำเร็จมาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้เสนอไว้ ซึ่ง crowdfunding มีหลายรูปแบบ ได้แก่
• แบบบริจาค (donation) โดยไม่หวังผลตอบแทน
• แบบสิ่งของ (reward) ได้ผลตอบแทนเป็นสิ่งของหรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้าที่จะผลิต
• แบบ P2P lending ให้กู้ยืมเงิน ได้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนดเวลา และ
• แบบหลักทรัพย์ที่ระดมทุนโดยได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้นหรือหุ้นกู้
ธวัชชัย อิงบุญมีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท (CEO) และผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder) บริษัท เวลธิเทคฟิน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่ระดมทุนแบบหุ้น crowdfunding ได้สำเร็จ กล่าวว่า crowdfunding แบบหลักทรัพย์เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการขยายธุรกิจ จากเดิมที่อาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนจากธนาคาร ขณะที่การระดมทุนแบบ crowdfunding มีเพียงรูปแบบธุรกิจ (business model) และแผนธุรกิจ (business plan) ที่ชัดเจนก็เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
โดยก่อนจะระดมทุนแบบหุ้น crowdfunding ธุรกิจต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า 1. รู้จักตัวเองก่อนระดมทุน ว่ามีความพร้อมไหม ควรดำเนินธุรกิจมาแล้วระยะหนึ่ง และมีธุรกิจที่จับต้องได้ 2. มองภาพรวมให้ออกว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องประเมินว่าจะระดมทุนกับใคร ผู้ลงทุนกลุ่มใดจะมาซื้อ แล้วจะสื่อสารกับผู้ลงทุนอย่างไร 3. ทำการบ้านก่อน roadshow ทุกครั้ง เตรียมตัว เตรียมข้อมูลที่จะนำเสนอให้พร้อม 4. มีความคิดสร้างสรรค์ และ 5. เมื่อระดมทุนสำเร็จต้องให้ผลตอบแทนตามที่สัญญาไว้กับผู้ลงทุน
ผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่สนใจระดมทุนแบบ crowdfunding จะต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชน จำกัด ที่ไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (non-listed) โดยจัดตั้งตามกฎหมายไทย และมีการประกอบธุรกิจหรือมีโครงการธุรกิจที่ชัดเจน

ธนัช ศิริพูลเกียรติกุล Strategic Marketing Manager บริษัท ฟีนิกซิคท์ จำกัด ซึ่งได้รับความเห็นชอบเป็น funding portal ประเภทหุ้น crowdfunding กล่าวว่า การระดมทุนแบบ crowdfunding ไม่ได้มีข้อจำกัดของรูปแบบธุรกิจว่าต้องเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีเท่านั้น สามารถเป็นธุรกิจใดก็ได้ เช่น ที่ผ่านมาก็มีธุรกิจร้านอาหารที่สามารถระดมทุนได้สำเร็จแล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ business model และ business plan ว่าดึงดูดผู้ลงทุนได้หรือไม่
นอกจากนี้ การระดมทุนแบบ crowdfunding บริษัทจะต้องดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว และมีงบการเงินย้อนหลังให้ดูได้ โดยมีขั้นตอนการระดมทุน ดังนี้
• สมัครเป็นสมาชิกบนแพลตฟอร์มของ funding portal และนำส่งข้อมูลบริษัท
• funding portal ตรวจสอบข้อมูลและประเมินมูลค่าบริษัท
• funding portal อนุมัติเสนอขายบนแพลตฟอร์มและทำการตลาด
• ระดมทุนสำเร็จ เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท และออกใบหุ้นให้แก่ผู้ลงทุน
• รายงานผลการใช้เงิน และจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลแก่ผู้ลงทุน (ถ้ามี)
ถ้าเป็นการระดมทุนแบบหุ้น crowdfunding จะต้องระดมทุนได้ครบตามจำนวน จึงจะถือว่าการระดมทุนนั้นสำเร็จ ซึ่งเรียกหลักการนี้ว่า all-or-nothing หากครบเวลาการจองซื้อแล้วผู้ระดมทุนไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย funding portal จะต้องคืนเงินค่าจองซื้อให้กับผู้ลงทุนทุกราย แต่หากเป็นการระดมทุนแบบหุ้นกู้ crowdfunding ถ้าระดมทุนได้อย่างน้อย 80% ของมูลค่าเสนอขาย จะถือว่าการระดมทุนสำเร็จ
ส่วนค่าใช้จ่ายในการระดมทุนด้วย crowdfunding มีอยู่ 3 ส่วน คือ 1. ค่าแรกเข้าของ funding portal 2. ค่าเก็บรักษาเงินค่าจองซื้อ (escrow) และ3. เมื่อระดมทุนสำเร็จจะมีค่าธรรมเนียมที่ funding portal เรียกเก็บอีกจำนวนหนึ่ง
สำหรับผู้ลงทุนรายบุคคล จะมีการจำกัดวงเงินลงทุนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อ 1 บริษัท และไม่เกิน
1 ล้านบาทในรอบ 12 เดือน (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้) และก่อนลงทุนจะต้องผ่านการทำแบบทดสอบความเข้าใจการลงทุน (knowledge test) เพื่อให้เข้าใจความเสี่ยงในการลงทุน สำหรับผู้ที่สนใจลงทุน สามารถตรวจสอบรายชื่อ funding portal หรือผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th หรือแอปพลิเคชัน “SEC Check First” ก่อนลงทุน
------------------------------------------------
อ้างอิงเนื้อหาจากรายการรู้เงิน รู้ลงทุน หัวข้อ “ไอเดียเจ๋ง แต่มีทุนน้อย มาทางนี้” #1 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 63