SRI fund ลงทุนในหลักทรัพย์ใดได้บ้าง?

21 พฤศจิกายน 2565
อ่าน 4 นาที

​​

1. SRI Fund หรือ Sustainable & Responsible Investing Fund หรือกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนซึ่งประกอบด้วย ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และ ธรรมาภิบาล (ESG)

SRI Fund ลงทุนในหลักทรัพย์ใดบ้าง วันนี้เรามารู้จักวิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์ของกองทุน SRI Fund ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละรายอาจมีกระบวนการคัดเลือกที่ต่างกันออกไป โดยต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวให้ผู้ลงทุนทราบ มีตัวอย่างแบบไหนบ้าง มาดูกัน 

.


2. ผู้จัดการกองทุน SRI Fund แต่ละกองนั้น มีวิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าสู่พอร์ตการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแต่มีเป้าหมายนำไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างของหลักทรัพย์ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่พอร์ตการลงทุนของ SRI Fund ได้แก่
1. หลักทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับความยั่งยืน หรือ ESG Rating
2. หลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนีความยั่งยืน
3. หลักทรัพย์ของกิจการที่ลดปริมาณคาร์บอนฟุตปริ้นท์
4. หลักทรัพย์ของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้มาจากกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
5. หลักทรัพย์ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์จาก บลจ. 

.


3. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะคัดเลือกหลักทรัพย์
ที่ได้รับการจัดอันดับความยั่งยืน หรือ “ESG Rating” จากบริษัทรับจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีเกณฑ์การพิจารณาและจัดอันดับ “ESG Rating”

โดย Rating ต่าง ๆ ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้แสดงไว้นั้น คือเกณฑ์ที่ใช้ประเมินเพื่อวัดระดับความเสี่ยงในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยสะท้อนถึงคุณภาพด้าน ESG ของกิจการนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้แก่ผู้ลงทุนในการพิจารณาเลือกหลักทรัพย์หรือบริษัทที่จะลงทุนได้ง่ายมากขึ้น

.


4. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะคัดเลือกหลักทรัพย์ที่อยู่ในองค์ประกอบของดัชนีที่เกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability Index, ESG Index) ซึ่งประกอบไปด้วยหลักทรัพย์ของบริษัทที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกหรือการประเมินในด้านของการดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG

โดยดัชนีที่เลือกใช้ในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในที่นี้ อาจเป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่อยู่ในประเทศไทย หรือต่างประเทศก็ได้ เช่น ดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ (Thaipat ESG Index), MSCI ESG Universal Index, Morningstar Sustainability Index Family, หรือ S&P 500 ESG Index เป็นต้น 

.


5. หลักทรัพย์ของกิจการที่ “ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint)” ที่มีการประเมินโดยผู้ประเมินอิสระ*

โดยคาร์บอนฟุตปริ้นท์นั้น หมายถึงหน่วยวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การผลิตอาหาร การใช้รถและจักรยานยนต์ ตลอดจนกระบวนการกำจัดของเสีย เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และลุกลามกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นที่เรียกว่า “ภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming Potential” อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรง หรือเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียนานาชนิด

ดังนั้นการดำเนินกิจการที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลงไม่ว่าจะเป็นหลักตัน หรือ หลักกิโลกรัม ล้วนแล้วแต่ช่วยโลกของเราได้ทั้งสิ้น

หมายเหตุ: *ผู้ประเมินอิสระ เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ตรวจประเมินและให้ตราสัญลักษณ์ในการแสดงว่าบริษัทหลักทรัพย์นั้น ๆ มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าใด ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 

.


6. หลักทรัพย์ของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้หรือกำไรมาจากกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามักจะพบได้ในธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นการใช้ทรัพยากรของโลกให้คุ้มค่ามากที่สุด

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีความโดดเด่นเรื่องการลดการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม (fossil fuel) และเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกใหม่ ที่ช่วยให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น PM 2.5

หรือธุรกิจผลิตภาชนะจานชามในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง “ชานอ้อย” ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านการย่อยสลายได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ เมื่อเทียบกับภาชนะที่ผลิตจากพลาสติกซึ่งอาจใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 400 ปี

โดยธุรกิจที่ดำเนินกิจการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ล้วนเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่สามารถเข้ามารวมอยู่ในพอร์ตการลงทุนของ SRI Fund ได้ด้วยเช่นกัน 

.


7. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะมีกระบวนการภายในเพื่อวิเคราะห์และคัดเลือกหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืน ซึ่งต้องเปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการวิเคราะห์ว่ามีที่มาอย่างไรให้ผู้ลงทุนทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย 

.


8. ไม่ว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะคัดเลือกหลักทรัพย์ด้วยวิธีการใด ต้องไม่ลืมว่าหัวใจของ SRI Fund คือการ “เปิดเผยข้อมูล” ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุนไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในหนังสือชี้ชวน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการพิจารณาและตัดสินใจลงทุนใน SRI Fund ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน อันสอดคล้องและตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในกิจการดังกล่าวในระยะยาวต่อไป

                 ________________________________________

อ่านเพิ่มเติม 
ตอนที่ 1  SRI Fund ทางเลือกของการลงทุนเพื่อความยั่งยืน  https://www.smarttoinvest.com/Pages/Investment%20Products/Investment%20knowledge/SRI-Fund-alternative-sustainable-investment.aspx

​​