
1. ทำไมไปทางไหนก็ได้ยินแต่คริปโท
• คริปโทกำลังได้รับความสนใจ หลังจากราคาช่วงปลายปี 2563-ปัจจุบัน ปรับตัวขึ้นกว่า 10 เท่าหรือ 1,000% โดยเฉพาะบิตคอยน์และอีเธอเรียม อีกทั้งมีพัฒนาการต่างๆ อย่างใช้สมาร์ทคอนแทร็ก (smart contract) ใน DeFi (Decentralized Finance) หรือ NFT (Non-Fungible Token) เป็นกระแสทำให้คนสนใจมากขึ้น
2. คริปโทเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร
คริปโทเคอร์เรนซีแต่ละตัวเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น
• บิตคอยน์ (Bitcoin) เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกของการเป็นสินทรัพย์ ทำหน้าที่เหมือนทองคำ เหมาะสำหรับการเก็บรักษามูลค่า และทำธุรกรรมที่ไม่มีตัวกลางได้ทั่วโลกโดยไม่มีใครแทรกแซง
• อีเธอเรียม (Ethereum) เกิดขึ้นมาเพื่อเสนอตัวจะเป็นคอมพิวเตอร์ของโลก เป็นแพลตฟอร์มที่จะรันซอฟท์แวร์หรือโปรแกรมโดยที่ไม่มีใครมาหยุดยั้งหรือแทรกแซงได้
3. Stablecoin คืออะไร
• ในเชิงเทคนิค Stablecoin เป็นโทเคนที่รันอยู่บนสมาร์ทคอนแทร็ก เป็นคริปโทที่อาศัยแพลตฟอร์มอื่นในการทำงาน
• วัตถุประสงค์การสร้าง Stablecoin เพื่อให้เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่อ้างอิงมูลค่ากับสกุลเงินที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ (USD) เยน (yen) หรือเงินบาท (THB) เนื่องจากหลายครั้งไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทกับสกุลเงินได้โดยตรง เพราะไม่ได้ทำงานบนระบบเดียวกัน ไม่ได้ชำระราคา (settle) แบบเดียวกัน จึงมีการสร้างคริปโทที่อ้างอิงราคาจากสกุลเงิน ไม่ปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามเสรี
• ตัวอย่าง USD Tether (USDT) เป็น Stablecoin ตัวแรก สร้างขึ้นมารันอยู่บนเน็ตเวิร์กของบิตคอยน์ ชื่อ Omni Layer โดยวิธีการสร้าง USDT ต้องนำ USD ไปฝากที่บริษัท Tether ถ้าฝาก 1 USD ก็สร้างได้ 1 USDT โดย Tether จะมีคลังเก็บเงิน USD และจะสร้างดิจิทัลโทเคนที่อ้างอิงมูลค่ากับเงินในคลัง
• Stablecoin อาจแบ่งกว้าง ๆ เป็น 2 ประเภท คือ
1. Stablecoin ที่อ้างอิงกับมูลค่าโดยตรง ดังที่กล่าวข้างต้น
2. Stablecoin ที่เกิดจากการรักษามูลค่า รักษาราคาให้เท่ากับเหรียญที่ต้องการอ้างอิง ด้วยการใช้กลไกตลาด (Algorithmic Stablecoin) อย่างที่พูดถึงกันเร็ว ๆ นี้ เช่น Thaibaht Terra (THT) เป็นโทเคนที่ไม่ได้อ้างอิงกับเงินบาทโดยตรง แต่ค้ำประกันไว้ด้วยเงินที่มีมูลค่าเท่าเทียมกับเงินบาทประมาณหนึ่ง เท่ากับจำนวนของโทเคน และจะปรับสัดส่วนโทเคนตามสภาวะตลาด เช่น ถ้าราคาสูงขึ้นก็จะเพิ่มปริมาณโทเคนทำให้ราคาลดลง รักษาราคาด้วย Algorithm โดยรูปแบบนี้เป็นทฤษฎีใหม่ที่มีหลักการน่าสนใจ แต่เพิ่งมีมาไม่กี่ปีจึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะรักษาอัตราได้มั่นคงอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่
4. คริปโท กับ บิตคอยน์ เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่
• คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือคริปโทแอสเซท (Crypto Asset) หมายถึง สินทรัพย์หรือสิ่งที่ใช้แทนเงิน ที่ทำงานด้วยหลักคริปโทกราฟี (Cryptography) หรือศาสตร์การเข้ารหัสแบบอสมมาตร แต่ในภาพรวมคริปโทเคอร์เรนซีมีหลายรูปแบบ ซึ่งจะมีลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกันไปแต่ละตัว
• บิตคอยน์ เป็นคริปโทเคอร์เรนซีตัวแรกของโลกที่ทำงานได้โดยไม่มีตัวกลางและไม่มีใครควบคุมได้ หลังจากนั้นมีคริปโทเกิดขึ้นอีกหลายตัว บางตัวก๊อปปี้บิตคอยน์เกิดเป็นอัลท์คอยน์ (Altcoin) หรือบางโครงการนำ code บิตคอยน์มาดัดแปลงเพิ่มคุณสมบัติอื่นเข้าไป มีทั้งที่ใช้ได้และล้มเหลว
• เหรียญอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นยุคถัดมา ปี 2014-2015 เป็นสมาร์ทคอนแทร็ก แพลตฟอร์ม (smart contract platform) หรือ เวอร์ชวล แมชชีน แพลตฟอร์ม (virtual machine platform) เช่น อีเธอเรียม เป็นคริปโทตัวแรกที่ทำในลักษณะนี้ และมีหลายโปรเจ็กต์ที่ลอกเลียนแบบ source code ของอีเธอเรียม นำมาใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกัน
5. ซื้อขายคริปโทเหมือน forex หรือ ทองไหม
• คริปโท เปรียบได้กับสินค้าชนิดหนึ่ง ที่ซื้อขายได้กับคนที่ต้องการซื้อขายกับเรา ผ่านเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับตลาดแลกเปลี่ยน อาจคล้ายกับการซื้อขายทองคำ แต่ค่อนข้างแตกต่างกับการซื้อขาย forex
• forex เป็นตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงบุคคลธรรมดาไม่ได้ซื้อสินค้าเป็นตัวเงินสกุลเหล่านั้น แต่เป็นการซื้อสัญญาส่วนต่างของการเปรียบเทียบค่าเงิน
• ในมุมมองนี้ถ้าเทียบกัน น่าจะใกล้เคียงกับการซื้อทองคำที่สามารถซื้อและเป็นเจ้าของได้
6. ซื้อขายคริปโทได้รถสปอร์ต?
• รวยได้และจนได้ ไม่ต่างจากการลงทุนทั่วไป หลายครั้งอาจเห็นสินค้าในตลาดนี้มูลค่าเพิ่มขึ้น 10 เท่าหรือ 100 เท่า ในช่วงทุก 4-5 ปี แต่ไม่ได้แปลว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคต
• ช่วงที่ผ่านมาด้วยความเป็นตลาดใหม่ สภาพคล่องน้อย และมีเงินทุนไหลเข้าออกจำนวนมาก ทำให้ราคาคริปโทเมื่อเทียบกับ USD หรือเงินบาท มีความผันผวนมาก เช่น บิตคอยน์ ราคาอาจขึ้นได้ถึง 1,000% ต่อปี ขณะเดียวกันก็อาจลดลงได้ 80-90% ภายในไม่กี่เดือน
7. ราคาคริปโทขึ้นลงจากอะไร
• ปัจจัยที่ทำให้ราคาคริปโทขึ้นลง คือ กลไกตลาด จากปริมาณ (ซัพพลาย) กับความต้องการ (ดีมานด์) เมื่อซัพพลายมีจำกัดแต่มีคนต้องการซื้อมาก กำลังซื้อจะผลักดันให้ราคาสูงขึ้น ตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้นในทุกสินค้า
• ยกตัวอย่าง บิตคอยน์ ที่ถูกออกแบบให้มีจำนวนจำกัด ทำให้บิตคอยน์เกิดขึ้นในจำนวนที่ลดลงเรื่อย ๆ โดยปี 2140 จะมีบิตคอยน์จำนวนไม่เกิน 21 ล้านบิตคอยน์ ดังนั้น ทางฝั่งซัพพลายจึงคาดเดาได้
• ฝั่งดีมานด์ เป็นผลมาจากบิตคอยน์ไม่สามารถถูกแทรกแซงได้ ทำให้หลายคนเริ่มเห็นคุณค่า และต้องการใช้เป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าชนิดหนึ่ง เมื่อซัพพลายคงที่แต่ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น
• บางครั้งอาจจะมีดีมานด์อื่นที่เกิดจากกระแสหรือตามกันเข้ามา ดีมานด์เหล่านี้เมื่อถึงเวลาตลาดชะลอตัว ก็อาจกลับออกไป ทำให้เกิดการแกว่งของราคาได้ค่อนข้างมาก
8. จำเป็นต้องรู้อะไรก่อนซื้อขายคริปโท
• การศึกษาหาความรู้เรื่องคริปโทเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้น เพราะการซื้อขายโดยที่ไม่รู้ว่าซื้ออะไรลงไป หากราคาผันผวนหรือเกิดสิ่งที่ไม่เข้าใจ เช่น โอนเงินบนบล็อกเชนแล้วช้า ไม่เข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้น ก็จะนำไปสู่ความกระวนกระวายใจ อาจเกิดความผิดพลาดทำให้เสียเงินได้
• อาจจะทำสองอย่างพร้อมกัน คือ ศึกษาหาข้อมูลคริปโทให้เข้าใจถ่องแท้ พร้อมกับเรียนรู้ตลาดไปด้วย สำหรับบางคนอยากมีบิตคอยน์แต่ความรู้ยังไม่ถึง แนะนำว่าอย่าพนันหรือเทรดหรือรับความเสี่ยงมาก ควรซื้อบิตคอยน์ด้วยเงินที่คำนวณแล้วว่าถ้าเสียเงินนี้ไปจะไม่มีผลกระทบกับชีวิต
• การได้มีบิตคอยน์สักนิดหนึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้ศึกษาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วอาจจะเปลี่ยนแง่มุม หรือเปลี่ยนวิธีการซื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดความเข้าใจ
_______________
อ้างอิงจากความรู้พื้นฐาน คริปโท 101 ตอนที่ 1 หัวข้อ "ทำไมต้องคริปโทในนาทีนี้" โดย อ. พิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ Chaloke.com เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และ Start-to-invest โดยข้อคิดเห็นที่ปรากฏนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของวิทยากร มิใช่ของสำนักงาน ก.ล.ต.