นึกถึงตลาดทุน นึกถึง ก.ล.ต.
เพราะพันธกิจสำคัญ 3 ประการ ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นั่นก็คือ กำกับดูแลให้ตลาดทุนมีมาตรฐาน พัฒนาตลาดทุนให้ก้าวหน้า ส่งเสริมให้ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือและยั่งยืน
ก.ล.ต. ทำหน้าที่อะไร
ก.ล.ต.ทำหน้าที่คุ้มครองผู้ลงทุน ดูแลความเรียบร้อยในตลาดทุน โดยมีงานหลัก คือ
1. อนุญาตออกและเสนอขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล โดยดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และทันเหตุการณ์ รวมทั้งกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้สอบบัญชี ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal)
2. ให้ใบอนุญาต และกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้า/สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
3. กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ และตลาดรอง ดูแลระบบการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ติดตามการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขาย เช่น การสร้างราคา การใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะเป็นด่านแรกในการติดตามและตรวจสอบเบื้องต้น
ก.ล.ต. ดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างไร
เมื่อพบว่ามีผู้กระทำความผิดและภายหลังจากพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว หากพบว่ามีน้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้ว่าผู้อยู่ใต้การกำกับดูแลกระทำผิดจริง ก.ล.ต. มีช่องทางบังคับใช้กฎหมาย ดังนี้
การดำเนินการทางปกครอง โดยออกคำสั่งลงโทษทางปกครอง ในกรณีผู้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลฝ่าฝืนกฎหมาย หรือมาตรฐานการปฏิบัติงานที่มีโทษทางปกครอง เช่น พัก/เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ ปรับทางปกครอง เพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น ซึ่งผู้ถูกลงโทษทางปกครองมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ การดำเนินคดีอาญา โดยแจ้งการกระทำความผิดที่พบต่อพนักงานสอบสวน (กล่าวโทษ) เพื่อให้สืบสวนสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ สำหรับความผิดที่ไม่รุนแรงมากนัก กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่ รมต.คลัง แต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้
การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง เป็นทางเลือกในการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติมจากการดำเนินคดีอาญาสำหรับความผิดเกี่ยวกับกระทำการอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ (เช่น การซื้อขายหุ้นโดยอาศัยข้อมูลภายใน และการปั่นหุ้น) แสดงข้อมูลเท็จ กรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ โดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งจะกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่ผู้กระทำความผิด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ก.ล.ต. จะฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่ง เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่ผู้กระทำความผิดนั้น โดยศาลแพ่งจะใช้วิธีการในการพิจารณาคดีแพ่งในการพิจารณาและพิพากษา
กฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
1. กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2. กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
3. กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
4. กฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน
5. กฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
6. กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การลงทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
มีทั้ง “หลักทรัพย์" เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า" ที่อ้างอิงสินค้าบางประเภท เช่น หลักทรัพย์ ราคาทองคำ รวมทั้ง “สินทรัพย์ดิจิทัล" เช่น สกุลเงินดิจิทัล โทเคนดิจิทัล
...ยกเว้น การลงทุนที่ไม่ได้กำกับดูแล เช่น
X การลงทุนตรงในทองคำ
X การลงทุนตรงในอสังหาริมทรัพย์
และมี 3 เรื่องที่ทำไม่ได้
X เรียกร้องเงินคืนให้ผู้ลงทุน
X ทำให้ความเสี่ยงจากการลงทุนหมดไป
X ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ก.ล.ต.
ผู้ลงทุน
| คุ้มครอง ให้ความรู้ และดำเนินการเรื่องร้องเรียน
|
ตลาดหลักทรัพย์และตลาดรอง
| กำกับดูแลการซื้อขาย การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์
|
บริษัทหลักทรัพย์/
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน/ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
| ให้ใบอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
สัญญาซื้อขายล่วงหน้า สินทรัพย์ดิจิทัล
|
บริษัทจดทะเบียน
| อนุญาตให้เสนอซื้อขายหลักทรัพย์ กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูล
การทำคำเสนอซื้อกิจการ (takeover) การทำรายการที่เกี่ยวโยง
การได้มาจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน
|
ผู้ประกอบวิชาชีพ
| ให้ความเห็นชอบและดูแลการปฏิบัติหน้าที่ อาทิ
ผู้สอบบัญชี
ที่ปรึกษาทางการเงิน
|