รูปแบบกลโกงที่มีประวัติยาวนานในโลกการลงทุน มาในรูปของบริษัทที่ไม่ได้รับอนุญาตชวนลงทุน เช่าห้องราคาถูกเป็นที่อยู่ในการติดต่อหรือฐานปฏิบัติการชักชวนให้ลงทุน เมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็จะปิดบริษัทหนีไปหรือย้ายที่ทำการใหม่
วิธีการของบริษัท จะติดต่อผู้ลงทุนผ่านโทรศัพท์หรืออีเมลอ้างว่าบริษัทหรือตัวแทนที่กำลังติดต่ออยู่นั้น ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โน้มน้าวชักชวนให้ลงทุนในทางเลือกต่าง ๆ เช่น หุ้น กองทุน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สินค้าโภคภัณฑ์ โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงผิดปกติเป็นเครื่องดึงดูดใจ เช่น 25% ต่อเดือน
ช่วงแรกบริษัทอาจทำได้ตามนั้นจริง โดยที่ไม่ได้นำเงินไปลงทุนให้งอกเงยตามที่สัญญาแต่อย่างใด แต่นำเงินของผู้ลงทุนรายอื่นมาจ่ายแทน เพื่อล่อให้ผู้ลงทุนติดใจและนำเงินมาลงเพิ่มอีก เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัว ก็จะอ้างว่าขาดทุน แล้วปิดบริษัทหายตัวไปตามระเบียบ โดยผู้ลงทุนไม่สามารถติดต่อได้อีก
รูปแบบการชักชวนที่พบเจอบ่อยๆ ได้แก่...
- โฆษณาชวนเชื่อผ่านเว็บไซต์ โดยจัดทำเว็บไซต์ให้น่าสนใจดูเป็นมืออาชีพ อาจอ้างว่าเป็นเว็บไซต์ของตัวแทนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
- โฆษณาชวนเชื่อผ่านบทความ หรือโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โดยแสร้งเป็นการให้คำแนะนำการลงทุน หรือแนะนำทางเลือกการลงทุนใหม่ ๆ พร้อมแสดงผลตอบแทนสูงล่อใจ เมื่อผู้อ่านสนใจก็จะนัดหมายให้เข้ามาที่ทำการของบริษัท เพื่อเปิดบัญชีซื้อขาย
- โฆษณาชวนเชื่อผ่านสารคดี หรือทางวิทยุ วางบทบาทเป็นบริษัทที่เน้นให้ความรู้ด้านการลงทุน เมื่อผู้สนใจติดต่อเข้าไปก็จะนัดหมายให้เข้ามายังที่ทำการ เพื่อเปิดบัญชีซื้อขาย
- ส่งจดหมายชักชวนให้เข้าร่วมการสัมมนา พร้อมบทวิเคราะห์วิจัยแผนการลงทุน ที่ดูน่าเชื่อถือ จัดฉากเชิญผู้ลงทุนสมมติที่ประสบผลสำเร็จ มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ลักษณะคล้ายการชักชวนของธุรกิจขายตรง หรือแชร์ลูกโซ่
- โทรศัพท์เชิญชวนให้ลงทุนผ่านตัวแทนขาย ซึ่งเป็นพนักงานจบใหม่ ไม่มีความรู้ในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือธุรกิจหลักทรัพย์ ให้ตัวแทนขายเหล่านี้โทรศัพท์ไปชักชวน และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการเชิญมายังบริษัท ซึ่งจัดสภาพแวดล้อมให้คล้ายห้องค้าหลักทรัพย์ที่แสดงกราฟ และโปรแกรมการซื้อขายเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ หรือให้พนักงานใหม่เหล่านี้ไปชวนญาติพี่น้องมาลงทุน