การหย่าร้างนำมาซึ่งความเครียดของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เพียงทางด้านจิตใจเท่านั้น ยังรวมถึงสถานภาพหลังจากนี้อีกด้วย จากสามีภรรยากลายเป็นพ่อหม้ายแม่หม้าย ถึงจะเป็นเรื่องโหดร้ายสักเพียงใด แต่บางทีอาจจะเป็นการตัดสินใจที่จำเป็นเมื่อชีวิตของทั้งคู่เดินทางมาถึงจุดนี้ หากคุณกำลังเผชิญกับช่วงเวลาของการหย่าร้าง ขอให้ตั้งสติดีๆ รวบรวมกำลังใจจากครอบครัว เพื่อนฝูงที่เข้าใจคุณเป็นอย่างดี ถึงเวลานี้จะไม่อยากคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพราะถึงความสัมพันธ์จะจบลง แต่ชีวิตของคุณยังคงต้องดำเนินต่อไป และอย่าลืมว่าความสุขในชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเวลาอยู่เป็นคู่ และเวลาอยู่คนเดียว ความรุนแรงที่ต้องเจอจากการหย่าร้างจะบรรเทาลงได้มาก ถ้าในสถานภาพใหม่ของคุณ ไม่มีปัญหาด้านการเงิน เช่น คุณมีงานทำอย่างมั่นคง โดยไม่ต้องพึ่งพาอีกฝ่าย หรือหลังจากการหย่าร้างเสร็จสิ้นแล้ว คุณยังมีทรัพย์สินที่ช่วยคุณหารายได้ ฯลฯ
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องรับมือกับการหย่าร้าง
สิ่งที่ต้องทำ
- บันทึกเวลาที่แยกทางกัน ตามกฎหมาย จะหย่าได้ต้องแยกกันอยู่อย่างน้อย 1 ปี ติดต่อทนาย หากคุณต้องการความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย
- แบ่งแยกทรัพย์สิน แบ่งแยก ทรัพย์สิน/หนี้สิน ของคุณออกจากอดีตคู่สมรส ในกรณีสินสมรส (ทรัพย์สินที่เป็นของทั้งคู่) มีจำนวนมาก จะแบ่งกันยากพอสมควร อาจต้องใช้ทนายช่วย ซึ่งถ้ามีการเซ็นสัญญาก่อนสมรสว่าใครมีสิทธิดูแลทรัพย์สินอะไรโดยไม่ต้องรออนุมัติจากคู่สมรส แบบนั้นก็จะเคลียร์ง่ายกว่า แต่ตอนจดทะเบียนสมรส การเซ็นสัญญาก่อนสมรสดังกล่าวก็ดูจะเป็นการไม่มั่นใจว่าจะอยู่กันไปตลอด (ตอนจะแต่งก็คงไม่มีใครคิดว่าจะหย่า) จึงเป็นเรื่องที่ต้องวัดใจมากทีเดียว
- ปิดบัญชีร่วมหลังจากที่แบ่งแยกทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายแล้ว หากคุณยังมีบัญชีร่วมกับอดีตคู่สมรส คุณต้องทำเรื่องปิดบัญชีดังกล่าว เพราะเป็นบัญชีที่สามารถถอนออกได้ทั้ง 2 ฝ่าย
ควบคุมรายรับและรายจ่าย
หากก่อนหน้านี้คุณได้เคยทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเงินอยู่แล้ว ก็จะเห็นภาพว่ามีรายรับหรือรายจ่ายอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่เคยดูเรื่องการเงินเลย ถึงเวลาที่คุณจะต้องเรียนรู้และรับผิดชอบชีวิตของตนเอง ไม่ใช่แค่เพียงการบริหารเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการหาเงินเข้าครอบครัวด้วย หากอดีตคู่สมรสเป็นผู้ทำงานหารายได้หลัก เวลานี้คุณคือหัวหน้าครอบครัวผู้ที่ต้องตอบให้ได้ว่า ต่อจากนี้จะมีรายรับจากทางไหนบ้าง? และมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอะไรบ้าง?