แต่งงาน

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที


 

​​​​​​​​มื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับงานแต่งงาน ผู้คนส่วนมากจะรับรู้ได้ถึงความสุข ความชื่นชมยินดี และความตื่นเต้นในการใช้ชีวิตคู่ของคู่บ่าวสาว เพราะการแต่งงานของคนสองคน ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการอยู่คนเดียว และเป็นจุดเริ่มต้นของครอบครัว ข่าวการแต่งงานจึงมักจะเป็นข่าวดีที่ทุกฝ่ายตั้งตารอคอย คนส่วนใหญ่จะชอบชมภาพยนตร์หรือละครที่ต้องลุ้นในความรักของคู่พระคู่นาง ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกหรือตัวรองก็ตาม แล้วจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ด้วยการได้แต่งงานกัน ถ้าเรื่องไหนเริ่มต้นที่คู่รักที่แต่งงานอยู่ร่วมชายคากันแล้ว ก็มักจะออกแนวหนังชีวิตโหดร้ายไปเลย และมักจะได้รับความนิยมน้อยกว่าแบบแรก (ถึงแม้แบบหลังจะใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากกว่าก็ตาม) การแต่งงานเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต และถือเป็นการตัดสินใจก้าวใหญ่ที่เรื่องเงินมีความสำคัญมากจริงๆ ถ้าไม่ตกลงกันให้ดีๆ อาจพบกับความเครียดไปตลอด บางคู่ที่ยังดื่มด่ำในความรัก มักจะรู้สึกเกรงใจกัน ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากจะเอ่ยถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะกลัวจะเสียบรรยากาศ แต่ในความเป็นจริง ยิ่งใกล้ชิดสนิมสนมกันมากเพียงใด ยิ่งต้องคุยเรื่องเงินให้เคลียร์มากเท่านั้น
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่เตรียมตัวแต่งงาน

สิทธิพิเศษสำหรับคู่แต่งงาน
ในสิงคโปร์อสังหาฯ มีราคาที่สูงมากๆ แต่เนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ประชาชนแต่งงานมีครอบครัว (เพราะอัตราการเกิดใหม่ของประชากรต่ำเกินไป) จึงออกกฎหมายให้คู่แต่งงานสามารถซื้อบ้านได้ในราคาถูกกว่าคนโสด หลายคู่จึงนำนโยบายดังกล่าวมาเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการแต่งงานด้วย สำหรับบ้านเรา สิทธิพิเศษสำหรับคู่แต่งงาน อยู่ที่นโยบายด้านภาษี คือค่าลดหย่อนคู่สมรสของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท/ ปี กรณีเสียภาษีเพียงคนเดียว แต่ถ้าเลือกเสียภาษีแยกกัน ไม่สามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้ ยกเว้นภรรยามีรายได้อื่นนอกจากเงินเดือน สามีสามารถนำรายได้อื่นของภรรยามาร่วมคำนวณภาษี และหักค่าลดหย่อนคู่สมรสได้ 

การวางแผนงานแต่งงาน  
การวางแผนเรื่องพิธีแต่งงาน อาจนำมาซึ่งความตึงเครียดของว่าที่คู่บ่าวสาวได้ไม่ยากเลย ถือเป็นจุดวัดใจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญร่วมกันของทั้งสอง ว่ามีทัศนคติการใช้เงินกับค่านิยมที่เหมือนหรือแตกต่างกันมากเพียงใด
(มีหลายคู่ที่คบกันอยู่ดีๆ แต่ต้องมาเลิกกันในช่วงเตรียมงานแต่ง) ปัจจุบันงานแต่งงานและของชำร่วย มีค่าใช้จ่ายรวมกันตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท ขึ้นอยู่กับความหรูหราที่คู่บ่าวสาวต้องการให้งานออกมาดูดีเพียงไร รวมถึงการให้เกียรติอันเหมาะสมกับญาติผู้ใหญ่และแขกของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะเชิญมาร่วมงานด้วยการได้รับซองจากญาติๆ และแขกในงาน คือสินสมรส และการแสดงออกทางน้ำใจอันสวยงามของประเพณีไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อคู่บ่าวสาวอย่างมาก เพราะจะช่วยชดเชยค่าจัดงานได้ หรือบางคู่ที่บริหารจัดงานดีๆ ยังสามารถมีเงินเหลือไว้ตั้งตัวได้เลยจากงานนี้

การตั้งเป้าหมายการเงินร่วมกัน
สมัยที่ยังโสดอยู่นั้น จะหาเงินได้มาก ใช้เงินน้อย หรือหาเงินได้น้อย แต่ใช้เงินมาก จะทำอะไรก็สบายๆ ไม่มีใครเดือดร้อนไปด้วย (นอกจากตัวคุณเอง) มาเวลานี้คุณกำลังจะก้าวเข้าสู่ชีวิตคู่ มีอย่างน้อยอีก 1 คนที่ชีวิตผูกติดไปกับคุณด้วย หรือการใช้ชีวิตของเขาส่งผลมาถึงตัวคุณด้วย ดังนั้นการพูดคุยแบบเปิดอกถึงเป้าหมายและทัศนคติเรื่องเงินทอง จึงสำคัญมากบางคู่ คนหนึ่งอยากผ่อนบ้านให้เสร็จโดยเร็ว ส่วนอีกคนคิดแต่เรื่องไปเที่ยวต่างประเทศ แบบนี้เป้าหมายหรือไลฟ์สไตล์ต่างกัน สามารถสร้างความเครียดหรือปัญหาในระยะยาวได้ สิ่งที่ทั้งคู่ควรจะตกลงกันให้เรียบร้อย ได้แก่

  • ​ค่าใช้จ่ายเมื่อแต่งงานกันแล้ว รายจ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว ใครทำหน้าที่จ่ายค่าอะไรบ้าง? จำนวน
    เท่าไหร่? นอกจากจะมีบัญชีส่วนตัวแล้ว ต้องการเปิดบัญชีร่วมหรือไม่? ควรจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ให้ดีๆ อะไรก่อน อะไรหลัง บางคู่ ทั้งสามีและภรรยาสามารถหารายได้ด้วยกันทั้งคู่ อาจแบ่งความ​รับผิดชอบรายจ่ายเป็นอัตราส่วนตามที่ตกลงกัน เช่น จากบันทึกรายจ่ายต่อเดือนพบว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท สามีตกลงรับผิดชอบ 2 ใน 3 ส่วน และภรรยารับผิดชอบส่วนที่เหลืออีก 1 ใน 3 สามีหาเงิน
    ได้เดือนละ 50,000 บาท ก็นำมาจ่ายกองกลาง 20,000 บาท ส่วนภรรยาหาเงินได้เดือนละ 70,000 บาท
    ก็นำมาจ่ายกองกลาง 10,000 บาท เป็นต้น

  • ทรัพย์สิน/หนี้สิน การแต่งงานโดยที่ไม่ได้นำหนี้สินติดตัวมาด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งของขวัญที่จะมอบให้แก่
    คนรัก แต่ถึงจะมีหนี้สินติดตัวมา การวางแผนว่าจะรับผิดชอบอย่างไรนั้นสำคัญกว่า ทั้ง 2 คนควรที่จะรับรู้
    ว่าต่างฝ่ายต่างมีทรัพย์สิน หรือหนี้สินอะไรบ้าง จะได้ช่วยกันวางแผนบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน

  • การลงทุนการลงทุน คือการนำเงินไปต่อยอดให้งอกเงยผ่านทางเลือกการลงทุนต่างๆ ซึ่งมีโอกาสรับผลตอบแทน และเผชิญความเสี่ยงต่างๆ มากมาย จึงน่าจะพูดคุยถึงแผนการไว้ให้เรียบร้อยก่อนที่จะลงทุนจริง เช่น ใครจะเป็นคนตัดสินใจหลักๆ? หรือจะลงทุนในอะไรบ้าง? เพราะในกรณีที่ลงทุนแล้วได้กำไร ก็คงแฮปปี้กันถ้วนหน้า ไม่มีปัญหาคาใจ แต่ถ้าลงทุนแล้วเกิดพลาดขาดทุนขึ้นมา หรือเสียโอกาสทำกำไรจากทางเลือกที่เคยพิจารณากันไว้ แล้วไม่ได้ลงทุนสักที ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ไม่ต้องมาโทษกันว่าเป็นความผิดของใคร เพราะเรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใครจริงๆ