มนุษย์เงินเดือน

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที
​​
 
พนักงานประจำ คือทางเลือกของคนส่วนใหญ่ในสังคม เนื่องจากความรู้สึกมั่นคงจากการ ได้ทำงานในบริษัท การได้รับเงินเดือนทุกๆ เดือนรวมทั้งสวัสดิการต่างๆ  อีกทั้งยังมีสถานะทางสังคมอีกด้วย เนื่องจากการบอกใครๆ ว่าทำงานอยู่บริษัทไหน ย่อมฟังดูดีกว่าการเป็นเจ้าของร้านเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก แต่การเป็นพนักงานประจำ ก็ต้องอุทิศตัวให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะทุกบริษัทเมื่อตกลงว่าจ้างพนักงานเข้ามาแล้ว ก็หวังพึ่งพาให้พนักงานแต่ละคนขยันขันแข็ง ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ถึงจะมีสวัสดิการดีเพียงใด หากคุณเป็นพนักงานประจำก็จำเป็นต้องดูแลสุขภาพของตนเองเป็นอันดับหนึ่ง ระวัง  office syndrome หรืออาการเจ็บป่วยที่มักจะเกิดกับผู้ทำงานในออฟฟิศ เช่น อาการปวดหลัง อาการนิ้วล็อค อาการตาพร่ามัวจากการจ้องคอมฯ นานเกิน ฯลฯ การทำงานแข่งขันกับเพื่อนร่วมงานเพื่อได้เลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วนั้น หากต้องแลกกับสุขภาพในระยะยาวแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่คุ้มค่าเลย เพราะสุดท้ายหากคุณทำไม่ไหว ในเวลาไม่นาน ระบบของบริษัทก็จะหาคนมาแทนที่คุณได้อยู่ดี
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับพนักงานประจำ

การสร้างคุณค่าให้แก่บริษัทหรือองค์กร
สำหรับภาคธุรกิจ คุณค่าที่พนักงานในบริษัทร่วมกันสร้าง จะต้องมากกว่าเงินเดือนและโบนัสของทุกคนรวมกัน บริษัทถึงจะอยู่ได้ สำหรับองค์กรไม่แสวงกำไร คุณค่าที่เจ้าหน้าที่ร่วมกันสร้าง จะต้องตอบโจทย์พันธกิจหรือเป้าหมายสูงสุด องค์กรจึงจะเติบโตแข็งแกร่ง

ความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กร 
มีที่ทำงานไหนในโลกที่มีแต่ความสุขความสบายใจ ทำแล้วได้เงินเยอะๆ หรือไม่? หากมีที่แบบนั้นจริง คงไม่มีตำแหน่งว่างเหลืออยู่แน่ๆ เพราะใครๆ ก็จะแย่งชิงกันเข้าไปทำงานที่นั่นกันหมด การเป็นพนักงานประจำก็คือ การถูกว่างจ้างให้มาอยู่ในที่ๆ ลำบาก และต้องใช้ความอดทนสูง แลกกับค่าตอบแทนที่คุ้มกับความเหนื่อยยากนั่นเอง ใครก็ตามที่ต้องการทำงานที่ไหนได้นานๆ จะต้องทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ เป็นอย่างดี เช่น การแสดงความเคารพต่อผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า เวลาการเข้าออกที่ทำงาน หรือการช่วยเหลือผู้ร่วมงาน เป็นต้น เพราะคนๆ หนึ่งไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบได้ การค้นหาว่าองค์กรที่คุณทำงานอยู่ ให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง จะช่วยให้คุณทุ่มความพยายามไปยังจุดสำคัญ
 
การเสียภาษี
หากคุณมีรายได้หลักที่จะยื่นภาษีเพียงทางเดียวคือ เงินเดือน คุณจะต้องยื่นภาษีเพียงครั้งเดียวช่วงสิ้นปี ด้วยแบบ ภ​งด. 91 (ภายใน ม.ค.-มี.ค. ของปีถัดไป) แต่ถ้าคุณมีรายได้มากกว่า 1 ทาง เช่น นอกจากเงินเดือน คุณลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวม แล้วต้องการนำมาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อรับสิทธิการเครดิตภาษี หรือสิทธิลดหย่อนภาษี เป็นต้น คุณจะต้องยื่นภาษี ปีละ 2 ครั้งคือ ช่วงกลางปี ด้วย ภงด.94 (ภายในเดือน มิ.ย. - ก.ย. ของปีนั้น) และช่วงสิ้นปีด้วย ภงด.90 (ภายในเดือน ม.ค. - มี.ค. ของปีถัดไป) เช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอิสระ

การลงทุนกลยุทธ์
การลงทุนเด่นๆ ของพนักงานประจำอยู่ที่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือเงินกองทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง โดยนายจ้างจะหัก 2-15% (ตามที่ลูกจ้างระบุไว้) ออกจากเงินเดือนของลูกจ้าง เป็น “เงินสะสม” เข้ากองทุน และนายจ้างจะต้องจ่าย “เงินสมทบ” เข้ากองทุน การสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เพียงแค่คุณจะออมเงินได้แต่คุณยังมีโอกาสได้รับเงินสมทบจาก นายจ้างอีกด้วย ถ้าทำได้คุณควรใช้สิทธิเต็มที่ไปเลย (15%) หากยังมีเงินเหลือสำหรับลงทุนอีก ค่อยพิจารณาทางเลือกอื่นๆ นอกจากนี้เมื่อคุณได้โบนัส อย่าเพิ่งคิดวางแผนว่าจะนำไปใช้จ่ายซื้ออะไรดี แต่ควรนั่งลงคิดดูก่อนว่า ในตอนนี้คุณได้ลงทุนในทางเลือกต่างๆ ตามแผนที่วางไว้แล้วหรือยัง ​​​