รู้วัตถุประสงค์ในการลงทุนว่า ตัวคุณเองต้องการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนในระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว และต้องการกระแสรายได้แบบใด (เช่น ต้องการเงินก้อนปีละ 2 ครั้ง เพื่อจ่ายค่าเทอมลูก) จะได้วางแผนการลงทุนที่สอดคล้อง และเหมาะสมกับตนเอง
รู้ระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ รู้ว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด โดยต้องประเมินความเสี่ยงของ หลักทรัพย์/ทรัพย์สิน ที่สนใจจะลงทุนได้ด้วย จะได้ลงทุนตามความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเอง
รู้แหล่งเงินลงทุนของตนเอง สำรวจว่ามีแหล่งเงินทุนจากที่ใด ฐานะทางการเงิน รายได้ และจะจัดสรรเงินออมเพื่อใช้ในการลงทุนอย่างไร
รู้จักสินค้า
รู้ว่าตลาดทุนมีหลักทรัพย์ประเภทใดบ้าง (เช่น หุ้น, สิทธิในการซื้อหุ้น (warrant), หุ้นกู้, หุ้นกู้แปลงสภาพ ฯลฯ) แต่ละประเภทให้ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง ที่แตกต่างกันอย่างไร จะได้เลือกการลงทุนให้เหมาะกับตนเองรู้ว่าบริษัทที่จะลงทุน ทำธุรกิจอะไร, มีความเสี่ยงอะไรบ้าง, ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ควรดูด้วยว่าหุ้นของบริษัทที่จะลงทุนเป็นหุ้นพื้นฐานดี หรือเป็นหุ้นเก็งกำไร เพื่อการกระจายพอร์ตการลงทุนอย่างสมดุล
รู้จักติดตามข่าวสารข้อมูล
ควรติดตามข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของตนเองทั้งในระยะสั้น และระยะยาว จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจโลก สงคราม การเมืองระหว่างประเทศ และสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ข่าวเศรษฐกิจในประเทศ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมข่าวสาร และบทวิเคราะห์ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ลงทุนอยู่ ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ รวมถึงข่าวแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ
มีแหล่งที่คุณสามารถติดตามข้อมูลได้มากมาย อาทิ
1. สื่อต่าง ๆ ทั้งสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์
2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ หนังสือชี้ชวน งบการเงิน แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) แบบรายงานการซื้อขาย หลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59) แบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ข่าว ก.ล.ต. กฎเกณฑ์ และงานวิจัยต่าง ๆ
เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับ การแจ้งข่าว/เหตุการณ์สำคัญของบริษัทจดทะเบียน เช่น การเพิ่มทุน การครอบงำกิจการ (takeover) การซื้อขายทรัพย์สินที่สำคัญ การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ข้อมูลอื่นที่กระทบต่อราคาของหลักทรัพย์ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
3. บริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งผ่านเว็บไซต์ของบริษัท โดยทั่วไปจะมีข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ รายงานประจำปี งบการเงิน การพบปะกับผู้ลงทุน ซึ่งแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท (Investor Relation หรือ IR) คือหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำหน้าที่ติดต่อกับผู้ลงทุนเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัทเท่าที่เปิดเผยต่อสาธารณชน
4. บริษัทหลักทรัพย์: บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์แต่ละตัว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป โดยเป็นงานวิจัยของทั้งบริษัทหลักทรัพย์ไทยและต่างประเทศ โดยคุณต้องรู้ด้วยว่าตนเองมีเวลาในการติดตามข้อมูลการลงทุนมากน้อยเพียงไร หากไม่มีเวลา อาจพิจารณาลงทุนผ่านมืออาชีพ เช่น กองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล เป็นต้น
รู้จักสิทธิและหน้าที่ผู้ลงทุน
กฎหมายได้กำหนดสิทธิให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสีย ป้องปรามการปฏิบัติไม่ถูกกฎหมายหรือขาดจริยธรรมของกิจการ รวมทั้งให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในกิจการที่ออกเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของเงิน ในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางและการดำเนินงานที่สำคัญของกิจการด้วย
มีคำกล่าวที่ว่า “ตัวเราเองคือผู้ที่รู้คุณค่าเงินของเราเองมากที่สุด” หรืออีกความหมายคือ ถ้าเงินของเราหายไป คนที่รู้สึกเดือดร้อนมากที่สุด ก็คงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากตัวเรานั่นเอง การดูแลและปกป้องประโยชน์ของตัวคุณเองเพื่อให้การลงทุนในหลักทรัพย์เกิดประโยชน์สูงสุด
1. ควรตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยตนเอง
2. ไม่ตัดสินใจลงทุนตามข่าวลือหรือกระแส
3. ทำความเข้าใจในเอกสาร ก่อนจะเซ็นชื่อ
4. ส่งคำสั่งซื้อขายทางโทรศัพท์ ตามเบอร์ติดต่อของบริษัทหลักทรัพย์
5. ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทุกครั้ง
6. สังเกตสัญญาณเตือนภัย
7. ควรจัดเก็บเอกสารการลงทุนให้เป็นที่เป็นทาง