กำหนดเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที
​กำหนดเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา 
ประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 2 ด้าน คือ              
ระบบงานของบริษัทจัดการ ประกอบด้วย
  • ระบบจัดการลงทุน : คณะกรรมการกองทุนควรพิจารณาถึง
    -
    ขั้นตอนการตัดสินใจลงทุน : การเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนจนถึงการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน มีคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนหรือไม่ ประกอบด้วยใครบ้าง และมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร ผู้จัดการกองทุนมีการตัดสินใจลงทุนอย่างไร รวมทั้งมีการบันทึกเหตุผลประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือไม่
    - ข้อมูลที่ผู้จัดการกองทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น บทวิเคราะห์จากฝ่ายวิจัยของบริษัทจัดการหรือบริษัทหลักทรัพย์ งบการเงิน ข้อมูลจากการเยี่ยมชมบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
    - การจัดสรรหลักทรัพย์ : กรณีที่มีหลายกองทุนสั่งซื้อหลักทรัพย์ตัวเดียวกัน แต่ได้หลักทรัพย์ไม่ครบตามที่สั่งซื้อ ผู้จัดการกองทุนจะจัดสรรหลักทรัพย์ให้แต่ละกองทุนอย่างไร
    - ​วิธีปฏิบัติของการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ : มีวิธีปฏิบัติอย่างไร มีการขอความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุนหรือไม่
  • ระบบทะเบียนสมาชิกและการรับ-จ่ายเงินให้สมาชิก
    - ช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกในการรับ-จ่ายเงิน
    - ความรวดเร็วในการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพ
    - มีระบบฐานข้อมูลและทะเบียนสมาชิกที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ
  • ระบบการเปิดเผยข้อมูล
    - ช่องทางในการเปิดเผยข้อมูล เช่น ส่งทางไปรษณีย์ e-mail หรือเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เป็นต้น
    - ข้อมูลที่เปิดเผย ได้แก่ ผลการดำเนินงานของกองทุน รายงานการลงทุนให้คณะกรรมการกองทุนทราบทุกเดือน รายงานสถานะสมาชิกอย่างน้อยทุก 6 เดือน
  • ระบบการควบคุมการปฏิบัติงาน 
    พิจารณาว่าบริษัทจัดการมีหน่วยงานควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามกฎหมาย เช่น มีมาตรการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ มีการป้องกันการฉ้อโกงของพนักงาน เป็นต้น
  • ระบบการรับเรื่องร้องเรียน 
    พิจารณาว่าหน่วยงานใดของบริษัทจัดการที่เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนและใช้เวลาในการดำเนินการนานเพียงไร
  • บริการอื่น ๆ 
    เช่น การให้ความรู้แก่สมาชิก หรือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่คณะกรรมการกองทุนอย่างสม่ำเสมอ
ความมั่นคงของบริษัทจัดการ
เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทจัดการจะสามารถบริหารกองทุนได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด โดยพิจารณาจาก
  • ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา : พิจารณาจากงบการเงินหรือรายงานประจำปีของบริษัทจัดการ
  • ผู้บริหารของบริษัทจัดการ : พิจารณาจากประสบการณ์ นโยบาย การดำเนินงาน โดยเฉพาะในด้านการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงประวัติการกระทำผิดกฎหมาย
  • ผู้จัดการกองทุน : เคยบริหารกองทุนประเภทใดบ้างและมีความชำนาญด้านใด
  • การประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น : บริษัทจัดการมีการทำประกันเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือมีวิธีป้องกันอื่น ๆ หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง