คำถามที่มักจะเกิดขึ้น เมื่อมีใครสักคนหนึ่งพูดถึงเรื่องการเตรียมตัวเกษียณ หรือการจัดการเงินสำหรับใช้อย่างเพียงพอในวัยเกษียณ ก็คือ มันสำคัญมากขนาดนั้นเลยเหรอ? ดูจะจริงจังเกินไปกับชีวิตหรือเปล่า? แค่ทำงานหารายได้เพื่อไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ใช้แล้วเหลือก็เอาไปเก็บออมฝากธนาคารไว้ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอ ไม่พอก็หารายได้เพิ่ม อีกตั้งนานกว่าจะเกษียณ จะรีบกังวลไปทำไม ยังมีเวลาเตรียมตัวอีกตั้งนาน ใครที่คิดแบบนี้ต้องขออนุญาตแสดงความเสียใจล่วงหน้าเลยล่ะครับ อันนี้ไม่ได้แช่ง แค่เตือนเอาไว้
ทำไมต้องจัดการเงินสำหรับเกษียณ คุณอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เงินไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต” แต่ฟังมาไม่หมด แล้วมาพูดต่อๆ กันไปเรื่อยจนเข้าใจผิด ผมขอนำประโยคเต็มๆ มาให้ชมกัน ซึ่งมิสเตอร์เอิร์น วิลซัน คอลัมนิสต์ชื่อดังชาวอเมริกันได้เคยกล่าวไว้ว่า “Always remember money isn't everything, but make sure that you've made enough of it before talking such nonsense!”
ซึ่งแปลเป็นไทยได้ใจความว่า “เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ก่อนจะพูดอะไรไร้สาระแบบนี้ได้ มั่นใจเสียก่อนนะว่ามีเงินเพียงพอ” การเกษียณก็เช่นเดียวกัน จะบอกว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างสำหรับชีวิตในวัยเกษียณก็ได้ เพราะยังมีเรื่องอะไรอีกตั้งมากให้ต้องวางแผน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ อาหารการกิน จิตใจ ลูกหลาน จิปาถะ แต่สังเกตดีๆ จะพบว่าถ้าขาดเงินแล้วล่ะก็ เรื่องอื่นแทบไม่ต้องวางแผนเลย เพราะถึงอย่างไรก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างติดขัดหมดแน่นอน ดังนั้น การ “จัดการเงินเป็น” เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับใช้จ่ายทั้งชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนจริงๆ เพราะ 3 เหตุผลหลักดังต่อไปนี้
1. คนมีแนวโน้มที่ต้องดูแลตัวเองยามเกษียณมากขึ้น
ครอบครัวตามอุดมคติแบบไทยแท้เลยคือ “ครอบครัวขยาย” ที่อยู่กัน ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน พร้อมหน้าพร้อมตา แต่ละคนก็ทำหน้าที่ตามบทบาทของตัวเองไป พอปั้นปลายหลังเกษียณ ก็อยู่บ้านเลี้ยงหลาน ให้ลูกๆ ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่เราจากโลกนี้ไปอย่างหมดห่วง...โลกสวยที่สุด แต่ในปัจจุบัน สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะมาก ครอบครัวมีขนาดเล็กลง มีลักษณะแบบครอบครัวเดี่ยวที่แยกออกมาอยู่กันต่างหากพ่อแม่ลูก พอลูกโตก็แยกออกไปมีชีวิตของตัวเอง หลายคู่ก็อยู่แบบไม่มีลูก ต้องคอยดูแลกันและกันยามแก่เฒ่า และมีอีกไม่น้อยที่ใช้ชีวิตคนเดียวแบบโสดๆ ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจก็ตาม ประกอบกับสังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า aging society จากตัวเลขของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ หรือ aged society นั่นคือจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมากกว่าจำนวนประชากรเด็กอย่างมีนัยสำคัญ แปลว่าผู้สูงอายุก็จะต้องพึ่งพิงตัวเองอย่างแน่นอน
2. อายุขัยเฉลี่ยของคนมากขึ้น
ณ วันเกษียณ ซึ่งบริษัทบางแห่งก็กำหนดไว้ที่อายุ 55 ปี บางแห่งก็ 60 ปี รายได้หลักของเราที่ได้รับเป็นประจำทุกเดือนก็จะหายไป ในขณะที่รายจ่ายสำหรับดำรงชีวิตยังคงมีอยู่ ซึ่งหากเราไม่ได้เตรียมเงินไว้อย่างเพียงพอแล้วล่ะก็สลดแน่ๆ เหมือนคำคมที่เคยมีคนว่าเอาไว้ “ที่สุดแห่งความเสียดาย คือตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด...ที่สุดแห่งความสลด คือใช้เงินหมด แล้วยังไม่ตาย”
ดังนั้น เงินที่เราสะสมเอาไว้จึงต้องพอใช้ตั้งแต่วันเกษียณจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 80 ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านสาธารณสุข หมายความว่าหลังจากวันเกษียณ เราต้องเตรียมเงินสำหรับใช้จ่ายไว้อย่างน้อยจนกระทั่งอายุ 80 ปี ถ้าเราเกษียณที่อายุ 55 ปี ก็ต้องมีเงินใช้อีกอย่างน้อย 25 ปี หรือถ้าเกษียณที่ 60 ปี ก็อย่างน้อย 20 ปี ถ้าใครสุขภาพแข็งแรง ดูแลตัวเองมาอย่างดี อาจจะมีอายุมากกว่านี้ไปอีก นี่ขนาดยังไม่ได้พูดถึงจำนวนเงินนะครับ แค่นี้ก็ตื่นเต้นจะแย่อยู่แล้ว
3. เงินเฟ้อ - ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
พูดภาษาบ้านๆ เลยก็คือของแพงขึ้นทุกปี ยกตัวอย่างชัดๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว สักช่วงปี 2500 ราคาชามละ 50 สตางค์ 1 บาท มาปี 2535 ก็ประมาณชามละ 20 บาท พิเศษ 25 บาท มาปัจจุบันนี่ เจอชามละ 40 บาทถือว่าราคาถูกมากแล้วนะครับ
คราวนี้ลองนึกดูว่า ณ วันที่เราเกษียณ ราคาก๋วยเตี๋ยวจะพุ่งไปที่เท่าไหร่ แล้วค่าใช้จ่ายอื่นๆ ล่ะ ไม่ว่าจะค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าน้ำค่าไฟ สารพัดสารพัน คือสมมติถ้าปัจจุบันคุณนึกไว้แล้วว่าจะใช้จ่ายในวันเกษียณเดือนละ 15,000 บาท พอ 30 ปีผ่านไปถึงวันที่เราเกษียณจริงๆ มันต้องมากกว่าที่คิดไว้แน่นอน จาก 3 เหตุผลข้างต้น น่าจะพอบอกได้แล้วนะครับว่าทำไมต้องจัดการเงินสำหรับเกษียณ จะเป็นคนแก่ที่มีความสุขหรือจะทุกข์จนกว่าจะตาย...คุณวางแผนได้ตั้งแต่วันนี้ เวลาเดินไวนะครับ ขอบอก...