คริปโทเคอร์เรนซี คือ

08 กรกฎาคม 2564
อ่าน 3 นาที

​​​คริปโทเคอร์เรนซี คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น หรือสิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ใช่เงินที่ธนาคารกลางใดในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย  (legal tender) คริปโทเคอร์เรนซีที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น Bitcoin Ethereum เป็นต้น​

ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (“พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ”) นั้น หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน จะนับเป็นคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหมด 
 
มูลค่า/ราคา ของคริปโทเคอร์เรนซี เกิดจากอะไร
ในปัจจุบันยังไม่มีภาครัฐของประเทศใดที่ให้การยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) ขณะที่ภาคเอกชนมีการยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสื่อกลางในหลายพื้นที่ เช่น เมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ถูกเรียกว่าเป็นเมืองหลวงแห่งบิตคอยน์ ที่มีร้านค้าจำนวนมากรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบิตคอยน์ เช่นเดียวกับเมืองแห่งเทคโนโลยีอย่างซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา รวมทั้งเมืองเทล อาวีฟ อิสราเอล ที่มีร้านค้าปลีกที่รับการใช้จ่ายด้วยบิตคอยน์ที่เห็นได้เป็นการทั่วไป นอกจากนี้ การยอมรับในระดับทางการก็มีในบางพื้นที่ เช่น รัฐโอไฮโอได้เปิดรับชำระภาษีนิติบุคคลด้วยบิตคอยน์ แต่อย่างไรก็ตามมีการประกาศปิดปรับปรุงระบบชั่วคราวอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ส่วนราคาที่เราเห็นในรูปของอัตราแลกเปลี่ยนตามศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) ทั่วโลกนั้น (1) เป็นเพียง “การตกลงยอมรับและการเชื่อในคุณประโยชน์” ของกลุ่มคนที่ถือครองและกลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีกับทรัพย์สิน สินค้า บริการ หรือแม้แต่กับคริปโทเคอร์เรนซีอื่นที่ตกลงแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น และ (2) ไม่ได้สัมพันธ์กับการขุดหรือการครอบครองแต่อย่างใด เพราะบางหน่วยนั้น แม้จะมีจำนวนอยู่ในความครอบครองของผู้ใดเป็นจำนวนมาก แต่หากไม่มีใครยอมรับ สิ่งที่มีนั้นก็ไร้ประโยชน์ 

ที่มาของการ “เทียบมูลค่ากับโลกจริง” ของบิตคอยน์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นคริปโทเคอร์เรนซีตัวแรกที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง อาจอ้างอิงจากเรื่องราว Pizza Challenge ก็ได้ 

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นในช่วงแรกของเครือข่ายบิตคอยน์ ซึ่งขณะนั้นบิตคอยน์เป็นเพียงการทดลองรับส่งข้อมูลในวงจำกัด จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 หนุ่มโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งซึ่งมีบิตคอยน์แต่ไม่มีเงิน ขอท้าแลก 10,000 BTC กับพิซซ่า 2 ถาด ซึ่งก็มีคนรับข้อเสนอดังกล่าว โดยซื้อพิซซ่า 2 ถาด ในสนนราคา 700 บาท ณ ตอนนั้นไปส่งให้คนท้า และรับ 10,000 BTC มา ซึ่งเมื่อหันกลับมาดู ณ ปัจจุบันคงบรรยายไม่ถูกเลยว่า พิซซ่า 2 ถาดนั้น มีราคาแสนแพงขนาดไหน และเพื่อเป็นที่ระลึกแก่เหตุการณ์ดังกล่าว ในวงการบิตคอยน์จึงกำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวัน Bitcoin Pizza Day ที่มักจะมีอีเว้นท์พิเศษออกมาเสมอ ๆ 
  
ส่วนในอนาคต คริปโทฯ จะถูกใช้ทดแทนเงินในปัจจุบันหรือไม่ อาจต้องย้อนกลับไปบรรทัดแรกของหัวข้อนี้ คือ คริปโทเคอร์เรนซี จะมีมูลค่าหรือราคาได้ ต้องมาจาก “การยอมรับและการเชื่อในคุณประโยชน์”
ก.ล.ต. กับการกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซี

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อมี พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อกำกับดูแลการระดมทุนโดยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย 
สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. วางหลักเกณฑ์กำกับดูแลใน 2 ด้านหลัก คือ           
(1) การออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล และ 
(2) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งรวมทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล

แม้ “คริปโทเคอร์เรนซี” และ “โทเคนดิจิทัล” จะเป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่วัตถุประสงค์การใช้งาน โดยคริปโทเคอร์เรนซีสร้างเพื่อเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน ส่วนโทเคนดิจิทัล สร้างเพื่อกำหนดสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการร่วมลงทุน (investment token) หรือสิทธิในการได้รับสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (utility token)
โดยประเภทของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในปัจจุบันประกอบไปด้วย ศูนย์ซื้อขาย (exchange) นายหน้า (broker) และผู้ค้า (dealer) ที่ปรึกษา (advisor) และผู้จัดการเงินทุน (fund manager) ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องมีคุณสมบัติ ระบบงาน และมาตรฐานการประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด เช่น 
  • กรรมการและผู้บริหารต้องได้รับความเห็นชอบและไม่มีลักษณะต้องห้าม
  • แหล่งเงินทุนเพียงพอ 
  • ความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงจากการโจรกรรมและการจู่โจมทางไซเบอร์ 
  • การรู้จักและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของลูกค้า 
  • มีมาตรการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือฟอกเงิน โดยถือเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย ปปง.