ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อดใจไม่ไหวกับความหวือหวาของราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งคริปโทเคอร์เรนซี (อย่างเช่น Bitcoin Ethereum และ XRP) และโทเคนดิจิทัล จนอยากจะโดดเข้ามาร่วมวง แต่ติดอยู่ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลสักนิดเดียว
นั่นเพราะ
สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ที่เราควรทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะลงมือ
“ซื้อขาย” ซึ่งเราสามารถหาความรู้ได้จากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ ถ้าจะให้แนะนำว่าจะหาความรู้จากไหนอย่างไร
อาจลองฟัง
“คริปโท 101” ซึ่งเป็นคอร์สออนไลน์ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทางเฟซบุ๊กเพจ Start-to-invest และเพจ สำนักงาน กลต. จัดทำโดย ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“ที่ปรึกษา & ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ช่วยได้
หากไม่มีเวลาศึกษาหาข้อมูล หรือลองดูแล้วไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดี อาจต้องมองหา “มืออาชีพ” มาช่วยให้คำแนะนำ เหมือนที่ตลาดหุ้นมีนักวิเคราะห์ ซึ่งอีกไม่นานตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะมี ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ช่วยให้ข้อมูล คำแนะนำ ความเสี่ยง และ “มูลค่า” ของสินทรัพย์ดิจิทัล ประเมินแนวโน้มราคาเป็นอย่างไร เพื่อให้เราใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเราต้องไปส่งคำสั่งซื้อขายเองกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอีกทีหนึ่ง
หรืออาจใช้บริการของ ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยผู้จัดการฯ จะทำหน้าที่บริหารจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับลูกค้ารายบุคคล ในลักษณะของการทำสัญญารับจัดการเงินทุน หากเราสนใจจะใช้บริการ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ก็ควรจะมีการให้ข้อมูล พูดคุยกับผู้จัดการฯ เพื่อจะได้ประเมินความต้องการและความเสี่ยงของเรา และตกลงหรือกำหนดนโยบายการจัดการเงินทุนร่วมกันว่าจะซื้อหรือขายในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดบ้างอย่างชัดเจนในสัญญา รวมถึงกำหนดสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจและสิทธิของลูกค้าหรือเราไว้ด้วย
ปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาคุณสมบัติและความพร้อมในด้านระบบงานและบุคลากร ของผู้ประกอบการที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ “ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาเสนอข้อแนะนำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการพิจารณาออกใบอนุญาต
“ที่ปรึกษา & ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ต้องขออนุญาตก่อนประกอบธุรกิจ
สำหรับผู้สนใจประกอบธุรกิจ ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และ ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตได้ที่ ก.ล.ต. โดยต้องมีคุณสมบัติ ต่อไปนี้
(1) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(2) มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว 1 ล้านบาทสำหรับที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และ 25 ล้านบาท สำหรับผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
(3) แสดงได้ว่าจะมีระบบงานที่มีความพร้อม
(4) ไม่มีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย
(5) บริษัท กรรมการ และ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่เคยมีประวัติเสียหาย
ขั้นตอนการพิจารณาจะมี 2 ขั้นตอน คือ ออกใบอนุญาต และขอเริ่มประกอบธุรกิจ
ออกใบอนุญาต : คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาเพื่อเสนอกระทรวงการคลังภายใน 90 วัน และกระทรวงการคลังพิจารณาออกใบอนุญาตภายใน 60 วัน
ขอเริ่มประกอบธุรกิจ : หลังได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องยื่นขอเริ่มประกอบธุรกิจภายใน 180 นับจากวันที่ใบอนุญาตมีผล
ส่วนใครที่กำลังทำธุรกิจที่เข้าข่ายตามคำนิยาม “ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยไม่ได้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตกับ ก.ล.ต. มีความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ผู้สนใจ หรือ มีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร. 1207 กด 9556, 9935, 9822 หรือ 6076 เพื่อความเข้าใจอย่างชัดแจ้ง และร่วมกันพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการซื้อขายและจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
.
“ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” คือ บุคคลซึ่งให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือที่เกี่ยวกับการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นทางค้าปกติ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทน
“ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” คือ บุคคลซึ่งเข้าจัดการเงินทุนหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะรับจัดการเงินทุนให้แก่บุคคลอื่น เพื่อแสวงหาประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ
___________________
อ้างอิงจากบทความ "มือใหม่สนใจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้ ที่ปรึกษา & ผู้จัดการเงินทุน ช่วยดูแล" โดยนางสาวชลธิดา ภักดีไทย ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงาน ก.ล.ต.