อย่างที่หลายท่านทราบกันนะครับว่า ในปี 2567 ตามข้อมูลเชิงสถิติพบว่ามีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบ
กำหนดชำระประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้
ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่ม AAA - A โดยส่วนที่เหลือเป็นตราสารหนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield
Bond) สัดส่วน 10% ซึ่งจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในปัจจุบัน อาจทำให้มีความกังวล
ต่อสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้บางกลุ่มอยู่บ้าง
ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน
ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ
สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในติดตามภาวะตลาดตราสารหนี้มาโดยตลอด เพื่อให้สามารถตอบสนอง
ต่อสถานการณ์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงและผลกระทบในวงกว้าง ตลอดจนกรณีที่
มีการผิดนัดชำระหนี้ก็จะกำชับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ดูแลรักษาผลประโยชน์ให้ผู้ลงทุน รวมถึงมีการสื่อสารกับ
ผู้ถือหุ้นกู้เช่น การออกข่าว บทความ ข้อมูลสำหรับคำถามที่พบบ่อย และเปิด“ศูนย์ข้อมูลหุ้นกู้” บนเว็บไซต์
ก.ล.ต. เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีแผนการพัฒนาระบบนิเวศในตลาดตราสารหนี้ทั้งระบบให้มีความเหมาะสมกับ
การเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดตราสารหนี้ ใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่
1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการออกและเสนอขายตราสารหนี้ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น
การเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) บริษัทผู้ออกต้องมีงบการเงินที่เป็นไปตาม
มาตรฐานเทียบเท่ากับงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน หรือเช่นเดียวกับการเสนอขายหลักทรัพย์
ต่อประชาชน
2. การปรับปรุงให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์
อย่างเพียงพอ และสามารถติดตามได้อย่างทันท่วงที เช่น ปรับเพิ่มข้อมูลอัตราส่วนทางการเงิน
(key financial ratio) ที่สำคัญเพื่อให้สะท้อนสภาพคล่องของกิจการ ปรับปรุงรายงานการใช้เงิน
และปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในการเสนอขายหุ้นกู้ที่มีเครดิตต่ำ
3. การสนับสนุนความรู้การลงทุนให้กับผู้ลงทุน และเพิ่มเครื่องมือในการปกป้องผู้ลงทุน รวมถึงการสร้าง
ความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิของผู้ลงทุน
4. การยกระดับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดตราสารหนี้ (gate keeper) เพื่อให้ทุกหน่วยงาน
สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ลงทุน เช่น เพิ่มคุณภาพและความ
รับผิดชอบในการทำหน้าที่ของตัวกลาง (underwriter) การจัดประเภทผู้ลงทุน การคัดเลือก
ผลิตภัณฑ์ลงทุน การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และคำแนะนำแก่ผู้ลงทุน ยกระดับการทำหน้าที่ของผู้แทน
ผู้ถือหุ้นกู้ แก้กฎหมายในการกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือและที่ปรึกษาทางการเงิน
หลายเรื่องในแผนพัฒนาระบบนิเวศตลาดตราสารหนี้ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และทำ focus
group รับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และคาดว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็น
จากประชาชนได้ในเร็วๆ นี้ ครับ
สำหรับผู้สนใจลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ควรต้องศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลของหุ้นกู้นั้น ๆ
ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้งนะครับ โดยศึกษาข้อมูลได้จากหนังสือชี้ชวน แบบสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet)
ข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และงบการเงิน เพื่อให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นของหุ้นกู้ว่า บริษัทผู้ออกเป็นใคร
อยู่ในอุตสาหกรรมใด หุ้นกู้ที่จะลงทุนมีลักษณะอย่างไร มีอายุและอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร มีหลักประกันหรือไม่
เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือไม่ เงินที่ระดมทุนได้จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด รวมถึงมีสถานะทางการเงินและ
อันดับความน่าเชื่อถือเป็นอย่างไร เพื่อประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองว่าสอดคล้องกับ
ลักษณะและความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่จะลงทุนหรือไม่ โดยสามารถดูข้อมูลได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Bond Check
หรือสแกน QR code ด้านล่างนี้
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ควรติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของ
ผู้ออกหุ้นกู้อย่างสม่ำเสมอ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และข้อมูลของบริษัท รวมถึงควรไปใช้สิทธิ
ในการประชุมที่บริษัทผู้ออกจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอมติในเรื่องสำคัญ และขอให้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ
ซึ่ง ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับจาก
การมีมติอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ ให้ชัดเจน พร้อมเหตุผลและความเห็น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้มีข้อมูลครบถ้วน
ประกอบการตัดสินใจออกเสียง หากมีข้อสงสัย ผู้ถือหุ้นกู้สามารถสอบถามผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้ครับ
**************************
จากบทความ "การพัฒนาระบบนิเวศตราสารหนี้ในประเทศไทย" โดยนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในคอลัมน์ "คุยกับ ก.ล.ต." นสพ.กรุงเทพธุรกิจ