ข้อมูลภายใน รู้แล้วต้องระวัง! ไม่นำไปใช้แบบผิดกฎหมาย

09 พฤษภาคม 2567
อ่าน 4 นาที



ตามที่สัญญากันไว้ในตอนที่แล้วนะครับว่า ครั้งนี้เราจะมาคุยกันเรื่องการนำ “ข้อมูลภายใน” ไปใช้ในทางมิชอบ
หรือมีการซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลภายในที่ล่วงรู้มา (Insider Trading) เพราะอาจเข้าข่ายเป็นการ
กระทำผิดตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ก.ล.ต. มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน
และผู้เกี่ยวข้องความผิด Insider Trading มาเป็นระยะ ๆ ทั้งการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง และ
ทางอาญาโดยการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกัน
และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพราะนอกจากจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ แล้ว ยังเป็น
ความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ

ก่อนอื่นมาทบทวนกันสักนิดว่า “ข้อมูลภายใน” นั้นหมายถึงข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชนเป็นการ
ทั่วไป ซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ ดังนั้น ข้อมูลที่เข้าข่ายเป็น
“ข้อมูลภายใน” จะเป็นไปได้หลายประเภท เช่น ผลการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นกำไรหรือขาดทุน รายได้ที่มี
ลักษณะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ การเข้าทำสัญญาหรือได้มาซึ่งโครงการขนาดใหญ่ การประกาศจ่ายเงิน
ปันผล การเพิ่มทุนหรือลดทุน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีที่สำคัญ

สำหรับ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีบทบัญญัติเพื่อจะคุ้มครองประชาชนโดยการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรม
เกี่ยวกับการซื้อขาย จึงได้กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในอาจเกิดได้ใน 2 ลักษณะ คือ การซื้อ
หรือขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (รวมทั้งเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับ
หลักทรัพย์นั้น) และ การเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น

ขณะที่ “ผู้กระทำผิด” สามารถเป็นบุคคลใด ๆ ก็ได้ซึ่งได้รับรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในและนำข้อมูลภายใน
ไปเปิดเผยกับบุคคลอื่น หรือเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ไว้เพื่อคาดหวังกำไรในกรณีข้อมูลภายในนั้นจะเป็นผลเชิงบวก
ต่อราคาหลักทรัพย์และการขายเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนในกรณีข้อมูลภายในนั้นจะเป็นผลเชิงลบต่อราคา
หลักทรัพย์

ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นผู้บริหารบริษัท XYZ ที่รู้ว่าบริษัทกำลังมีการเจรจาซื้อกิจการบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ
เผลอไปบอกข้อมูลนี้กับ นาย ข. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นในงานเลี้ยง เมื่อ นาย ข. รู้ข้อมูลนี้แล้วไปบอก นางสาว ค.
แล้วทั้ง นาย ข. และ นางสาว ค. รีบไปซื้อหุ้นบริษัท XYZ และหลังจากนั้นไม่กี่วันบริษัท XYZ แจ้งการลงนาม
บันทึกข้อตกลงการซื้อกิจการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในกรณีนี้นอกจาก นาย ก. จะเข้าข่ายเปิดเผยข้อมูลภายในแก่ นาย ข. แล้ว นาย ข. ก็เข้าก็เข้าข่ายเปิดเผย
ข้อมูลภายในแก่นางสาว ค. ด้วย นอกจากนี้ นาย ข และ นางสาว ค. เข้าข่ายมีความผิดจากการซื้อหลักทรัพย์
โดยใช้ข้อมูลภายในด้วย ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์บนข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยทั่วไป เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน
ที่ไม่ได้มีข้อมูลนั้น

นอกจากนี้ กฎหมายมีบทสันนิษฐานว่า กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงพนักงานและบุคคลที่อยู่ในฐานะที่
สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือคนใกล้ชิดที่มีการซื้อขายที่ผิดปกติวิสัยจากที่เคยทำ ก็จะถูกพิจารณาไว้ก่อนว่า
เป็นผู้ที่รู้และครอบครองข้อมูลภายใน หากบุคคลดังกล่าวมีการเปิดเผยหรือซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงที่มี
ข้อมูลภายใน อาจเป็นความผิด ซึ่งจะต้องมีหน้าที่ไปพิสูจน์ว่าไม่ได้นำข้อมูลภายในไปเปิดเผยหรือซื้อขาย
โดยใช้ข้อมูลภายใน อย่างไรก็ดี กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นที่ไม่เป็นการกระทำความผิด เช่น การปฏิบัติตาม
กฎหมาย คำสั่งศาล ตามภาระผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ทำไว้ก่อนที่จะรู้หรือครอบครองข้อมูล
ภายใน และการกระทำที่มิได้เป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อาจเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนจากการใช้
ข้อมูลภายในหรือไม่นั้น ก.ล.ต. พิจารณาจากรายละเอียด หลักฐาน ข้อเท็จจริงประกอบเป็นรายกรณีไป และ
เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแสดงพยานหลักฐานตามสิทธิอันพึงมี จากนั้นรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านด้วย
ความรอบคอบและรัดกุม โดยมีกระบวนการพิจารณาที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. มีความรอบคอบ รัดกุม เชื่อถือได้ และเป็นธรรมกับ
ผู้เกี่ยวข้อง

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งมีการบริหารจัดการข้อมูลภายใน เพื่อป้องกันการ
ใช้ข้อมูลของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของกรรมการและผู้บริหารบริษัท (ตามกฎหมายมีข้อสันนิษฐานว่า
กรรมการและผู้บริหารเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน) โดยกำหนดนโยบายและวิธีการดูแล
กรรมการและผู้บริหารเพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ โดยเฉพาะการซื้อขายหลักทรัพย์
ในช่วงอย่างน้อย 1 เดือนก่อนที่งบการเงินของบริษัทจะเผยแพร่ต่อสาธารณะชน (blackout period)
และเปิดเผยนโยบายนั้นไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และนอกจากมีนโยบายดังกล่าว
แล้ว บริษัทจดทะเบียนควรมีมาตรการในการติดตามดูแลการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดอีกด้วย
เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่าจะไม่มีการเอาเปรียบจากผู้ที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน การซื้อขายหลักทรัพย์
มีความเป็นธรรมต่อผู้ลงทุนทุกคน

ในท้ายนี้ ผมขอย้ำเตือนอีกครั้งนะครับ การที่กรรมการและผู้บริหารไม่เข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง
blackout period นั้น เป็นการปฏิบัติตามแนวทางที่ดีแล้วครับ อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่นอกช่วง blackout
period แต่หากกรรมการและผู้บริหารมีข้อมูลภายในที่ตนเองได้รู้หรือครอบครองอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถ
เข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ๆ ได้อยู่ดีเนื่องจากเป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่นในการซื้อขายเช่นกันครับ

                                                     **************************
จากบทความ "ข้อมูลภายใน รู้แล้วต้องระวัง! ไม่นำไปใช้แบบผิดกฎหมาย" โดยนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ในคอลัมน์ "คุยกับ ก.ล.ต." นสพ.กรุงเทพธุรกิจ