ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน : นับ 1 เริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม ดูให้ชัวร์ว่าของแทร่หรือแอบอ้าง

30 พฤษภาคม 2567
อ่าน 4 นาที



ไม่แผ่วเลยจริง ๆ สำหรับการหลอกลวงลงทุน ยิ่งมีเทคโนโลยีล้ำหน้าไปเท่าใด พัฒนาการหลอกลวงก็ยิ่งเนียนขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการหลอกลวงลงทุนผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ที่พบผู้เสียหายจำนวนมาก 
โดยสถิติการแจ้งเบาะแสไปที่ ก.ล.ต. ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ สายด่วนหลอกลงทุน 1207 กด 22 เว็บไซต์ www.sec.or.th/scamalert และอีเมล  scamalert@sec.or.th ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567  มีการร้องเรียนแจ้งแพลตฟอร์มออนไลน์หลอกลงทุนจำนวน 788 บัญชี ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการแจ้งปิดกั้นแพลตฟอร์มที่หลอกลงทุนแล้ว 773 บัญชี คิดเป็น 98.10%

“กองทุนรวม” เป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ถูกแอบอ้างมาใช้หลอกลวงให้ลงทุนบ่อย ๆ โดยมีการสร้างโฆษณาชักชวนลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย บางครั้งมีการคัดลอก (copy) เนื้อหาจากเพจจริงมาใช้จูงใจ พร้อมใส่โลโก้ของหน่วยงานในตลาดทุน จนทำให้คนหลงเชื่อคิดว่าเป็นของจริง ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
จะรู้ได้อย่างไรว่า เราได้ลงทุนกองทุนรวมที่ถูกกฎหมาย ไม่ถูกหลอก วันนี้ ก.ล.ต. จะมาติดอาวุธจุดสังเกตที่ต้องระวัง และอัปเดตมุกใหม่ของมิจฉาชีพที่จะใช้หลอกลวง

“คำเท็จ” ยอดฮิตที่ใช้หลอกลงทุน 

จากหน้าฟีดของใครหลายคนที่พบเห็นการยิงโฆษณา (ads) ชักชวนลงทุนในกองทุนประเภทต่าง ๆ สารพัดประเภท ลองมาเช็กกันไหมว่า โฆษณาหลอกลวงเหล่านี้ คุณเคยเห็นอันไหนมาบ้าง



มิจฉาชีพมักฉกฉวยช่องว่างของความไม่รู้ไม่เข้าใจ การไม่รู้ช่องทางลงทุน มาหลอกลวงให้ลงทุน หรือทัศนคติที่ว่าการลงทุนเป็นเรื่องของคนรวย มาชักชวนในลักษณะที่ทำให้รู้สึกว่า “ง่าย” เช่น
     - เริ่มต้น 1,000 กำไร 3,000  > เงินน้อย กำไรเร็ว ได้หลายเท่าตัว ในเวลาอันสั้น
     - เปิดพอร์ตง่าย คลิกแอดไลน์ > ช่องทางง่าย ลงทุนได้แค่พิมพ์แชต
     - ไม่รู้ไม่เป็นไร สอนให้ > ไม่ต้องมีความรู้ ก็มีกูรูสอนให้
     - กองทุนทองคำ กองทุนหุ้น SET50 ปันผลรายวัน > ได้ความรู้สึกเข้าถึงการลงทุนในตลาดทุนจริง ๆ

สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ คือ การลงทุนในปัจจุบันสามารถเข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะด้วยจำนวนเงินเริ่มต้นลงทุน ที่ไม่ถึงร้อยก็เริ่มลงทุนในกองทุนรวมได้ และช่องทางการลงทุนก็สะดวกผ่านแอปพลิเคชันและสาขา 

แต่...การลงทุนก็ไม่ได้ง่าย ถึงขนาดที่ไม่ต้องศึกษาอะไรเลย อย่างน้อยต้องรู้จักสิ่งที่เราลงทุนว่ามีโอกาสและความเสี่ยงอะไรบ้าง ซึ่งพื้นฐานสำคัญของการลงทุนที่ต้องรู้ก็คือ ให้ระวังการชักชวนที่อ้างผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น และหากยังการันตีผลตอบแทนสูงนั้นด้วย ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ไปข้องแวะด้วยจะดีที่สุด

“แอบอ้าง ปลอมแปลง” เพิ่มความแนบเนียนให้หลงเชื่อ

เมื่อพบเห็นหรือถูกชักชวนให้ลงทุน ไม่ว่าจะด้วยผลตอบแทนที่สูงเว่ออ ชัวร์เว่ออ หรือไวเว่ออ ก็ตาม เชื่อว่า หลายคนจะฉุกคิดขึ้นมาอัตโนมัติว่า นี่จริงหรือหลอก? 

ดังนั้น มิจฉาชีพจึงใช้เทคนิคสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการแอบอ้างภาพบุคคลที่มีชื่อเสียง นักลงทุนคนดัง ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้ภาพและอ้างชื่อผู้บริหาร ก.ล.ต. มาชักชวน ทักคุยผ่าน messenger และให้แอดไลน์ บ้างก็อ้างว่าเป็นโบรกเกอร์ที่เชี่ยวชาญในการลงทุน 

เท่านั้นยังไม่พอ มิจฉาชีพตอกย้ำความ “เนียน” ด้วยการแปะโลโก้ของบริษัท หน่วยงานในตลาดทุน รวมทั้งโลโก้ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปในโฆษณาชักชวนผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อจากการแอบอ้างปลอมแปลง โดยรู้ไม่เท่าทัน

สิ่งที่ต้องรู้ คือ ก.ล.ต. และผู้บริหาร ก.ล.ต. ไม่มีนโยบายชักชวนลงทุนรายผลิตภัณฑ์ใด ๆ แน่นอน หากพบเห็นการชักชวนลงทุน หรือใบ้หุ้นเด็ด หรือแอดไลน์ส่วนตัว ให้รู้ไว้เลยว่า “หลอกลวง!”


ตัวอย่าง โฆษณาหลอกลงทุนในกองทุนผู้สูงอายุแอบอ้างโลโก้ ก.ล.ต.


ระวัง AI ทำเนียน! ปลอมหน้าเหมือนคนดัง ทำคลิปชวนลงทุน

ความเนียนของมิจฉาชีพยังไปต่อ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence: AI) มาตัดต่อสร้างคลิปหลอกลวงแบบ deep fake นำใบหน้าของผู้บริหารในตลาดทุน หรือคนมีชื่อเสียงมาสวม และพูดชักชวนลงทุน ให้โหลดแอป แอดไลน์ โดยบอกว่าจะได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ

ล่าสุด มีผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ก็ถูกแอบอ้างใช้ใบหน้าไปทำ deep fake ทำคลิปหลอกลงทุน หากมองเผิน ๆ ไม่ได้สังเกต ก็เสี่ยงที่จะหลงเชื่อและอาจตกเป็นเหยื่อได้ โดยทางผู้บริหารท่านนี้ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีจากการกระทำดังกล่าวแล้ว

หากพบเห็นคลิปชักชวนลงทุนหรือเพจชักชวนลงทุนในลักษณะนี้ ควรระมัดระวังให้มาก และควรสอบถามไปยังผู้ที่ถูกแอบอ้างตัวจริง หรือต้นสังกัดที่ให้บริการ ก่อนหลงเชื่อตัดสินใจลงทุน


ตัวอย่าง โฆษณาหลอกลงทุนใช้ AI โคลนนิ่งผู้บริหาร บล. หลอกลงทุน


รู้ทัน 3 เส้นทางสู่การสูญเงินออนไลน์ 

  • แอดไลน์ จะมีหน้าม้าอ้างว่าเป็นนักเทรดหรือคนสอนลงทุนในกองทุน ชวนให้ลงทุนเริ่มต้นน้อย แล้วทำทีให้มีเงินเข้าบัญชีจริง จากนั้นจะให้ใส่เงินเพิ่ม ซึ่งอาจจะอ้างว่าเป็นโปรแกรมให้ลงเพิ่มให้ครบไม้ก่อน (ไม้ในที่นี้เป็นศัพท์เฉพาะกลุ่มซึ่งหมายถึงการแบ่งเงินลงทุนออกเป็นรอบ แต่ละรอบอาจมีมูลค่าไม่เท่ากัน) ก่อน จึงจะสำเร็จถอนเงินและกำไรได้ ซึ่งเมื่อหลอกเงินได้สำเร็จหรือเหยื่อรู้ตัวก็จะบล็อกช่องทางที่เคยติดต่อไป
  • โหลดแอปลงทุน (ปลอม) ซึ่งมักจะเป็นแอปเทรดหุ้น เทรดคริปโท หรือซื้อกองทุน ซึ่งมิจฉาชีพจะหลอกให้โอนเงินเข้าไปลงทุนในแอปนั้น ๆ แต่สุดท้ายจะถอนเงินไม่ได้
  • ลดแอปคุมหน้าจอ ในแบบ team viewer หรือแอปดูดเงิน โดยทำให้เข้าถึงมือถือและเห็นพฤติกรรมการใช้งาน รู้พาสเวิร์ดโมบายแอปลงทุนหรือแอปธนาคาร เมื่อเหยื่อไม่ทันรู้ตัวก็จะเข้าไปสวมตัวตนทำธุรกรรมบนมือถือจนเกิดความสูญเสียตามมา

​สรุป 5 จุดสังเกตรูปแบบการชักชวนที่ไม่น่าไว้วางใจ
     จุดแรก คือ ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงและการันตีผลตอบแทนนั้น 
     จุดที่ 2 สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการแอบอ้างชื่อคนมีชื่อเสียง โลโก้ บริษัท หรือองค์กรในตลาดทุน
     จุดที่ 3 เร่งรัดให้รีบตัดสินใจ บีบให้ไม่มีเวลาไตร่ตรอง 
     จุดที่ 4 เช็ก SEC Check First แล้วไม่พบว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาต
     จุดที่ 5 บัญชีที่ให้โอนเงินเข้าเป็นชื่อบุคคลธรรมดา

แต่เดี๋ยวก่อน! ตอนนี้มิจฉาชีพก็มาเนียนขึ้นไปอีก ซึ่งแอบอ้างหรือปลอมใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน แถมยังสร้างบัญชีที่เป็นนิติบุคคลเพื่อรับโอนเงินด้วย

แนะนำเช็กให้สุด! โดยสอบถามไปยังบริษัทที่ถูกแอบอ้าง หรือองค์กรที่บุคคลที่มีไลเซ่นส์นั้นสังกัดอยู่ว่า 
มีบริการลงทุนตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ โดยต้องโทรไปที่หมายเลขทางการของบริษัทนั้น ไม่โทรไปที่เบอร์ที่มิจฉาชีพแปะในโฆษณา ไม่เช่นนั้นถูกหลอกซ้ำได้อีก



 
รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อ ต้องเช็กเป็น และรู้ช่องทางลงทุนที่ถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบผู้ให้บริการลงทุนในกองทุนรวมได้  ซึ่งมีไลเซ่นส์ บลจ. บล. และ บลน.  ซึ่ง ก.ล.ต. ได้รวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้วที่นี่ https://insight-fund.sec.or.th/fund-provider/redemption-fund​  

เมื่อรู้ทันการชักชวนลงทุนในกองทุนรวมที่ไม่น่าไว้วางใจแล้ว จะเริ่มลงทุนต้องรู้อะไรบ้าง โปรดติดตาม