ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน : รู้จักตนเอง ก้าวแรกสู่การเป็นผู้ลงทุนที่มีศักยภาพ

27 พฤศจิกายน 2566
อ่าน 4 นาที


ในยุคที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลาย ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน
มากขึ้น ผู้ให้บริการทางการเงินต่างมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้บริการที่ดีแก่ผู้ลงทุนและประชาชนประกอบกับเทคโนโลยีด้านการบริการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ส่งผลให้การเข้าถึงการลงทุน
เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินทำได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงมักมีผู้แสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน
ที่เพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้บางคนก้าวเข้าสู่โลกการลงทุน โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือทำความเข้าใจกับลักษณะ
ของผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตนสนใจนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ส่งผลกระทบให้เกิดการลงทุนที่ไม่เหมาะสม 
ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระดับความเสี่ยงของตน และเมื่อผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
หรือต้องสูญเสียเงินลงทุน ก็ไม่สามารถทนรับต่อการสูญเสียได้ 

4 ตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ลงทุนให้สามารถเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมกับ
ระดับความคาดหวังผลตอบแทนและระดับการยอมรับความเสี่ยงของตัวผู้ลงทุนเอง และมีความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและซับซ้อน เพื่อโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนและการวางแผนกระจาย
ความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน ก่อนการตัดสินใจลงทุนกับผู้ให้บริการ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) นั้น คือ

  1. ​รู้จักเป้าหมายและวัตถุประสงค์การลงทุนของตนเอง ผ่าน กระบวนการทำความรู้จักกับลูกค้า (Know Your Customer หรือ KYC)  
  2. รู้จักระดับความเสี่ยงของตนเอง ผ่าน การประเมินความเสี่ยง Suitability Test 
  3. รู้ว่าตนเองเหมาะสมและเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน (ตราสารซับซ้อน) หรือไม่ ผ่านการทำแบบประเมินความรู้ความสามารถในการลงทุน (Knowledge Assessment) และการทำ Knowledge test สำหรับตราสารซับซ้อน
  4. รู้ว่าตนเองเป็นผู้ลงทุนประเภทไหน 

รู้จักเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการลงทุน ผ่านการทำ KYC : โดยผู้ลงทุนเจ้าของบัญชีจะให้ข้อมูลสำคัญต่อผู้ให้บริการ อาทิ วัตถุประสงค์ เป้าหมายในการลงทุน ตลอดจน ข้อมูลการประกอบอาชีพ แหล่งที่มาของรายได้ และสินทรัพย์อื่น ๆ (ถ้ามี) โดยผู้ให้บริการจะนำข้อมูลที่ได้รับเหล่านี้มาใช้เพื่อประเมิน และนำไปสู่การวางแผนและเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทางการลงทุนให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนต่อไป

การทำแบบประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยง หรือ Suitability Test : โดยจะประเมินผลจากข้อมูลในหลากหลายด้าน อาทิ สถานภาพและภาระทางการเงิน ระยะเวลาในการลงทุน ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดหวังและระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้หากต้องแลกกับโอกาสในการสูญเสียเงินลงทุนไป ตลอดจนระดับความรู้และประสบการณ์การลงทุน ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อมูลสำคัญ เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์การลงทุนหรือพอร์ตการลงทุนที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับตัวผู้ลงทุน ในการประเมิน Suitability Test นั้น ผู้ลงทุนควรประเมินตามความเป็นจริงและทำการประเมินอย่างน้อยทุก 2 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้มีข้อมูลเป็นปัจจุบัน เพราะจะช่วยให้ทราบถึงระดับการยอมรับความเสี่ยงของตนเองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

การทำ Knowledge Assessment : ในกรณีที่ผู้ลงทุนประสงค์จะลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน*  เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond หรือ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์”) หรือกองทุนรวมน้ำมัน ที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ เป็นต้น ผู้ขายจะสอบถามข้อมูลผู้ลงทุนเกี่ยวกับ คุณวุฒิทางการศึกษาหรือใบประกาศนียบัตรด้านการเงินการลงทุน ประสบการณ์การทำงานด้านการเงินการลงทุน ตลอดจนประสบการณ์ด้านการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน เป็นต้น เพื่อประเมินความเหมาะสมในการลงทุน รวมถึงการทำ Knowledge Test ก็จะเป็นตัวช่วยที่ดีที่ช่วยให้ผู้ลงทุนรู้ว่า ตัวเรามีคุณสมบัติเหมาะกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูงได้จริงหรือไม่

การรู้ว่าเราเป็นผู้ลงทุนประเภทใด ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เพราะปัจจุบัน ผู้ลงทุนต้องการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าการฝากเงิน ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจต้องการเงินทุนมาใช้ในการขับเคลื่อนกิจการ ผลิตภัณฑ์การลงทุนจึงมีหลากหลายมากขึ้น มีความเสี่ยงตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก โดยเมื่อไหร่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น โอกาสได้รับผลตอบแทนก็มากขึ้น (high risk, high expected return) ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย และภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้ด้วยกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนลง จึงเกิดหลักการในการจัดประเภทผู้ลงทุน กล่าวคือ ผู้ลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน มีความมั่งคั่งมากพอ สามารถดูแลตัวเองและยอมรับผลที่จะเกิดหากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังได้มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไป

ปัจจุบัน ได้มีการแบ่งประเภทผู้ลงทุนเป็น (1) ผู้ลงทุนสถาบัน (2) ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth : UHNW) (3) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth : HNW) และ (4) ผู้ลงทุนรายย่อย (Retail Investor) โดยผู้ลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ สถาบันการเงินต่าง ๆ ถือเป็นผู้ที่มีความชำนาญ ความรู้ความสามารถเรื่องการลงทุน สามารถดูแลตัวเองได้ ส่วน UHNW และ HNW จะถูกกำหนดนิยามตามกฎหมายว่า ต้องมีรายได้และสินทรัพย์ตามที่กำหนด และต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน**  โดยคาดหวังว่าผู้ลงทุนดังกล่าวสามารถที่จะเข้าใจ และสามารถดูแลตัวเองและยอมรับความเสี่ยงที่สูงได้มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไป  ด้วยหลักการนี้ ผู้ลงทุนสถาบัน UHNW และ HNW จึงมีทางเลือกในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนและมีความเสี่ยงสูงและซับซ้อนได้มากขึ้น 

ดังนั้น ก่อนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ ผู้ขายจะต้องจัดกลุ่มประเภทลูกค้า เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าสามารถลงทุนได้ โดยแบ่งประเภทลูกค้าที่สามารถดูแลตัวเองได้และสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากที่สุดไปจนน้อยที่สุด เรียงลำดับตามตัวอย่าง เช่น การเสนอขายหุ้นกู้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน / UHNW  สามารถเสนอขายได้โดยไม่มีเงื่อนไขในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ เป็นต้น  และเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าเป็นกลุ่มใด ผู้ขายต้องตรวจสอบคุณสมบัติของลูกค้าจากข้อมูลที่ได้รับจากลูกค้าหรือข้อมูลที่ผู้ขายมีอยู่ และอาจขอเอกสารข้อมูลสินทรัพย์อื่น ๆ เพิ่มเติมจากลูกค้าได้ เช่น โฉนดที่ดิน บัญชีเงินฝากธนาคาร เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณาคุณสมบัติ และตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวเท่าที่สามารถกระทำได้ (best effort) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องตระหนักว่า การที่เรามีสิทธิที่จะลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงมากขึ้นนั้น เป็นเพราะเราเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่สามารถดูแลตนเองได้มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไป จึงสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีการผ่อนปรนเกณฑ์การกำกับดูแล ทั้งผู้ลงทุนและผู้ขายจึงต้องให้ความสำคัญในการจัดกลุ่มประเภทผู้ลงทุนให้มาก 

เพราะการลงทุนที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด แต่เป็นการลงทุนที่ผู้ลงทุนมีความรู้และเข้าใจว่ากำลังลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด โอกาสได้รับผลตอบแทนมาจากอะไร และมีความเสี่ยงอย่างไร สอดคล้องกับระดับที่ตัวเองยอมรับได้หรือไม่ และที่จะขาดไปไม่ได้คือ ควรมีการกระจายการลงทุน (Diversification) ในสินทรัพย์ที่หลากหลายตามสัดส่วนที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ลดหลั่นกันไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้พอร์ตการลงทุนเสียหายจากการปรับตัวลงของสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งมากจนเกินไปในยามที่เกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด


                                         ________________________________

หมายเหตุ :

* ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน เช่น หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade bond), หุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond), หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง, สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น โดยนิยามผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน เป็นไปตามประกาศประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทลธ. 5/2560
​** ตัวอย่างคุณสมบัติด้านความรู้หรือประสบการณ์และฐานะการเงิน เช่น มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน หรือได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรตามประกาศสำนักงาน และ มีสินทรัพย์สุทธิไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท สำหรับกรณีผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) หรือไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท สำหรับกรณีผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ทั้งนี้ รายละเอียดของนิยามและคุณสมบัติ เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 39/2564  

​​​