ไม่ใช่แค่การลงทุนเพื่อวัยเกษียณ แต่คือการออกแบบชีวิตที่มีคุณภาพจนถึงวันสุดท้าย

21 พฤศจิกายน 2567
อ่าน 5 นาที



ชีวิตของคนเราคือความไม่แน่นอน เราทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องเจอกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ที่เกิดกับตัวเอง เรื่องที่เกิดกับคนในครอบครัว ไปจนถึงสภาวะต่าง ๆ 
ที่เกิดขึ้นในสังคมและโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิษเศรษฐกิจ โรคระบาด ภัยธรรมชาติ หรือสงคราม 
นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า แม้ว่าเราจะวางแผนหรือเตรียมตัวไว้มากขนาดไหน แต่เราก็ไม่สามารถป้องกัน
ความเสี่ยงทั้งหมดได้อยู่ดี สิ่งที่เราทำได้คือการบริหารจัดการและวางแผนชีวิตเพื่อที่จะลดความเสี่ยง
โดยเริ่มจากสิ่งที่เราควบคุมได้ง่ายที่สุดนั่นก็คือ ‘ตัวเอง’  

การเลือกที่จะทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นหนึ่งในวิธีลดความเสี่ยงสำหรับ ‘ใหม่’ ธนารัตน์ สุวรรณศรี วัย 50 ปี ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) แม้ชีวิตเขาจะเติบโตมาจากครอบครัวข้าราชการ แต่เขากลับไม่เคยคิดว่าอยากทำงานรับราชการเลยสักนิด หลังจากไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ ก็ตั้งใจว่าจะกลับมาทำงานด้านกฎหมายในบริษัทเอกชน แต่ด้วยคำขอจากพ่อ
ที่อยากให้ลูกมีสวัสดิการและชีวิตที่มั่นคง ก็เลยตกลงพบกันครึ่งทางที่การเลือกทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพราะเขาคิดแล้วว่าอย่างน้อย ๆ การอยู่ตรงนี้ก็ได้ทำให้พ่อเบาใจมากขึ้น และเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพของตัวเองและครอบครัวจากสวัสดิการที่ได้รับจากองค์กรด้วย





เริ่มสนใจเรื่องการลงทุนเพราะอยากจัดการกับความเสี่ยง

“ตอนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ มีช่วงที่จะต้องทำวิจัย ตอนแรกก็คิดไม่ออกว่าจะทำเรื่องอะไรดี พอดีมีเพื่อนแนะนำให้ทำเรื่อง Good Governance (การจัดการในบริษัทที่ดี) พอเราทำเรื่องนี้มันก็ต้องเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการบริหารด้วย มันก็เลยทำให้เราไปเจอเคส Enron หรือ เคสบริษัทพลังงานสัญชาติอเมริกาที่มันล้มละลายและส่งผลกระทบอย่​างหนักต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ..

จากนั้นเราก็เริ่มมองเรื่องการลงทุน และสนใจว่าฝรั่งเขามีแนวคิดกันอย่างไร เพราะช่วงนั้นคนยุโรปเขาเริ่มมีการวางแผนทางการเงินกันแล้ว แต่คนไทยกลับยังไม่ค่อยตื่นตัวในเรื่องนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก็ยังมีไม่หลากหลาย แต่ฝรั่งเขาเห็นและทำกันเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เราก็เลยคิดว่าเราน่าจะต้องเริ่มวางแผน และเราเริ่มเรียนรู้แล้วว่าการลงทุนมันคือการบริหารความเสี่ยง..

ปี 2549 เรากลับมาจากเรียนต่อที่ต่างประเทศและบรรจุเข้าทำงานใน กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) เราเริ่มซื้อหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ก่อน อีกส่วนก็แบ่งฝากธนาคารไว้ พอทำงานไปได้สักพัก
ก็คิดว่าเราพอมีความรู้เรื่อง Good Governance เข้าใจหุ้นพอควร อ่านงบการเงินพอได้ เลยตัดสินใจเริ่มลงทุนหุ้น จำได้ว่าหุ้นตัวแรกที่ซื้อ คือ บ้านปู ซื้อตอนมันราคา 30 บาท ปรากฏมันขึ้นไป 50 บาท ใช้เงินลงทุนหลักหมื่น แต่ได้กำไรกลับมาเกือบ 100%”  




เริ่มวางแผนจริงจังเพราะเคยพังแล้ว

“จุดเริ่มต้นในการศึกษาและวางแผนเรื่องการลงทุนอย่างจริงจังมันเกิดจากการเจ๊ง หรือการขาดทุน ซึ่งมันคือจุดด้อยที่เกิดจากการที่เราประเมินตัวเองผิด ตอนนั้นพอได้เงินโบนัสจากการทำงานมาก็เอาไปซื้อหุ้น เพราะคิดว่ามันมีโอกาสงอกเงยมากกว่าการฝากไว้เฉย ๆ พอได้กำไรจากหุ้นตัวแรก เราก็เริ่มมองหุ้นตัวที่มันหวือหวามากขึ้น..
 
มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราซื้อหุ้นตัวหนึ่งไว้ค่อนข้างเยอะซื้อไว้ที่ราคา 7 บาท ตั้งเป้าว่าจะขายตอนราคา 9 บาท แต่พอมันขึ้นไปประมาณ 8.50 บาท เราว่าจะขาย แต่ขายไม่ทัน หลังจากนั้นมันดิ่งลงเรื่อย ๆ ไปจนเหลือแค่ 1.50 บาท ก็เลยเริ่มมาคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น และศึกษาเรื่องการลงทุนจริงจังมากขึ้น” 




รู้ให้รอบด้าน

“เราเริ่มศึกษาจากเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ทางด้านการเงินการลงทุน พูดคุยกับคนรู้จักที่เขามีความรู้ทางด้านการลงทุน และเพื่อน ๆ ที่อยู่ในวงการการเงิน” เมื่อเราถามต่อว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เราได้มานั้นน่าเชื่อถือ เขาบอกว่า “ด้วยความที่เราเป็นนักกฎหมาย เราจะไม่ฟังความข้างเดียว หลักการของเราคือต้องฟังหลาย ๆ ด้านบนวัตถุประสงค์เดียวกัน เพราะกฎหมายสอนเสมอว่าอย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะเห็นพยานหลักฐาน เราจะไม่ตัดสินตามกระแสหรือความรู้สึก เช่น ถ้ามีคนบอกว่าหุ้น X ดีนะ เราก็จะไปถามอีกคนหนึ่งต่อ ถ้าเขาบอกว่ามันดีเหมือนกัน เราก็จะไม่ฟังเยอะเพราะคนก่อนหน้านี้บอกเราไปแล้วว่าหุ้น X มันดีอย่างไร แต่ถ้าไปถามแล้วเขาบอกว่าให้ระวังนะ หุ้น X มันมีจุดด้อยแบบนั้น แบบนี้ เราก็จะไปฟังคนที่สามต่อ.. 

เราฟังค่อนข้างเยอะ เพราะเรายึดหลักการที่ว่า ‘ธุรกิจใดก็ตามที่หาความเสี่ย​งไม่เจอห้ามลงทุน’  เพราะมันอันตรายมาก เราจะลงทุนต่อเมื่อเราเจอความเสี่ยงและรู้ว่าจะบริหารมันอย่างไร และถ้าบริหารแล้วความเสี่ยงมันยังไม่หมด เราจะรับความเสี่ยงอย่างไรต่อ”

 


แผนการลงทุนที่ดีต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทในชีวิต

“แผนของเราคือ ใน 100% เราต้องกันเงินไว้เป็น Dead Stock คือเก็บแล้วอย่าไปยุ่งกับมัน เพราะมันเป็นเงินที่เราจะต้องใช้ตอนเกษียณ ซึ่งก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ 30% อีก 20% คือการซื้อหุ้น แล้วบริหารจัดการพอร์ตด้วยตัวเอง..

พอใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ระหว่างทางที่เราลงทุนมันมีความเสี่ยงในชีวิตที่ต้องบริหารเพิ่ม คือ เรามีครอบครัว เป้าหมายที่เราตั้งไว้อาจจะไม่พอ เราก็เลยตัดสินใจขายหุ้นแล้วนำเงินส่วนนั้นไปลงทุนเปิดร้านทำเล็บให้ภรรยาตั้งใจว่า ถ้าได้กำไรกลับมาก็จะเอาเงินส่วนนี้กลับไปซื้อหุ้นใหม่.. 

เราต้องคอยปรับพอร์ตการลงทุนของเราและประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในชีวิต ถ้าถามว่าเมื่อไรที่เราควรกลับมารีเช็กแผนของตัวเอง ก็คือเมื่อรายได้กับความอยากที่มีมันไม่สมดุล ก่อนหน้าที่จะมีครอบครัว เราอยู่คนเดียว เราก็แบ่งเงินลงทุนของเรา 30% กับ 20% ตามที่บอกไว้ข้างต้น ส่วนอีก 50% เราก็เอามาใช้จ่าย..
 
ตอนนี้เริ่มคิดแล้วว่าเงิน 20% น่าจะไม่พอ อาจจะต้องปรับพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 30%-40% ซึ่งแปลว่าเงินที่เราจะใช้จ่ายนั้นจะถูกปรับลดลงจาก 50% เหลือ 30% เพราะเราย้าย 20% ที่เราเคยใช้จ่ายไปลงทุนเพื่อบริหารครอบครัว”
 



‘ล้านเหรียญ’ เพื่อเกษียณอย่างมีความสุข 

“เราคิดว่าในอนาคตเราจะต้องมีเงินใช้อย่างต่ำเดือนละ 100,000 บาท หรือประมาณ 1,200,000 บาทต่อปี คำถามต่อไปคือแล้วเราจะมีชีวิตอยู่สักกี่ปี สำหรับเราคิดว่าจะอยู่ไปจนถึงอายุ 80 ปี ก็หมายความว่าเราต้องมีเงินประมาณ 20 ล้าน และต้องเผื่อค่าใช้จ่ายที่ใช้ตอนเจ็บป่วยแยกออกไปอีกประมาณ 5-10 ล้านบาท เพราะถ้าเจ็บป่วยเราก็อยากได้คุณภาพการรักษาที่ดีด้วย นั่นหมายความว่าเราต้องมีเงิน 30 ล้านบาทก่อนเกษียณ หรือเท่ากับ 1 ล้านเหรียญของฝรั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้บวกค่ากะปิ พริก น้ำปลาที่จะขึ้นมา 30% หรือค่าเงินเฟ้อแล้ว..

ในเงินก้อน 30 ล้านมีเงินก้อนหนึ่งที่เรายังหมุนมันได้อยู่ นั่นก็คือเงิน 10 ล้านที่เราเผื่อไว้สำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลตอนเจ็บป่วย เพราะถ้าเราดูแลร่างกายดี เราก็สามารถนำเงินส่วนนี้ไปบริหารค่ากะปิ พริก น้ำปลาได้อีก

ตอนนี้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จไปประมาณ 30% แล้ว อีก 70% ที่เหลือคิดว่าสามารถทำได้ภายในเวลา 10 ปีที่เหลืออยู่ เพราะระบบตลาดทุนเอื้อให้เราอยู่แล้ว ยิ่งเรามีเงินเยอะ เรายิ่งต่อยอดได้มากขึ้น นอกจากเงิน 30 ล้านตามเป้าหมาย เราต้องเตรียมทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มันสามารถเปลี่ยนเป็นเงินกลับมาให้เราได้ในอนาคตด้วย”


ลดกิเลส เพิ่มแหล่งหารายได้ กระจายความเสี่ยง 

“สำหรับเราความเสี่ยงที่สุดในการลงทุนคือ กิเลสของตัวเอง ซึ่งเราสามารถควบคุมมันได้ด้วยสติ ยกตัวอย่างเช่น พอเรามีครอบครัว บ้านก็ต้องใหญ่มากขึ้น หรือวิถีชีวิตของเราที่เราเคยไปเจอเพื่อนเดือนละ 10 ครั้ง ถ้าเราปรับให้เหลือ 5 ครั้ง นั่นก็คือการลดกิเลสลง ท้ายที่สุดสิ่งที่กระทบกับการลงทุนมากที่สุดก็คือการกระทำของเรา..

ความเสี่ยงถัดมาคือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศและโลก มันกระทบกับเราแน่นอน เช่น เราลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วหุ้นมันตก มูลค่ามันน้อยลง พอเราเริ่มเห็น เราก็ต้องกระจายการลงทุนมากขึ้น เช่น ลงทุนในสิ่งที่เศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบน้อยที่สุด นั่นก็คือ ซื้อทอง เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดีราคาทองจะขึ้น.. 

ต่อมาคือ การทำที่ดินที่เรามีอยู่ให้มีมูลค่ามากขึ้น ตอนนี้เราเริ่มทำแล้วคือลงทุนปลูกกล้วยในที่ตัวเองกับพี่ชายแล้วให้ญาติเอากล้วยไปอบขายต่อ เรารู้แน่นอนอยู่แล้วว่าถึงอย่างไรสภาวะเศรษฐกิจโลกมันก็ส่งผลกระทบกับการลงทุนและชีวิตของเรา เราก็ต้องเพิ่มแหล่งหารายได้ให้มากขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่มันจะเกิดขึ้น”

 


ไม่ใช่แค่เตรียมแผนเกษียณแต่เตรียมไปจนถึงแผนชีวิตในวันสุดท้าย

“สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ในวันนี้ คือ ระวังไม่ให้ตัวเองป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน สโตรก (โรคเกิดจากพฤติกรรมของเราเอง) ส่วนโรคมะเร็งจะควบคุมได้ยากหน่อยเพราะมันขึ้นอยู่กับเราส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของโชคชะตา.. 

เราอยากตายอย่างสงบที่สุด และเจ็บปวดน้อยที่สุด เราก็พยายามวางแผนชีวิตให้ไปถึงจุดนั้น ควบคุมในส่วนที่เราควบคุมได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือกินของที่ไม่มีสารพิษ กินของที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พยายามนอนไม่เกิน 5 ทุ่มครึ่ง และบริหารจัดการความเครียดของตัวเองให้ดี ซึ่งสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือการออกกำลังกาย..

สำหรับการบริหารจัดการชีวิตสำหรับคนรอบข้าง เราก็เตรียมการไว้แล้ว คือ เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและในสหกรณ์ออมทรัพย์จะยกให้ภรรยา ส่วนที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ ครึ่งหนึ่งจะเป็นของภรรยา อีกครึ่งหนึ่งแบ่งให้ทายาท..

ส่วนเรื่อง Living Will หรือ หนังสือเกี่ยวกับเจตนาแสดงการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ตั้งใจว่าจะเขียนไว้ให้เป็นลายลักษณ์อักษร ตอนนี้ก็คุยกับภรรยาและญาติ ๆ ไว้บ้างแล้ว วันหนึ่งถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นมา เราก็ตั้งใจไว้ว่าไม่ประสงค์จะให้ยื้อชีวิต ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ”

 


ภาพชีวิตในวัยเกษียณ 

“เรามีความฝันว่าอยากเกษียณจากการทำงานก่อน 60 ปี ถ้าเราไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้ก่อนเกษียณ เราจะเออร์ลี รีไทร์จากงานประจำ แล้วไปเปิดสำนักงานทนายความเล็ก ๆ ของตัวเอง เพื่อให้มีตัวกระตุ้นไม่ให้ชีวิตมันรู้สึกเหี่ยวเฉา ไปออกกำลังกายด้วยการตีกอล์ฟแบบที่ตัวเองชอบ กลับไปอยู่กับธรรมชาติ 
ปลูกพืชที่เราอยากกิน ไปดูโลกกว้าง ไปท่องเที่ยว ไปเจอผู้คนหลากหลาย เพราะเราอยากมีเพื่อนกินเยอะ ๆ ยังไม่อยากมีเพื่อนตาย.. 

ถ้าเกษียณไปแล้ว สิ่งที่เราจะลดแน่ ๆ คือ ภาษีสังคม เพราะสังคมของเราก็จะเล็กลง ลดความอยากของตัวเอง ลดการซื้อของที่ไม่จำเป็น ส่วนเรื่องการลงทุน พอกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหมดก็คิดว่าจะเปลี่ยนมาซื้อกองทุนรวม แต่ก็จะยังไม่หยุดเล่นหุ้น แต่จะซื้อในจำนวนที่เราลงทุนไปแล้วจะไม่เสียใจ เรามองว่าการลงทุนมันไม่มีจุดจบ และอยากเรียนรู้มันไปเรื่อย ๆ”

 


การลงทุนไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่คือทุกเรื่องในชีวิต

“นับตั้งแต่เราเกิดจนเราตาย เราอยู่กับความเสี่ยง แต่เราจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร ถ้ามันเป็นความเสี่ยงที่เราบริหารมันไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับและอยู่กับมันให้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องทำแน่ ๆ เพื่อบริหารความเสี่ยงก็คือการลงทุน

การลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อย ๆ  ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากมาย เราอาจจะเริ่มลงทุนจากสิ่งที่ง่าย ๆ ก่อนก็ได้ เช่น ค้นว่าธนาคารไหนให้ดอกเบี้ยเงินฝากมากที่สุดก็เอาเงินไปฝากที่นั่น บางครั้งเราลงทุนกัน
ทุกวันอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่ามันคือการลงทุน อย่างเราปลูกพริก เราก็คิดว่ามันคือการลงทุน เพราะเราปลูกด้วยเงินทุน 5 บาท เราก็หวังว่าเราจะไม่ต้องเอาเงินไปซื้อพริกที่ตลาดอาทิตย์ละ 10 บาททุกอาทิตย์ นั่นก็แปลว่าเราประหยัดไปแล้ว 40 บาทต่อเดือน หรือการลงทุนอีกอย่างง่าย ๆ ก็คือการลงทุนในสุขภาพ สำหรับเราการลงทุนมันคือสิ่งที่เชื่อมโยงกับชีวิตทั้งหมดของเรา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่ตลอดเวลา” 



 
สำรวจทุนชีวิตแล้วค่อยคิดเรื่องลงทุนเงิน

อย่างที่บอกไปแล้วว่าชีวิตคือการลงทุน เรายังไม่จำเป็นต้องไปคิดหรอกว่าจะเอาเงินไปทำอะไรเพื่อให้มันพอกับการใช้ชีวิต แต่เราควรเริ่มคิดก่อนว่าเราจะอยู่แบบไหนตอนที่เราเกษียณ ตั้งต้นจากตรงนั้นแล้วมันจะทำให้เรากำหนดแผนการลงทุนต่อไปได้ ยังไม่ต้องไปคิดเรื่องเงิน ให้คิดเรื่องตัวเองก่อน ขอแค่ดีไซน์ชีวิตของตัวเองให้ได้ เราก็จะเกษียณอย่างมีความสุข

สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นลงทุนควรเริ่มจากธุรกิจที่ตัวเองคุ้นเคยมากที่สุดก่อน ถ้าเราเป็นชาวนาเราก็ต้องเลือกลงทุนในกลุ่มข้าว อย่างเราเป็นนักกฎหมายพลังงาน เราก็เลือกลงทุนในธุรกิจพลังงาน แล้ววันหนึ่งถ้าเราเรียนรู้จากความคุ้นเคยที่เรามีแล้ว เราจะเพิ่มการลงทุนในสาขาอื่น ๆ ก็ได้ แต่ขอให้เลือกในสิ่งที่เราคุ้นเคยก่อน เพราะมันง่ายที่สุดที่จะทำให้เราจะเข้าใจในการลงทุน

“ไม่มีอะไรช้าเกินไป สิ่งแรกที่เราควรทำ คือ ปรับชีวิตของเราก่อน ต่อให้เกษียณไปแล้ว เพิ่งมาเริ่มคิดก็ยังทัน เริ่มจากการปรับชีวิตของตัวเองก่อนว่า บนต้นทุนที่เรามีนั้น เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข กำหนดชีวิต
ที่เราควบคุมได้ แล้วค่อยเริ่มหาวิธีการลงทุนที่เหมาะกับชีวิตของตัวเอง” 

​​                                      *********************************************​​​