“สิ่งที่ผมอยากบอกคนอื่น ๆ คือ แม้ผมจะเคยล้มเหลวด้านการเงิน เป็นหนี้เป็นสินจนหาทางออกให้ชีวิตแทบไม่เจอ แต่ก็ยังกลับมาได้ ความผิดพลาดในวันนั้นเป็นบทเรียนที่สอนให้รู้ว่าการวางแผนการเงินนั้นสำคัญมาก ควรเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานเลยด้วยซ้ำ”
มนุษย์ต่างวัยชวนพูดคุยกับคุณแป๊ะ- อนุชา บุรเทพ วัย 57 ปี ผู้จัดการบริษัทเอกชนใน จังหวัดระยอง ในอดีตเขาเคยประสบปัญหาทางการเงิน เพราะขาดการวางแผนที่ดีจนกลายเป็นหนี้บัตรเครดิตยอดเงินหลายแสนบาท
ประสบการณ์ของเขาน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้ว่า การเป็นหนี้บัตรเครดิตและคิดเพียงการชำระดอกเบี้ยขั้นต่ำนั้น จะนำไปสู่การพาตนเองวนเวียนอยู่ในวงจรของหนี้สินจนแทบจะหาทางออกไม่ได้
หนี้บัตรเครดิต 5 ใบ และการชำระขั้นต่ำ
“ผมเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี 2532 ชีวิตการทำงานก็เหมือนคนทั่วไป พอมีครอบครัวก็เริ่มผ่อนบ้าน ตอนนั้นปี 40 ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า ยุคต้มยำกุ้ง เราต้องการจะซื้อบ้าน ก็เลยไปหาสินเชื่อจากธนาคารแต่ก็ไม่มีที่ไหนอนุมัติ แต่เราก็ไม่ลดละความพยายาม ไปหาธนาคารที่ยอมปล่อยสินเชื่อจนได้ แต่ตอนนั้นปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยลอยตัว 21% ทำให้แผนการเงินตอนนั้นผิดแผนทันที เพราะผมวางแผนว่าไม่ต้องส่งดอกเยอะ พอเจอดอกเบี้ยลอยตัวการเงินก็เริ่มช็อตนับตั้งแต่ตอนนั้น..
ตอนนั้นผมทำงานกับภรรยา 2 คน มีรายได้รวมกันประมาณ 30,000 บาท แต่พอสิ้นเดือนต้องนำเงินไปผ่อนบ้านเดือนละ 23,000 บาท ทำให้เงินที่เหลือไม่พอต่อการใช้ชีวิต เพราะต้องดูแลคนในครอบครัวถึง 4 คน พอต้องผ่อนเยอะ การเงินก็เริ่มมีปัญหา รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เลยต้องไปรูดบัตรเครดิตเพื่อใช้จ่ายแทน พอรูดบัตรเครดิตแล้ว แทนที่พอถึงสิ้นเดือนเราจะเอาเงินไปเคลียร์หนี้บัตรให้หมด แต่กลับจ่ายแค่ 10% เป็นการจ่ายขั้นต่ำ ทำแบบนี้อยู่ได้สักระยะวงเงินบัตรเครดิตก็เริ่มเต็ม ก็เลยต้องไปทำบัตรใบที่ 2 ใบที่ 3 แถมยังมีบัตรกดเงินสดอีก รวม ๆ แล้วตอนนั้นประมาณ 5-6 ใบ..
ผมอยู่ในวังวนของการใช้เงินแบบนั้นกว่า 6 ปี เอายอดใหม่มาโปะยอดเก่า แล้วก็จ่ายขั้นต่ำ จากบัตรเครดิต 1 ใบ ที่มีวงเงินประมาณ 50,000 บาท ก็เพิ่่มเป็น 5 ใบ ทำให้มีหนี้สินรวมประมาณ 300,000-400,000 บาท ผมเลยคิดว่าไม่ได้แล้ว เราอยู่แบบนี้ไปตลอดคงไม่ไหว รู้สึกเหนื่อยกับการที่ต้องวิ่งผ่อนบัตรเครดิต ตอนนั้นก็ได้ขอคำปรึกษาจากผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินของธนาคาร เพื่อให้เราไม่หลงทาง เพราะถ้าเราไม่มีความรู้ บางอย่างแก้เอง อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากความรู้ด้านการเงินเรามีน้อย และกลัวมิจฉาชีพมาหลอกให้เสียเงินเพิ่มอีก”
“ผมเลยตัดสินใจว่าจะต้องเริ่มวางแผนปลดหนี้ให้หมด ผมเริ่มลิสต์ออกมาให้หมดว่ามีหนี้สินอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ และวางแผนว่าจะจัดการหนี้ให้หมดภายในกี่ปี ผมคิดจากพื้นฐานง่าย ๆ ว่าเรามีค่าใช่จ่ายเยอะมากโดยเฉพาะดอกเบี้ย จะทำยังไงให้เราจ่ายน้อยลง เมื่อผ่อนไปได้สักระยะหนึ่ง ก็เอาบ้านไปรีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ยบ้านให้ถูกลง แล้วกู้สินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำเงินก้อนนั้นมาโปะหนี้บัตรเครดิตให้หมด แล้วก็ตัดใจไม่ใช้บัตรเครดิตอีกเลยหลังจากนั้น..
ใช้เวลาประมาณ 4 ปีก็เริ่มเคลียร์หนี้หมด ตอนนั้นเหนื่อยมาก แต่ต้องยอมอดทน ปรับลดไลฟ์สไตล์ของตัวเองลง ไม่กินข้าวนอกบ้าน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ซื้อเสื้อผ้า พยายามใช้เงินให้น้อยที่สุด เพราะไม่อยากกลับไปเป็นแบบเดิมอีกแล้ว และความกดดันอีกอย่างคือ ตอนนั้นบอกตัวเองว่าถ้าผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้ เราจะต้องหันกลับมาวางแผนการเงินของตัวเองใหม่ พอเคลียร์ทุกอย่างจบ ผมเอาบัตรเครดิตมาขูดทำลายเลยนะ บอกตัวเองว่าจะไม่กลับมาใช้มันอีกแล้ว”
เริ่มต้นใหม่ ไม่สายจนเกินไป จากเป็นหนี้สู่นักวางแผนทางการเงิน
“หลังจากอยู่ในวังวนหนี้สินและพยายามปลดหนี้มากว่า 10 ปี เราก็คิดว่าถ้าเราต้องผ่อนบ้านต่อไปอีก โดยไม่ขัดสนก็ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากทำงานประจำได้อย่างไร ผมจึงเริ่มสนใจเรื่องการลงทุน แต่ช่วงแรกก็มีความกลัวเพราะว่าถ้ามันเจ๊ง คนอีก 4-5 คนในครอบครัวก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เลยคิดว่าถ้าจะลงทุน เราต้องศึกษาให้ดีก่อนดีกว่า ผมเลยเข้าไปหาความรู้จากหลาย ๆ แหล่งที่น่าเชื่อถือไม่ว่าจะเป็นของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อไปหาความรู้ด้านการลงทุน..
เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย ตอนที่ผมอายุได้ประมาณ 40 ปลาย ๆ ก็เริ่มคิดถึงแผนชีวิตหลังเกษียณ เริ่มคิดว่าจะทำยังไง ในวันที่ไม่มีรายได้ประจำแล้วหลังจากเกษียณจากงาน เพราะยังต้องดูแลค่าใช้จ่ายของแม่และพี่สาวด้วย ด้วยความที่ทำงานมาหลาย ๆ ปี ตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนก็เพิ่มขึ้น ผมเลยเริ่มคำนวณว่า รายได้ตอนนี้มีเท่าไหร่ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าไหร่ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 60 % และ 40% ที่เหลือนำมาออม ในส่วนของเงินออม ก็แบ่ง 15% เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) อีก 15% เป็น การลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar-Cost Average และนำส่วนที่เหลือสนไปลงทุนในหุ้นเพื่อเก็งกำไร แบบซื้อมาขายไป..
ตอนที่ศึกษาเรื่องการวางแผนเกษียณ ผมพบว่าวิธีนี้เหมาะที่สุด เพราะเราเริ่มลงทุนช้า ทำให้ต้องเก็บออมด้วยสัดส่วนจำนวนเงินที่มากขึ้น เพื่อให้ได้ยอดตามเป้าหมายและระยะเวลาที่วางแผนไว้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเริ่มวางแผนเกษียณไวกว่านี้ ตอนนี้เราอาจจะไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้..
เราเคยอยากมี อยากได้ อยากขับรถยุโรปเหมือนคนอื่น ๆ เหมือนกันนะ แต่สุดท้ายกลับมาย้อนดู ถ้าใช้ชีวิตแบบนั้นแล้วไม่มีเงินเหลือเก็บแบบเดิม ไม่เอาดีกว่า”
เมื่อมีแผนการเงินหลังเกษียณ วันที่ไม่มีรายได้ก็ไม่ใช่วันที่น่ากลัวอีกต่อไป
..ผมจะเกษียณอีก 3 ปีข้างหน้า หลังจากหยุดจากงานประจำ แม้ไม่มีรายได้เหมือนเดิม ผมก็ไม่ห่วงว่าจะเอาเงินจากไหน ตอนนี้ผมคำนวณค่าใช้จ่ายส่วนตัวไว้แล้ว คิดว่าน่าจะใช้เดือนละประมาณ 30,000 บาท มีประกันสำหรับการดูแลสุขภาพแล้ว มีการวางแผนปรับพอร์ตการเงินใหม่ เพื่อให้มี Cash Flow มากขึ้น รองรับกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะตั้งใจว่าจะไม่เป็นภาระของลูก อยากหยุดวงจรของแซนด์วิชเจเนอเรชันในครอบครัวเราให้สิ้นสุดลง เพราะผมเองต้องดูแลทั้งแม่และลูกไปพร้อม ๆ กัน..
“ถ้าเรื่องของผมพอจะเป็นบทเรียนให้น้อง ๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ ก็อยากบอกพวกเขาว่าการเริ่มเก็บเงิน วางแผนการใช้เงินให้พอดี เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และควรเริ่มแต่เนิ่น ๆ การมาเริ่มต้นตอนอายุมากแล้วแบบผม แม้ว่าจะไม่สายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นวางแผนทางการเงิน แต่การเริ่มเร็วไว้ก่อนนั้นดีที่สุด จะได้ไม่เหนื่อยมาก”
*********************************************