เปิดกว้างการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ลงทุนเองโดยตรง หรือ ใช้บริการผู้เชี่ยวชาญ

06 มิถุนายน 2567
อ่าน 4 นาที

​​

การประกอบธุรกิจ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ในช่วงแรกนับจากปี 2561 ประเทศไทย
มีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ประกอบธุรกิจฯ) ที่ได้รับใบอนุญาต 3 ประเภท คือ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า
และผู้ค้า มีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลประมาณ 2 แสนราย ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีมากกว่า
2 ล้านบัญชี และมีประเภทผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่หลากหลายมากขึ้น

ผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจและมีเวลาติดตามสถานการณ์ ที่ต้องการซื้อขายหรือลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
ด้วยตัวเองโดยตรง อาจจะซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือใช้บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์
ดิจิทัล แต่หากเป็นผู้ลงทุนที่ต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล อาจจะลงทุนผ่านผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์
ดิจิทัล หรือใช้บริการที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแนะนำการลงทุน ขึ้นอยู่กับความชอบ
ส่วนบุคคลซึ่งอาจสอดคล้องกับรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์และความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลยอมรับได้

ก.ล.ต. มีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับผู้ประกอบธุรกิจฯ แต่ละประเภท และเป็นไปตามหลัก same
activity, same risk, same regulatory outcome โดยอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน คือ การรักษาความ
เป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (market integrity) และคุ้มครองผู้ลงทุน โดยมี
กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาสินทรัพย์
ดิจิทัลของลูกค้า ต้องมีระบบการบริหารจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล
(wallet) และกุญแจ (cryptographic key) เพื่อให้การเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และทรัพย์สินของลูกค้ามีความปลอดภัย

ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทรวม 21 บริษัท และในอนาคตอาจมีเพิ่มขึ้นอีกได้ เนื่องจาก
ก.ล.ต. สนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ในการให้บริการผู้ลงทุนไทย โดยบางบริษัท
อาจให้บริการทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ขณะที่บางบริษัทอาจให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ฯ ได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) หัวข้อ
“สินทรัพย์ดิจิทัล”

นอกจากจะซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรงผ่านผู้ประกอบธุรกิจฯ แล้ว ผู้ลงทุนยังสามารถลงทุนในสินทรัพย์
ดิจิทัลโดยอ้อมผ่านหลักทรัพย์ได้ด้วย เช่น การลงทุนใน “crypto ETF ต่างประเทศ” ผ่านกองทุน UI ของ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้งนี้ crypto ETF นั้นต้องเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด
หลักทรัพย์ที่มีหน่วยงานกำกับดูแล เช่น Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ก.ล.ต. ได้อนุมัติ
การจัดตั้งกองทุน UI ที่มีนโยบายลงทุนใน crypto ETF ไปบ้างแล้ว ซึ่งเป็นการลงทุนแบบ feeder
fund/fund of funds ต่างประเทศ ที่มีการคัดกรองโดย บลจ. ไทย และ บลจ. ต่างประเทศที่บริหาร crypto
ETF ซึ่งกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นการจัดตั้ง crypto ETF ขึ้นในประเทศไทย

กองทุน UI เป็นกองทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ห้ามขายให้ผู้ลงทุนรายย่อย
ซึ่ง ก.ล.ต. เปิดให้ลงทุนในตราสารหรือธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท เพราะเป็นผู้ลงทุนที่มีศักยภาพสูง
ทั้งด้านการเงิน ความรู้และประสบการณ์ สามารถดูแลตัวเองในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งเกณฑ์การ
ลงทุนของผู้ลงทุนกลุ่มนี้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2560

ส่วนผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องมีการลงทุนในหลักทรัพย์ อนุพันธ์และเงินฝาก
รวมกันไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท หรือมีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 6 ล้านบาท หรือมีทรัพย์สินสุทธิไม่น้อยกว่า
60 ล้านบาท และต้องมีความรู้หรือประสบการณ์การลงทุน เช่น ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเป็นประจำและ
ต่อเนื่อง หรือมีความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ก.ล.ต. ยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้กองทุนรวมบางประเภทสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย
สามารถลงทุนใน “crypto ETF ต่างประเทศ” ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้กองทุนรวมดังกล่าวสามารถกระจาย
การลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นได้(asset allocation) โดยจะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขเพิ่มเติมจาก
กองทุนรวมทั่วไปเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับท่านที่สนใจซื้อขายหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่มีความรู้ความเข้าใจในระดับ “มือใหม่” ขอแนะนำ
หลักสูตร e-learning “ก.ล.ต. Crypto Academy” ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่ง
สามารถคลิกเข้าไปที่ www.seccryptoacademy.com โดยในหลักสูตรนี้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
เริ่มจากความรู้พื้นฐาน ความเข้าใจถึงความเสี่ยงในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่ รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันภัย
กลโกงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้วยตัวเอง หรือ
ลงทุนผ่านผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงกว่าสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทั่วไป
                                                **************************

จากบทความ "เปิดกว้างการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ลงทุนเองโดยตรง หรือ ใช้บริการผู้เชี่ยวชาญ" โดยนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)