จากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน ธุรกรรมการขายชอร์ต (Short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่ง
คำสั่งซื้อขาย (Program Trading) ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อได้รับการกล่าวขานถึง
อย่างมาก และชวนให้สงสัยเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มผู้ลงทุน รวมถึงผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย
ในภาพรวม
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เล็งเห็นถึงความเร่งด่วนในการ
กำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และเท่าเทียมในตลาดทุน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย
ผ่านมาตรการ “ป้อง ปราม ปราบ” ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ประสานและทำงานร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทย และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “จึงออกมาเป็นมาตรการที่ดำเนินการร่วมกัน ในการ
ขับเคลื่อนแนวทางการกำกับดูแล Short Selling และ Program trading ที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน”
เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และลดผลกระทบที่มีต่อตลาด เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิด
ธุรกรรมขายชอร์ตในปริมาณมากเกินไป
สำหรับแนวทางการปรับปรุง Short selling ซึ่ง ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
เร่งผลักดันในช่วงที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขาย เช่น
(1) การเพิ่มเงื่อนไขคุณภาพหุ้นที่สามารถ Short Selling โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวคือ หุ้นที่สามารถ
Short Selling ได้ จะต้องมีมูลค่าการซื้อขายในตลาด (Market Capitalization) เป็น 7,500 ล้านบาท จากเดิม
5,000 ล้านบาท และมีสภาพคล่องของหุ้น โดยพิจารณาจากปริมาณการซื้อขายหมุนเวียนเฉลี่ยต่อเดือน
(monthly turnover) ไม่ต่ำกว่า 2% จากเดิมไม่ได้กำหนด ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
(2) การปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (trading rules) กรณี Short selling เพื่อจำกัด
ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ (ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ) โดยปรับการใช้ราคาขายชอร์ต
ที่ต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick rule) กับทุกหลักทรัพย์ โดยจะมีผลใช้บังคับในไตรมาส 2
ของปีนี้ และการเปิดเผยยอดขายชอร์ตคงค้างรายวัน (Outstanding short position) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้ดำเนินการแล้ว โดยเปิดเผยเป็นรายวันผ่าน SET website ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567
รวมทั้งการปรับปรุงแนวทางการส่งคำสั่งซื้อขายผ่าน Program trading และการส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (HFT)
เพื่อติดตามคำสั่งที่ไม่เหมาะสม เช่น การกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขายก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือ
ยกเลิกคำสั่งนั้นได้ (Order resting time) เพื่อป้องกันคำสั่งใส่ถอนถี่เกินไป (spoofing) นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์และลูกค้าที่ใช้ HFT และใช้ SET Colocation ต้องขึ้นทะเบียน โดยคาดว่าจะเริ่มภายในไตรมาส 2 ปี 2567
แนวทางการใช้มาตรการ Uptick rule จะดำเนินการควบคู่ไปกับ Order resting time จะช่วยให้ลดช่องว่าง
ระหว่างกลุ่มผู้ลงทุนที่ “ใช้” กับ “ไม่ใช้” Program trading ในการส่งคำสั่งซื้อขายให้แคบลง ซึ่งมองว่า
เหมาะสมกับถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ อาจปรับเกณฑ์ขั้นต่ำให้เข้มหรืออ่อนได้หากสถานการณ์เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีเป้าหมายเพื่อป้องปรามการขายชอร์ตไม่เป็นตามเกณฑ์ (Naked short selling)
ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยเพิ่มคุณภาพการทำหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง (บล.) และ ผู้เก็บ
รักษาทรัพย์สิน (Custodian) เพื่อเป็นการเพิ่มกระบวนการกลั่นกรองตรวจสอบธุรกรรมของลูกค้า เช่น
เพิ่มการทำหน้าที่ผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน (Custodian) ในฐานะ Gatekeeper (TSD) โดยให้ Custodian
แจ้งวัตถุประสงค์การโอน เพื่อตรวจสอบการทำรายการยืม และเพิ่มการทำหน้าที่ตรวจสอบของ บล. โดยให้มี
การทำความรู้จักระบบงานของลูกค้า (Know Your Process: KYP) กรณีลูกค้าที่เป็น บล.ต่างประเทศ เพื่อให้
ลูกค้าทราบ/เข้าใจหลักเกณฑ์ และสื่อสารให้ลูกค้าในชั้นต่อไป การกำหนดข้อตกลงให้ บล. ไล่เบี้ยค่าปรับลูกค้าได้
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็น (hearing) เพื่อให้ บล. เป็นแนวทางปฏิบัติ
สำหรับมาตรการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการภายใต้ผลการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งในต่างประเทศมีเครื่องมือ
กำกับดูแลตลาดทุนจำนวนมากและแตกต่างกัน โดย ก.ล.ต. หารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เพื่อพิจารณามาตรการ
ที่เหมาะสมกับตลาดทุนไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันแก่ผู้ลงทุนทุกกลุ่ม โปร่งใส
และตรวจสอบได้
**************************