ก.ล.ต. กับการขับเคลื่อนตลาดทุนที่ยั่งยืน

19 มีนาคม 2567
อ่าน 4 นาที



สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ นับเป็นโอกาสอันดีในเดือนแรกของปีนี้ที่จะได้นำเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับทิศทางการทำงานของ ก.ล.ต. มาเล่าสู่กันฟัง ด้วยปัจจุบันกระแสหลักในด้านการลงทุนและการดำเนินธุรกิจได้ให้ความสนใจและตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกมากยิ่งขึ้น สอดรับกับรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 และ 2567 ที่จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ซึ่งพบว่าเรื่องสภาพอากาศสุดขั้วเป็นความเสี่ยงลำดับต้น ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2567 จึงเป็นการผลักดันให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญสู่ความยั่งยืน และนำพาประเทศให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การส่งเสริมความเข้าใจและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัจจัย ESG ให้แก่ภาคธุรกิจและเน้นการนำไปปฏิบัติจริง การกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลที่สอดคล้องกับสากล ตลอดจนผลักดันให้ตลาดทุนเป็นกลไกที่จะร่วมส่งเสริมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเงินยั่งยืน การปรับตัวสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

สำหรับการดำเนินการสำคัญในปี 2567 ในฝั่งของบริษัทจดทะเบียน ก.ล.ต. เน้นส่งเสริมภาคธุรกิจในการจัดการในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยร่วมลงนามเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส การประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 รวมถึงส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) และการนำแนวทางการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ในด้านการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ก.ล.ต. มีแผนเพื่อเตรียมยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในแบบ 56-1 One Report ของบริษัทจดทะเบียน ให้สอดรับกับพัฒนาการของมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินในกลุ่มความยั่งยืน (ตราสารหนี้และกองทุนรวม) ก.ล.ต. เปิดตัวศูนย์รวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลุ่มความยั่งยืน “ESG Product Platform” เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินในกลุ่มความยั่งยืนได้อย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการออก ESG Bond และเตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ICO) เพื่อส่งเสริมการระดมทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืนได้มากขึ้น รวมถึงเปิดให้กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) สามารถลงทุนในโทเคนดิจิทัลดังกล่าวได้ เมื่อหลักเกณฑ์การออกและเสนอขาย ICO แล้วเสร็จ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนตามนโยบายภาครัฐ

ในฝั่งของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และตัวแทนขาย ก.ล.ต. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางผนวกปัจจัยด้าน ESG โดยมีการคำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ในกระบวนการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการลงทุน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางคำนึงถึงและมีธรรมาภิบาลที่ดี ในการจัดการความเสี่ยงด้าน ESG รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ก.ล.ต. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้ง Thailand ESG Fund ที่ยื่นคำขอระหว่าง 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 67 และขยายเวลาลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบ filing และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีสำหรับบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก 3 ปี

เมื่อทุกภาคส่วนในตลาดทุนให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้ตลาดทุนไทยเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่สนับสนุนให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และดึงดูดผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้อย่างเชื่อมั่นไปพร้อมกันด้วย

                                               **************************​


จากบทความ "ก.ล.ต. กับการขับเคลื่อนตลาดทุนที่ยั่งยืน" โดยนางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ในคอลัมน์ “เล่าให้รู้กับ ก.ล.ต.” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ