การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ก.ล.ต. ส่งเสริมนวัตกรรมฯ และคุ้มครองผู้ลงทุน

28 พฤษภาคม 2567
อ่าน 4 นาที



ปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ
เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเข้มข้น เช่น เกาหลีใต้ โดยคณะกรรมาธิการบริการการเงิน (Financial Services
Commission : FSC) ออกแนวปฏิบัติในการกำหนด listing rule ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและให้
delist คริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่สามารถเปิดข้อมูลตามที่กำหนดได้ขณะที่ ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา (US SEC) มี
หนังสือแจ้งเตือนแพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ โดยไม่ได้
จดทะเบียนกับ US SEC เช่น Robinhood และ Coinbase

จากการแจ้งเตือนแพลตฟอร์มฯ ของ US SEC ทำให้ภาคเอกชนมีข้อสงสัยถึงความชัดเจนในตัวบทกฎหมาย
(regulatory clarity) ของสหรัฐฯ ว่า ผลิตภัณฑ์ใดมีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ (securities) หรือสินค้าโภคภัณฑ์
(commodity) และผลิตภัณฑ์ใดอยู่หรือไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ US SEC ซึ่งประเด็นความชัดเจนทาง
กฎหมายนี้ ถือเป็นความท้าทายในการกำกับดูแลที่จะต้องติดตามว่า สหรัฐฯ จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป

สำหรับประเทศไทยมีการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ซึ่งได้กำหนดนิยาม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ว่าหมายถึง “คริปโทเคอร์เรนซี
และโทเคนดิจิทัล” อีกทั้งยังกำหนดว่า “หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ไม่ให้ถือเป็นคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล” ดังนั้น จึงมีการแบ่งแยกการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์และ
การประกอบธุรกิจทั้งในด้านหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน

นอกจากนี้เนื่องจากกฎหมายแต่ละฉบับมีเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ที่ต่างกันจึงมีมาตรการลงโทษที่ต่างกัน
ด้วย ความชัดเจนในกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายได้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงและการกระทำ
ที่เกิดขึ้น โดย พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ มีเจตนารมณ์ที่จะกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ
นอกจากผลิตภัณฑ์เพื่อการระดมทุนภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535
(พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งมุ่งกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านระดมทุนประเภทตราสารหนี้และตราสารทุน เป็นต้น

ความชัดเจนในกฎหมายทำให้สามารถกำกับดูแลผลิตภัณฑ์รูปแบบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจและบุคลากรที่
เกี่ยวข้องให้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นกลไก
ในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมการเงินการลงทุนตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า พร้อมกัน
นั้น ยังทำให้การออกมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนมีความเหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยงของแต่ละผลิตภัณฑ์
และรูปแบบธุรกิจได้

การส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน

การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนของกิจการ นับเป็นบทบาทสำคัญหนึ่งของ ก.ล.ต. ตัวอย่าง
หนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสนับสนุนกระบวนการการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (initial
coin offering : ICO) โดยเฉพาะโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เช่น
  • โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์(real estate-backed token)
  • โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน (infrabacked token)
  • โทเคนดิจิทัลเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green token)
  • โทเคนดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน (sustainability token) และ
  • โทเคนดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked token)
รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเสนอขาย investment token ในรูปแบบ shelf filing สำหรับโครงการในกลุ่ม
อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (soft power) เป็นต้น เพื่อให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีความยืดหยุ่น
และสะดวกมากขึ้น และทำให้โทเคนดิจิทัลเป็นหนึ่งในช่องทางระดมทุนที่มีศักยภาพและเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
ดิจิทัลของประเทศ

นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะเปิดให้มีโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์
ดิจิทัล (Digital Asset Regulatory Sandbox) โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถทดสอบการให้บริการกับ
ลูกค้าจริงได้ โดยไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาต แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและ
การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานจะประกาศเป็นหลักเกณฑ์เปิดรับผู้ร่วมโครงการได้

การคุ้มครองผู้ลงทุน

สำหรับคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและความผันผวนของมูลค่าสูง ก.ล.ต. จึงกำกับดูแลให้
ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องทำความรู้จักลูกค้าผ่านกระบวนการทำ Know Your Customer/Customer
Due Diligence (KYC/CDD) ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (suitability test) และ
จัดให้ลูกค้าเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีหรือการทดสอบความรู้ (knowledge test)
เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
เช่น จัดทำหลักสูตร e-learning “ก.ล.ต. Crypto Academy” บนเว็บไซต์www.seccryptoacademy.com
เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งความรู้พื้นฐาน ความเข้าใจถึงความเสี่ยงในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันภัยกลโกงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ ก.ล.ต. สนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยที่มีคุณภาพในจำนวนที่เพิ่มขึ้น มีขีด
ความสามารถในการแข่งขันได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้มีทางเลือกมากขึ้น โดยได้รับบริการจากผู้ประกอบ
ธุรกิจที่มีคุณภาพ มีโครงสร้างการบริหารจัดการระบบงานและติดตามความเสี่ยงตามมาตรฐานสากล และมี
แนวทางการฏิบัติงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐาน
การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครอง
ตามกฎหมายไทย

แนวทางกำกับดูแลในอนาคต

เพื่อให้การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับหลักการ same activity, same
risk, same regulatory outcome ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการย้าย
โทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นการระดมทุน มากำกับดูแลภายใต้พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และปรับปรุง พ.ร.ก.
สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ให้สอดคล้องกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
ไม่ว่าการกำกับดูแลและพัฒนาทั้งฝั่งตลาดทุนและฝั่งสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยของ ก.ล.ต. ในระยะข้างหน้าอาจ
ต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากแค่ไหน ก.ล.ต. ยังคงมุ่งมั่นกับบทบาทในการเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้าง
สภาพแวดล้อมในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความน่าเชื่อถือ โดยให้ความสำคัญกับการสร้าง “ความสมดุล”
ระหว่างการคุ้มครองผู้ลงทุนและการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ ขณะที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืน

                                        **************************
จากบทความ "การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ก.ล.ต. ส่งเสริมนวัตกรรมฯ และคุ้มครองผู้ลงทุน" โดยนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ในคอลัมน์ "คุยกับ ก.ล.ต." นสพ.กรุงเทพธุรกิจ