
“ธุรกิจหลักทรัพย์” เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งในตลาดทุนที่ได้รับความท้าทายจากหลายด้าน ทั้งจากสภาพแวดล้อม
ที่มีการเปลี่ยนแปลง การแข่งขันที่รุนแรง และการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ
หลักทรัพย์ต้องปรับตัวให้เท่าทัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมของผู้ลงทุนหรือผู้ใช้บริการที่
เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง ก.ล.ต. เองได้ติดตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งแนวโน้มและปัจจัยต่าง ๆ
ที่มีผลต่อการพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
ย้อนไปเมื่อปี 2565 ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับ The World Bank Group ศึกษาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
โอกาส ความท้าทาย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจหลักทรัพย์ รวมทั้งการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจ
ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทาง นโยบาย และกลยุทธ์
ในการส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดทุนไทยให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
หนึ่งในผลสรุปจากการศึกษานี้นำมาสู่การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโครงสร้างใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
หลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมในตลาดทุนไทย ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม
เพิ่มความคล่องตัวและความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เปิดรับฟัง
ความคิดเห็นไปแล้วและคาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ได้ภายในปีนี้ครับ
หากติดตามข่าวสารจาก ก.ล.ต. จะเห็นว่า ช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและปรับปรุง
หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไปหลายเรื่อง เช่น การดำรง
เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ในส่วนนิยามหนี้สินด้อยสิทธิ (qualified sub-debt) เพื่อให้มีเงินกองทุน
เพียงพอรองรับความเสี่ยงและประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และการยื่นรายงานและแบบรายงานเพื่อให้
ก.ล.ต. มีข้อมูลเชิงลึกในการกำกับดูแลความเสี่ยง
คงต้องขอให้ติดตามพัฒนาการกันต่อไปนะครับ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนเพื่อ
ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน โดยที่ ก.ล.ต. ไม่ได้ดำเนินการโดยลำพังนะครับ แต่เป็นการ
หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เช่น การทบทวนเกณฑ์การกำหนด
วงเงินลูกค้า การพิจารณาคุณภาพหลักประกัน เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กำหนดวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์
ให้เหมาะสมกับลูกค้า โดยคำนึงถึงปัจจัยคุณภาพของหลักประกันที่นำมาวาง และฐานะของ บล. ซึ่งจะช่วยลด
ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชำระราคาและส่งมอบและลดผลกระทบกับเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของ
ตลาดทุนโดยรวม
พูดถึงเรื่อง “ฐานะการเงิน” ของอุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ หลายท่านอาจจะเห็นข่าวที่ผมได้ให้ข้อมูลกับ
สื่อมวลชนไปบ้างแล้วนะครับว่า “ในปัจจุบัน บล. ทุกแห่งสามารถดำรงเงินกองทุนได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ โดย
ส่วนใหญ่สามารถดำรงเงินกองทุนได้มากกว่า 2 เท่าของเกณฑ์ขั้นต่ำ” โดยเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC)
หมายถึง สินทรัพย์สภาพคล่อง ที่หักด้วยหนี้สินของบริษัทและหักค่าความเสี่ยงซึ่งสะท้อนถึงการเสื่อมค่าของ
สินทรัพย์สภาพคล่องในอนาคตแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิเพียงพอสามารถ
รองรับความเสี่ยงและชำระหนี้สินทั้งหมดที่มีต่อลูกค้า ซึ่งต้องขอย้ำตรงนี้อีกครั้งครับว่า ฐานะการเงินของ
อุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ในปัจจุบันไม่มีประเด็นที่น่ากังวล และ ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานะการดำรง
เงินกองทุนของ บล. ทุกวัน และในกรณีที่ บล. ดำรง NC และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR)
ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ก.ล.ต. มีกระบวนการในการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ เพื่อกำกับดูแลให้
เป็นไปตามเกณฑ์ครับ
นอกจากการติดตามสถานะการดำรงเงินกองทุน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีฐานะการเงิน
ที่เพียงพอและสามารถรองรับความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจแล้ว สิ่งที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญในการกำกับ
ดูแลประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ มี 3 ประเด็นหลัก คือ การสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม
การสนับสนุนการแข่งขันที่มีความรับผิดชอบ และ การกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบ
ธุรกิจ การบริการลูกค้า/ผู้ลงทุนต้องมีระบบงานที่ได้มาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็น
สำคัญ
นอกจากนี้ หากมีประเด็นความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการทำหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจและกระทบต่อ
ประโยชน์ผู้ลงทุน ก.ล.ต. จะเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกทันทีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีประเด็น และหาก
เป็นเรื่องที่กระทบกับผู้ประกอบธุรกิจหลายราย อาจตรวจสอบเฉพาะเรื่องนั้น ๆ (theme inspection)
เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล และร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจและทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา
และจัดการกับผลกระทบแบบบูรณาการครับ
หลังจากวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาแล้ว อาจนำไปสู่การทบทวนหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ว่ามีความเหมาะสม เพียงพอ
ในการควบคุมดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ หากไม่เหมาะสมก็จะพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์รวมถึง
อาจมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านปัญหาและแนวทางป้องกันแก้ไขให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
ในอุตสาหกรรมรับทราบเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงขึ้นอีกในอนาคต
ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลธุรกรรมการขายชอร์ต (Short Selling) เพื่อเพิ่มกลไกสร้าง
ความเชื่อมั่นในการซื้อขายและป้องปรามการขายชอร์ตไม่เป็นตามเกณฑ์ (Naked Short Selling) โดยเพิ่ม
คุณภาพการทำหน้าที่ของ บล. และแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มความรับผิดตลอดสาย พร้อมกับปรับปรุงแนว
ทางการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) การส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง
(High Frequency Trading : HFT) เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเพิ่มความโปร่งใสของธุรกรรมในตลาดทุน
ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ที่ผ่านมา นับว่า “อุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ของไทย” มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และสามารถรับมือกับ
สถานการณ์และความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบได้เป็นอย่างดี ซึ่ง ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล
ได้ดำเนินการในหลายด้านอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณภาพ
และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญครับ
*************************
จากบทความ "ก.ล.ต. กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน" โดยนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในคอลัมน์ "คุยกับ ก.ล.ต." นสพ.กรุงเทพธุรกิจ