- กระแส ESG มาแรง เป็นแค่เทรนด์ หรือเป็นสิ่งจำเป็น?
ลองมาหาข้อมูลสำหรับคำตอบของคำถามข้างต้น จากซีรีส์ความรู้ SRI fund ทางเลือกของการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดย SRI Fund เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์การลงทุนเพื่อความยั่งยืนได้อย่างไร ผู้ลงทุน ที่รักและแคร์โลกอย่างเรา หากสนใจอยากลงทุน ข้อมูลใดบ้างที่จะช่วยท่านในการตัดสินใจลงทุน
.
จะรู้จัก SRI fund ได้ ต้องรู้จัก ESG ก่อน แม้เราจะเคยได้ยินศัพท์
“ESG” ผ่านหูมา แต่เรารู้ไหมว่า ESG
คืออะไร ส่งผลอะไรกับชีวิตของคุณ หรือเป็นแค่คำหรู ๆ เก๋ ๆ ให้คนเท่ ๆ เขาพูดกัน
ถ้าหากเราลองจินตนาการถึงโลกที่สวยงาม โลกที่มีธรรมชาติและอากาศที่บริสุทธิ์ มีน้ำและอาหารที่อุดมสมบูรณ์
มีสังคมที่น่าอยู่ ปลอดภัย ทุกคนล้วนได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกันในฐานะของเพื่อนมนุษย์ คงจะดีถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ดังนั้น เรื่องเหล่านี้จะไม่ใช่เพียงแค่จินตนาการอีกต่อไป ถ้าเพียงเราใส่ใจกับคำว่า ESG
“ESG” ย่อมาจากคำว่า “Environmental, Social และ Governance” ซึ่งก็คือ สิ่งแวดล้อม สังคม
และธรรมาภิบาล ซึ่งทั้ง 3 คำนี้ เป็นสิ่งที่จะมาทำให้โลกของเรานั้น เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต
เพราะทั้ง 3 สิ่ง คือหัวใจที่จะช่วยฟื้นคืนสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ให้กลับมามีความสมดุล และสร้างความมั่นคงให้แก่วิถีชีวิตของเรา ดังนั้น ทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จึงได้เริ่มตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับ
“ESG” นั่นเอง
ในหลายประเทศ เกิดกระแสเรียกร้องให้กิจการต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินกิจการของตนเองมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง
หากกิจการไหนไม่สนใจ ก็อาจเกิดเป็นกระแสโต้กลับจาก
“ผู้ลงทุน” ทั้งหลายทั่วโลก ซึ่งพร้อมที่จะนำเงินทุน
ของตนเองไปลงทุนกับบริษัทที่มีความรับผิดชอบและให้ความสำคัญต่อ
“ESG” มากกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้เลย
.
- “การฟอกเขียว” หรือ “Greenwashing” การทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด
ก่อนจะไปถึง SRI Fund นั้น มารู้จักกับคำว่า “การฟอกเขียว” หรือ “Greenwashing” กันก่อน ซึ่งถือเป็นศัตรูในเงามืดของ “ความยั่งยืน” ที่แท้จริงตามหลักของ ESG นั่นเอง
คำว่า
“Green” หรือ “สีเขียว” มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาพของใบไม้สีเขียวสดใส มักถูกหลาย ๆ องค์กรหรือกิจการ หยิบยกมาใช้ และก่อให้เกิดเป็นภาพลักษณ์ที่รู้สึกปลอดภัย เป็นมิตร และน่าคบหา ซึ่งบ่อยครั้งองค์กรหรือกิจการเหล่านี้ ก็มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงที่จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี ในยุคที่เทรนด์ ESG ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“การฟอกเขียว” หรือ
“Greenwashing” คือการทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่า กิจการ ธุรกิจ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ของตนเอง มีความรับผิดชอบหรือใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยมีการสื่อสารว่ากิจการหรือผลิตภัณฑ์ของตนเองเป็นเช่นนั้น ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น ทำให้ผู้ลงทุนหรือผู้บริโภค เสียประโยชน์จากการยอมจ่าย หรือมีต้นทุนการลงทุนที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
.
“SRI Fund” หรือ “กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน” มีชื่อเต็มว่า “Sustainable and Responsible Investing Fund” ซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่มีลักษณะเหมือนกองทุนทั่วไปที่เราทุกคนสามารถลงทุนได้ เพียงแต่มีลักษณะพิเศษก็คือ มีนโยบายลงทุนที่มุ่งเน้นความยั่งยืน หรือ ESG : Environmental, Social และ Governance เป็นหลัก
ซึ่งแน่นอนว่า กิจการต่าง ๆ ที่ SRI Fund เลือกที่จะเข้าไปลงทุนนั้นย่อมต้องมีมาตรการที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงมีบรรษัทภิบาลที่ดี เป็นสำคัญ ดังนั้น SRI Fund จึงมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างแท้จริง และ บลจ. ก็เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของ SRI Fund อย่างครบถ้วน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน
ภารกิจในการคัดเลือก หรือคัดกรอง กิจการที่มีการดำเนินธุรกิจแบบ ESG รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ลงทุนทราบ จึงถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน SRI Fund ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์และทำความรู้จักกับกิจการนั้น ๆ ในเชิงลึกอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าลงทุนในธุรกิจที่มีคุณสมบัติตามหลัก ESG อันถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผู้ลงทุนใน SRI Fund อย่างเราๆ อย่างแท้จริง
หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วกิจการที่ใส่ใจใน ESG หรือเป็นกิจการที่ทำธุรกิจแบบ “แคร์โลก” นั้น จะสร้าง
ผลกำไรได้ดีจริงหรือ ? แล้วความน่าสนใจลงทุนอยู่ตรงไหน ?
ตรงนี้มีหลักการคือ เมื่อเทรนด์ของโลกนั้นมาเช่นนี้ กิจการไหนที่ดำเนินธุรกิจแบบใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็มีแนวโน้มที่จะมีคุณค่า มีคู่ค้า และผู้ที่ใช้สินค้าหรือบริการที่มากกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นกระแสรายรับที่มากขึ้นในระยะยาว โอกาสที่กิจการจะเติบโตอย่างมั่นคง ในอนาคตก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น SRI Fund จึงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือกให้แก่ ผู้ลงทุนที่แคร์โลก ได้เลือกลงทุนเพื่อการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนในอนาคตนั่นเอง
.
- “ESG Fund” กับ “SRI fund” เหมือนกันหรือไม่นะ
SRI Fund ที่มีชื่อเต็มว่า “Sustainable and Responsible Investing Fund” หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่คำว่า “Sustainable” หรือ “ความยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นปลายทางของการลงทุนในกิจการที่เน้นหลัก ESG และ “Responsible” หรือ “การลงทุนด้วยความรับผิดชอบ” ของผู้จัดการกองทุนนั่นเอง
ในปัจจุบันมีกองทุนหลากหลายประเภทที่เน้นการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ “สิ่งแวดล้อม”(E) เป็นหลัก โดยที่อาจจะไม่ได้เน้นด้าน “สังคม” (S) หรือ “ธรรมาภิบาล” (G) ซึ่งสามารถทำได้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้ลงทุนได้ว่า กองทุนดังกล่าวนั้น ลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญครบทั้ง 3 ด้าน (ESG) ทั้งที่จริง ๆ แล้วอาจให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหลักเท่านั้น
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดว่า กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน ต้องลงทุนในกิจการที่เน้นทั้ง ด้าน E, S และ G ครบทั้ง 3 ด้าน จึงได้ใช้คำว่า SRI Fund แทน เพราะไม่ว่ากองทุนนั้น ๆ จะลงทุนโดยเน้นหลักด้านใดด้านหนึ่ง หรือเน้นลงทุนใน ESG ครบทุกด้าน ก็ล้วนแล้วแต่มีปลายทางที่เป็นการสร้าง “ความยั่งยืน” ให้แก่ผู้ลงทุนและผู้บริโภคในอนาคตทั้งสิ้น และที่สำคัญ บลจ. ก็จะต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ผู้ลงทุนทราบอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน
สรุปว่า การพิจารณาการเป็น ESG Fund กับ SRI Fund นั้น เหมือนกันในด้านการลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน แต่ SRI Fund เป็นกองทุนที่ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่ามีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด และมีการบริหารจัดการกองทุนตามที่ได้เปิดเผยไว้ โดย“SRI Fund” จะได้รับตราสัญลักษณ์จากสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วย ว่าเปิดเผยข้อมูลผ่านเกณฑ์ครบทุกข้อแล้ว จึงมั่นใจได้ว่ากองทุนนี้ เป็น SRI Fund จริงแท้แน่นอน