ช่วงที่ผ่านมากระแส “แคร์โลก” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมเป็นเทรนด์ที่มาแรง ไม่ใช่เพียงแต่ผู้บริโภคเท่านั้นที่หันมาลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก สนับสนุนสินค้ารักษ์โลก รวมทั้งสนใจในการพัฒนาด้านสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผู้ประกอบธุรกิจเองก็หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะมีผลต่อความยั่งยืนของธุรกิจ และอาจเป็นโอกาสที่จะสร้างการจดจำและเพิ่มการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในอนาคตได้อีกด้วย
ด้านผู้ลงทุน ในปัจจุบันก็หันมาสนใจลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (sustainable investing) เพราะอาจส่งผลต่อการเติบโตของรายได้บริษัทในระยะยาวได้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน มีนำเสนอในหลากหลายมิติเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน หรือเรียกรวม ๆ ว่า “ผลิตภัณฑ์ลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Environmental, Social and Governance : ESG)” ดังนี้
1. มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การปล่อยของเสียจากกระบวนการผลิต
2. มิติด้านสังคม (Social) เช่น การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน หรือพนักงานในองค์กร การเคารพสิทธิมนุษยชน และ
3. มิติด้านการมีธรรมาภิบาลที่ดี (Governance) เช่น การดำเนินการเพื่อลดความทุจริต ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
จากข้อมูลสถิติปริมาณเงินลงทุนในสินทรัพย์การเงิน ESG ของเครดิต สวิส (Credit-suisse) พบว่า ขนาดเงินลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ ESG เพิ่มขึ้นจาก 23 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2559 เป็น 31 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2561 และคาดว่าปี 2563 จะเพิ่มขึ้นไปที่ 40 ล้านล้านดอลลาร์ โดยสัดส่วนเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมุ่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรป จากสถิติดังกล่าวยังตอกย้ำให้เห็นว่ากระแสการลงทุนในผลิตภัณฑ์ ESG กำลังมาแรง ผลิตภัณฑ์ ESG มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น “หุ้น” ของกิจการที่ให้คำนึงถึง “ตราสารหนี้” ซึ่งรวมถึงพันธบัตรและหุ้นกู้ซึ่งผู้ออกตราสารต้องการนำเงินที่ระดมทุนได้ไปดำเนินงานหรือใช้ในกิจกรรมที่เป็นการพัฒนาด้าน ESG และ “กองทุนรวม” ที่มีนโยบายการลงทุนเน้นสินทรัพย์อ้างอิง ESG อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น มีผลิตภัณฑ์ ESG อยู่หลากหลายเช่นกัน เช่น
1. หุ้นยั่งยืน คือ หุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการประเมินแล้วว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล ก็จะถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ซึ่งจัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2558 และยังจัดให้มีดัชนีราคาของหลักทรัพย์ในกลุ่มนี้ หรือเรียกว่า ดัชนีความยั่งยืน SETTHSI Index เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ลงทุน ที่ต้องการลงทุนตามแนวทางของการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment) ซึ่งปัจจุบัน ในปี 2564 มีหุ้นยั่งยืนจำนวน 124 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 51 บริษัทในปี 2558
2.ตราสารหนี้ยั่งยืน คือ ตราสารหนี้ที่ระดมเงินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์รักษ์โลก ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond
*), ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (social bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคม โดยอาจเรียกตราสาร 3 ประเภทนี้ว่า GSS Bond ดูรายชื่อตราสารหนี้ยั่งยืนซึ่งเป็นข้อมูลจาก ก.ล.ต. และรวบรวมโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ที่:
http://www.thaibma.or.th/EN/BondInfo/ESG.aspx
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ออกเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ Sustainability-linked Bond: SLB และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 นับว่าเป็นตราสารหนี้ น้องใหม่ล่าสุดของเมืองไทย
SLB คือตราสารหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับผลความสำเร็จตามตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออกตราสาร โดยผู้ลงทุนจะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะแรก ถ้าผู้ออกทำไม่สำเร็จตามเป้าหมายความยั่งยืนก็อาจต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มให้ผู้ลงทุน แต่ถ้าทำสำเร็จ ก็อาจจะลดการจ่ายดอกเบี้ย ตามเงื่อนไขที่ผู้ออกกำหนดไว้ตั้งแต่แรก นอกจากนี้ ผู้ออกสามารถนำเงินทุนที่ระดมได้ไปใช้กับโครงการที่หลากหลายได้ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นการพัฒนา ESG ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
3. กองทุนรวมยั่งยืน (ESG Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงที่เน้นความยั่งยืน หรือ ESG เช่น เน้นลงทุนในบริษัทพลังงานทางเลือก เป็นต้น ผู้ลงทุนสามารถดูนโยบายการลงทุนของบริษัทได้ที่หนังสือชี้ชวนกองทุน โดยค้นหาได้ที่ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing ทั้งนี้ ในปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2564) มีกองทุนรวม ESG ขายอยู่ในตลาดทุนไทยประมาณ 40 กอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุน
______________________
*นอกจากนี้ ยังมีตราสารหนี้สีน้ำเงิน หรือ blue bond ตราสารหนี้เพื่อท้องทะเล มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนไปใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ เช่น การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลเพื่อการ อนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือการสนับสนุนการทำประมงแบบยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ออกตราสารดังกล่าว แต่ล่าสุด (เม.ย. 64) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการออก “พันธบัตรสีน้ำเงิน (blue bond)” นี้)