
ในปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในเรื่องการดำเนินธุรกิจหรือการจัดทำโครงการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลายมากขึ้น และต่างมุ่งที่จะมีส่วนช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Net zero emission) ภาคการเงินจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable finance) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน และคำว่า
“Taxonomy” ก็เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างแพร่หลาย
ในบริบทของการเงินเพื่อความยั่งยืน Taxonomy คือ การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้ในการช่วยประเมินว่า กิจกรรมใดเข้าข่ายเป็นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีหลักการและแนวทางที่ชัดเจนจะช่วยให้มีความโปร่งใส ลดปัญหาด้าน Greenwashing* ตลอดจนมีมาตรฐานที่สอดคล้องกันทั้งระบบ
Taxonomy เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ทั้งการจัดสรรเงินทุนและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน ตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ** ได้อย่างตรงจุดและสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการห้ามลงทุนในกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายตาม Taxonomy โดยในภาคตลาดทุนสามารถนำ Taxonomy ไปใช้อ้างอิงเป็นแนวทางสำหรับผู้ออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน*** ในการประเมินและคัดเลือกโครงการหรือกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้จัดการกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund: SRI Fund) ในการคัดเลือกหลักทรัพย์และจัดพอร์ตการลงทุนที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนหรือคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
- ความคืบหน้าและพัฒนาการในภูมิภาคและประเทศอื่น ๆ
Taxonomy ของสหภาพยุโรป (EU Taxonomy) ถือว่ามีการเผยแพร่และบังคับใช้เป็นภูมิภาคแรกของโลก ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลตระหนักถึงความสำคัญของ Taxonomy และเริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำมาปรับใช้ อย่างไรก็ดี ด้วยสหภาพยุโรปมีระดับการพัฒนาและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น (เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเน้นภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตและอุตสาหกรรมหนัก) นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green technology) ที่ค่อนข้างทันสมัย จึงทำให้การประเมินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีตัวชี้วัดและเงื่อนไขที่เข้มข้น ส่งผลให้ EU Taxonomy อาจจะไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งยังคงพึ่งพิงกิจกรรมในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก เป็นสัดส่วนสูง และอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Transition pathway)
ปัจจุบันหลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลก (เช่น อาเซียน จีน มาเลเซีย สิงคโปร์แคนาดา แอฟริกาใต้ และชิลี) ได้เริ่มพัฒนา Taxonomy ให้มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และโครงสร้างที่เหมาะกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง โดยอาจจะมีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมองค์ประกอบอื่น ๆ จากที่มีอยู่ใน EU Taxonomy เช่น การจัดหมวดหมู่แบบ Traffic light system**** โดยเพิ่มหมวดหมู่กิจกรรมสีเหลืองเพื่อรองรับกิจกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมที่มีความยั่งยืน หรือ Transition activity เป็นต้น
- Thailand Taxonomy (มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของไทย)
การเล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญโดยภาคการเงินไทยในการจัดทำ Taxonomy ของไทย ทำให้เกิดการจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy (คณะทำงานฯ) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน***** เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยมีแนวทางการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยต้องคำนึงถึงการสอดรับกับมาตรฐานสากล (Inter-operability) ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาบริบทและ Transition pathway ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างทั่วถึง น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
“โดยเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนา Taxonomy บนหลักการดังกล่าว จะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของระบบนิเวศ (ecosystem) การเงินเพื่อความยั่งยืน กระตุ้นการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนภาคธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ และมีส่วนช่วยผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป”
สำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนคณะทำงานฯ อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นต่อร่าง Thailand Taxonomy ในระยะที่ 1 ซึ่งจะเริ่มด้วยการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง โดยคาดว่าจะเผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ฉบับสมบูรณ์ได้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะได้จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2566 (Link) _________________________________
* ธุรกิจหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ้างว่ามีความสอดคล้องหรือตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน/เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ดำเนินการด้านความยั่งยืน/
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง หรือดำเนินการต่ำกว่าระดับที่ได้อ้างไว้** อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีสในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
*** เช่น ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เป็นต้น
**** EU taxonomy จะจัดหมวดหมู่กิจกรรมเป็น 2 กลุ่ม คือ กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สีเขียว) และกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สีแดง) ส่วน Traffic light system จะจัดหมวดหมู่กิจกรรมเป็น 3 กลุ่ม โดยเพิ่มหมวดหมู่กิจกรรมที่ส่งเสริมหรืออยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมที่มีความยั่งยืน (สีเหลือง) เข้ามาด้วย อาทิการผลิตพลังงานจากขยะ (waste to energy) การเร่งการปิดตัวของโรงไฟฟ้าถ่านหิน (decommissioning of coal power plant) เป็นต้น
***** (1) หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (2) หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ได้แก่ สำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (3) ภาคธุรกิจ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
อ้างอิงจากบทความ "Taxonomy กับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน" โดยฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)