เช็กตัวเองก่อนลงทุน รู้จัก DW ดีพอหรือยัง?

16 พฤศจิกายน 2564
อ่าน 4 นาที


“ได้ยินมาว่าคนเล่น DW สามารถทำกำไรได้เยอะ เลยอยากลองลงทุน เผื่อจะได้กำไรงาม ๆ กับเขาบ้าง….” 

DW สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับเราได้ แต่ก่อนตัดสินใจลงทุน มาลองเช็กตัวเองกันก่อนสักนิด ว่า เรารู้จัก DW หรือ Derivative Warrant ดีพอหรือยัง... รู้ไว้ก่อนลงทุนกันครับ 
.



“Derivative Warrant” หรือ “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ที่เรานิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “DW” นั้น คือ สินทรัพย์การลงทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนในการที่จะ “ซื้อ” (Put DW) หรือ “ขาย” (Call DW) สินทรัพย์อ้างอิง ในราคา ระยะเวลา อัตราการใช้สิทธิ และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กำหนดไว้

แม้ว่า DW จะคล้ายกับ Warrant (ที่เป็นตราสารที่ให้สิทธิในการซื้อหุ้นอ้างอิง หรือ “หุ้นแม่”) ในเรื่องราคา เวลา อัตราการใช้สิทธิ แต่ DW จะมีจุดแตกต่างจาก Warrant ที่สำคัญคือ ผู้ออกจะไม่ใช่บริษัทที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์อ้างอิง แต่จะเป็นบุคคลที่ 3 ที่เป็น เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล. หรือ Broker) และ ธนาคารพาณิชย์

และที่สำคัญ DW ยังสามารถอ้างอิงกับสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หรือ ดัชนีหุ้น ทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดให้สิทธิในการซื้อ (Call DW) และสิทธิในการขาย (Put DW) ซึ่งเปิดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้ทั้งขาขึ้นและขาลงนั่นเอง โดย DW ที่ออก จะมีอายุตั้งแต่ 2 เดือน ไปจนถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับผู้ออกว่าจะกำหนดเงื่อนไขและอายุของ DW ตัวนั้นไว้อย่างไรนั่นเอง

ส่วนหน้าตาของ DW สังเกตได้ไม่ยากเลย เนื่องจากสัญลักษณ์ที่อยู่บนกระดานซื้อขายจะยาวกว่าหุ้น
หรือ Warrant มาก โดยสัญลักษณ์ของ DW จะประกอบด้วยอักษร 12 ตัว คือ ชื่อย่อของสินทรัพย์อ้างอิง (ไม่
เกิน 4 ตัวอักษร) + รหัส Broker ผู้ออก + เครื่องหมายกำกับสิทธิในการซื้อ (C) หรือขาย (P) + ปีและเดือนที่
DW นั้นจะหมดอายุ + รุ่นที่ออก ซึ่ง DW ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเดียวกัน อาจมีมากกว่า 1 รุ่นก็ได้​
.



เพราะ DW มี “อัตราทด” จึงมีโอกาสที่จะทำกำไรได้มากด้วยเงินลงทุนจำนวนไม่มาก

ไม่ต้องแปลกใจเลยที่หลายคนมักเลือกที่จะลงทุนหรือเก็งกำไรใน DW แทนการซื้อสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง เนื่องจาก DW นั้นมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า “อัตราทดในการลงทุน” หรือ “Gearing” ซึ่งหมายความว่า ผู้ลงทุนสามารถใช้เงินจำนวนที่เท่ากันในการสร้างอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรงได้

ตัวอย่างการลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาทเท่ากัน กรณีแรก นำไปลงทุน “หุ้น X” ที่ราคา 10 บาทต่อหุ้น จำนวน 10,000 บาท ต่อมาราคาหุ้น X วิ่งขึ้นไปที่ 12.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 25% เราจะได้กำไร 2,500 บาท

กรณีที่สอง นำไปลงทุนใน “Call DW ที่อ้างอิงกับหุ้น X” ที่ราคา 1.00 บาท (และมีค่าอัตราทด หรือ Effective Gearing อยู่ที่ 2.0 เท่า) จำนวน 10,000 บาทเท่ากัน และต่อมาราคา Call DW นี้วิ่งขึ้นไปที่ 1.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 50% เราจะได้กำไร 5,000 บาท

จะเห็นได้ว่า Call DW สามารถให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วยเงินลงทุนเท่ากันกับการลงทุนในหุ้น X โดยตรง แต่ในทางกลับกัน หากผู้ลงทุนคาดการณ์ผิดทาง ก็ขาดทุนในอัตราที่สูงกว่าด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น การลงทุนใน DW ที่มีอัตราทด จึงมีความเสี่ยงที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้น X โดยตรงนั่นเอง

ผู้ลงทุนจึงควรต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน และไม่ลงทุนเกินระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ซึ่งการลงทุนใน DW นั้น ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนไปหมดทั้งจำนวนเลยก็เป็นได้
.​



จะลงทุนใน DW ทั้งที ก็จำเป็นต้องรู้ข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ด้วยนะ…

1. DW มีทั้งสัญญาจะซื้อ (Call DW) ราคาจะขึ้น/ลงทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อ้างอิง ใช้สร้างผลตอบแทนในช่วงตลาดขาขึ้น และสัญญาจะขาย (Put DW) ราคาจะขึ้น/ลง สวนทางกับสินทรัพย์อ้างอิง ใช้สร้างผลตอบแทนในช่วงตลาดขาลง จึงต้องคำนึงถึงทิศทางราคาสินทรัพย์อ้างอิงด้วย

2. เนื่องจาก DW นั้นเป็นตราสารที่อ้างอิงราคาจากสินทรัพย์อื่น และมี “อัตราทด” ดังนั้น หากผู้ลงทุนคาดการณ์ได้ถูกทาง ก็จะได้กำไรในอัตราที่สูง และในทางกลับกัน หากคาดการณ์ผิด ก็จะก่อให้เกิดผลขาดทุนสูงมากด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ลงทุนใน DW จึงควรจำกัดความเสี่ยงในการลงทุนไว้ให้เท่ากับจำนวนเงินลงทุนที่สามารถสูญเสียได้นั่นเอง

3. DW นั้นมีวันหมดอายุ (ไม่เหมือนหุ้น) ดังนั้น ก่อนลงทุนใน DW ผู้ลงทุนควรศึกษาเงื่อนไขของ DW ตัวนั้นเสมอ โดยเฉพาะปีและเดือนที่หมดอายุ (ซึ่งปรากฎอยู่บนสัญลักษณ์ของ DW) ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า DW นั้นมีค่าเสื่อมเวลา หรือ “Time Decay” ที่ทำให้ DW ยิ่งเข้าใกล้วันหมดอายุเท่าไรก็จะยิ่งมีมูลค่าลดน้อยลงไปเท่านั้น

4. ผู้ลงทุนควรทราบ “สถานะการลงทุนใน DW” ของตนเองด้วยว่า ณ ขณะนั้น มีสถานะเป็นอย่างไร ซึ่งโดยหลักแล้วจะมีด้วยกัน 3 สถานะ ได้แก่ “In-the-money” หมายถึง หากใช้สิทธิแปลงสภาพแล้วจะได้กำไร At-the-money หมายถึง หากใช้สิทธิแปลงสภาพแล้วจะเท่าทุนพอดี และ Out-of-the-money หมายถึง หากใช้สิทธิแปลงสภาพแล้วจะขาดทุน โดยความเสี่ยงสูงสุดจะเกิดขึ้นเมื่อมีการถือครอง DW ที่มีสถานะเป็น “Out-of-the-money” ไปจนหมดอายุ ซึ่งเป็นผลให้ผู้ลงทุนนั้นสูญเสียเงินลงทุนใน DW ไป
ทั้งหมดนั่นเอง

5. แม้ว่า DW จะมีผู้ที่คอยดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) แต่ต้องไม่ลืมว่า DW นั้น เป็นตราสารทางการเงินที่ราคายังคงขึ้นกับความต้องการ (Demand-Supply) ของตลาด ณ ขณะหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ราคามีความผันผวนและทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถขาย DW ได้ทันทีในราคาที่ตนเองต้องการ รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการรักษาสภาพคล่องของผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) รวมทั้งข้อกำหนดในการดูแลสภาพคล่องของผู้ดูแลสภาพคล่องในแต่ละรายด้วย

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับมือกับความเสี่ยงเท่าที่เราสามารถรับได้จริง ศึกษาข้อมูล รายละเอียด เงื่อนไขต่าง ๆ ของ DW ให้ละเอียดถี่ถ้วนทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน​