"เซอร์กิต เบรกเกอร์" มาตรการพักหายใจ เบรกไว้ให้คิด

29 เมษายน 2563
อ่าน 5 นาที
​​​
 
เซอร์กิต เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) เป็นเครื่องมือในตลาดหลักทรัพย์ที่จะนำมาใช้เมื่อยามที่ดัชนีหุ้นร่วงลงอย่างหนัก แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่  8% 15% และ 20% ของดัชนีปิดตลาดวันก่อนหน้า โดยการแบ่งระดับดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงเดือนมีนาคมที่นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกและเทขายหุ้นจนดัชนีดิ่งลงอย่างหนัก

เช่น ดัชนีจากเปิดตลาด 1,000 จุด ร่วงไป 80 จุด หรือ 8% จากปิดตลาดวันก่อนหน้า เมื่อนั้นมาตรการนี้จะถูกนำมาใช้สั่งหยุดการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที ก่อนเปิดให้ซื้อขาย
 
และหากดัชนียังรูดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับ 15% หรือจาก 1,000 จุด ร่วงลงไป 150 จุด ตลาดหลักทรัพย์จะเบรกการซื้อขายอีกครั้งเป็นเวลา 30 นาทีชั่วโมง จากนั้นจะเริ่มเปิดซื้อขายใหม่

แต่ถ้าฉุดไม่อยู่ไหลลงไปเป็น 20% หรือจาก 1,000 จุด ร่วงลงไป 200 จุด คราวนี้จะใช้เซอร์กิิต เบรกเกอร์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

หลังจากใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ ครบ 3 ครั้ง ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไปจนถึงเวลาปิดทำการปกติโดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก ไม่ว่าดัชนีจะเป็นเท่าไหร่ก็ตาม
 
ทำไมต้องมีมาตรการนี้ 
 
มาตรการหยุดการซื้อขายชั่วคราวมีไว้เพื่อชะลอความร้อนแรงของตลาด เมื่อดัชนีลงแรงต้องมีฟลอร์ (floor) มารองรับ ซึ่งจุดเหมาะสมที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยใช้อ้างอิงในการเป็นฟลอร์สำหรับหุ้นตก คือ 8% เป็นค่าวัดที่กำหนดว่าต้องหยุดการซื้อขาย 30 นาที เพื่อลดความตื่นตระหนกและเป็นโอกาสให้รอการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงเปิดการซื้อขายอีกรอบหนึ่ง
 
ทำไมถึงใช้ได้แค่ 3 ครั้งต่อวัน
 
การตก 8% แรก ให้หยุดการซื้อขาย 30 นาที และไล่ไปจนครั้งที่ 3 ที่ตกเพิ่มเป็น 20% จะสั่งหยุดการซื้อขายรอบสุดท้าย 1 ชั่วโมง เพื่อให้เวลาผู้ลงทุนมีสติและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้รอบคอบมากขึ้นไปอีก แต่หากใช้มาตรการนี้ครบ 3 ครั้งแล้วดัชนียังลดลงอีกก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
 
อย่างไรก็ตาม หากใช้ประกาศเซอร์กิต เบรกเกอร์ ก่อนตลาดปิด ก็จะไม่มีการชดเชยเวลาแม้ว่าจะไม่ครบ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงก็ตาม เช่น ช่วงเช้าตลาดหุ้นไทยปิดเวลา 12.30 น. หากใช้เซอร์กิตเวลา 12.15 น. ก็จะมีเวลาของมาตรการ 15 นาทีเท่านั้น
 
ทำไมหุ้นขึ้น 10% ถึงไม่เบรก
 
คาดว่า การที่ดัชนีขึ้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการซื้อขายหุ้นซึ่งอาจมีทั้งรายเก่ารายใหม่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับภาพรวม แต่การปรับลดลงมากๆ เกิดจากแรงเทขายของผู้ลงทุนในปัจจุบัน อาจเป็นความตื่นตระหนกและผลทางจิตวิทยา ซึ่งกระทบกับตลาดทุนในภาพรวมไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นหรือตลาดซื้อขายล่วงหน้า มาตรการนี้จึงจะใช้เมื่อตลาดเกิดความปั่นป่วน เพื่อให้เวลาในการตั้งสติและคิดอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจ
​_________________________________________________________________________________
**​​ ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำหนดเกณฑ์การหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว (เซอร์กิตเบรกเกอร์) เป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 หากดัชนีร่วง 10% หยุดพักการซื้อขาย 30 นาที และระดับ 2 หากเปิดซื้อขายแล้วดัชนีร่วงไปแตะ 20% จะหยุดพักการซื้อขาย 60 นาที จากนั้นเมื่อเปิดตลาดแล้วไม่ว่าดัชนีจะลงไปอีกใด ก็จะไม่หยุดพักอีกจนถึงปิดตลาด 

แต่หลังจากใช้มาตรการพิเศษเพื่อเสริมเสถียรภาพของตลาดและสร้างความมั่นใจลงทุนให้ผู้ลงทุน ปรับระดับเซอร์กิตเบรกเกอร์เป็น 8% เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมีเวลาวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารได้ดีขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ จึงตัดสินใจใช้มาตรการกำหนดระดับเซอร์กิตเบรกเกอร์ใหม่ 3 ระดับดังกล่าวเป็นการถาวร
_________________________________________________________________________________
​ 
ประสบการณ์เซอร์กิต เบรกเกอร์ในตลาดหุ้นไทย
ครั้งที่ 1 - วันที่ 19 ธันวาคม 2549  เป็นเหตุการณ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรการกันสำรอง 30% ของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อป้องกันเงินร้อนเข้ามาเก็บกำไรค่าเงินบาท
 
ครั้งที่ 2 - วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เป็นเหตุการณ์ที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งลงจากความวิตกปัญหาวิกฤตการเงินโลก ความอ่อนแอของสถาบันการเงินสหรัฐส่อเค้ารุนแรง เมื่อเลห์แมนบราเธอร์ล้มละลาย
 
ครั้งที่ 3 - วันที่ 27 ตุลาคม 2551 เป็นการเปิดฉากวิกฤตการเงินโลกที่เริ่มลุกลามอย่างจริงจังจากปัญหาซับไพร์ม หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพในสหรัฐปั่นป่วนไปทั่วโลก ตลาดหุ้นร่วงระนาว รวมทั้งหุ้นไทยด้วย

(อัพเดท) ครั้งที่ 4 - วันที่ 12 มีนาคม 2563 ตลท. ประกาศใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์อีกครั้งในรอบ 11 ปี 4 เดือน จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่สร้างความกังวลต่อนักลงทุน โดยดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องไปถึง 125 จุด หรือประมาณ 10% อยู่ที่ 1,124.84 จุด ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์หยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 30 นาที ก่อนจะเปิดให้ซื้อขายอีกครั้ง

ครั้งที่ 5 - วันที่ 13 มีนาคม 2563 ตลท. ต้องใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์อีกครั้งเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากดัชนีปรับลดลงอีก 111.52 จุด หรือ 10% อยู่จุดต่ำสุด 1,003.39 จุด สอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลดลงอย่างหนักจนต้องใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์มาพักการซื้อขายชั่วคราวเช่นกัน พร้อมทั้งออกมาตรการรับมือ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0% พร้อมประกาศเพิ่มสภาพคล่องในระบบ (QE) เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่เริ่มน่าเป็นห่วง
 
ครั้งที่ 6 - วันที่ 23 มีนาคม 2563 ตลท. ประกาศใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์อีกครั้ง โดยเป็นการใช้มาตรการใหม่ที่กำหนดระดับการใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ครั้งแรกเมื่อหุ้นตก 8% ในวันนั้นดัชนีลดลงกว่า 90 จุด ทำให้เบรกการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที มีสาเหตุจากความกังวลการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงขึ้น
​ 
?? รู้หรือไม่ ?? : ตลาดหุ้นสหรัฐจะใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ เมื่อดัชนีปรับลดลงถึง 7% ซึ่งล่าสุดวันที่ 9 มีนาคม 2563 ตามเวลาท้องถิ่น ตลาดหุ้นสหรัฐประกาศใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ หลังจากเปิดตลาดไม่ถึง 10 นาทีดัชนีทรุดกว่า 1,800 จุด หรือกว่า 7% โดยหยุดพักเป็นเวลา 15 นาที ซึ่งดัชนีปิดตลาดร่วงกว่า 2,000 จุด สาเหตุจากความตื่นตระหนกกรณีราคาน้ำมันดิบดิ่งลงอย่างรุนแรงจากสงครามราคาน้ำมันระหว่างประเทศในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย รวมทั้งความวิตกจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่อาจกระทบเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง​