#บทความ คริปโท 101 อ่านได้
EP.1 ทำไมต้อง “คริปโท” ในนาทีนี้

01 กรกฎาคม 2564
อ่าน 4 นาที



​1. ทำไมไปทางไหนก็ได้ยินแต่คริปโท
คริปโทกำลังได้รับความสนใจ หลังจากราคาช่วงปลายปี 2563-ปัจจุบัน ปรับตัวขึ้นกว่า 10 เท่าหรือ 1,000% โดยเฉพาะบิตคอยน์และอีเธอเรียม อีกทั้งมีพัฒนาการต่างๆ อย่างใช้สมาร์ทคอนแทร็ก (smart contract) ใน DeFi (Decentralized Finance) หรือ NFT (Non-Fungible Token) เป็นกระแสทำให้คนสนใจมากขึ้น

2. คริปโทเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร
คริปโทเคอร์เรนซีแต่ละตัวเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น
บิตคอยน์ (Bitcoin) เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกของการเป็นสินทรัพย์ ทำหน้าที่เหมือนทองคำ เหมาะสำหรับการเก็บรักษามูลค่า และทำธุรกรรมที่ไม่มีตัวกลางได้ทั่วโลกโดยไม่มีใครแทรกแซง 
อีเธอเรียม (Ethereum) เกิดขึ้นมาเพื่อเสนอตัวจะเป็นคอมพิวเตอร์ของโลก เป็นแพลตฟอร์มที่จะรันซอฟท์แวร์หรือโปรแกรมโดยที่ไม่มีใครมาหยุดยั้งหรือแทรกแซงได้

3. Stablecoin คืออะไร
ในเชิงเทคนิค Stablecoin เป็นโทเคนที่รันอยู่บนสมาร์ทคอนแทร็ก เป็นคริปโทที่อาศัยแพลตฟอร์มอื่นในการทำงาน 
วัตถุประสงค์การสร้าง Stablecoin เพื่อให้เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่อ้างอิงมูลค่ากับสกุลเงินที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ (USD) เยน (yen) หรือเงินบาท (THB) เนื่องจากหลายครั้งไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทกับสกุลเงินได้โดยตรง เพราะไม่ได้ทำงานบนระบบเดียวกัน ไม่ได้ชำระราคา (settle) แบบเดียวกัน จึงมีการสร้างคริปโทที่อ้างอิงราคาจากสกุลเงิน ไม่ปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามเสรี 
ตัวอย่าง USD Tether (USDT) เป็น Stablecoin ตัวแรก สร้างขึ้นมารันอยู่บนเน็ตเวิร์กของบิตคอยน์ ชื่อ Omni Layer โดยวิธีการสร้าง USDT ต้องนำ USD ไปฝากที่บริษัท Tether ถ้าฝาก 1 USD ก็สร้างได้ 1 USDT โดย Tether จะมีคลังเก็บเงิน USD และจะสร้างดิจิทัลโทเคนที่อ้างอิงมูลค่ากับเงินในคลัง
Stablecoin อาจแบ่งกว้าง ๆ เป็น 2 ประเภท คือ 
        1. Stablecoin ที่อ้างอิงกับมูลค่าโดยตรง ดังที่กล่าวข้างต้น 
        2. Stablecoin ที่เกิดจากการรักษามูลค่า รักษาราคาให้เท่ากับเหรียญที่ต้องการอ้างอิง ด้วยการใช้กลไกตลาด (Algorithmic Stablecoin) อย่างที่พูดถึงกันเร็ว ๆ นี้ เช่น Thaibaht Terra (THT) เป็นโทเคนที่ไม่ได้อ้างอิงกับเงินบาทโดยตรง แต่ค้ำประกันไว้ด้วยเงินที่มีมูลค่าเท่าเทียมกับเงินบาทประมาณหนึ่ง เท่ากับจำนวนของโทเคน และจะปรับสัดส่วนโทเคนตามสภาวะตลาด เช่น ถ้าราคาสูงขึ้นก็จะเพิ่มปริมาณโทเคนทำให้ราคาลดลง รักษาราคาด้วย Algorithm โดยรูปแบบนี้เป็นทฤษฎีใหม่ที่มีหลักการน่าสนใจ แต่เพิ่งมีมาไม่กี่ปีจึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะรักษาอัตราได้มั่นคงอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่

4. คริปโท กับ บิตคอยน์ เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่
คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือคริปโทแอสเซท (Crypto Asset) หมายถึง สินทรัพย์หรือสิ่งที่ใช้แทนเงิน ที่ทำงานด้วยหลักคริปโทกราฟี (Cryptography) หรือศาสตร์การเข้ารหัสแบบอสมมาตร แต่ในภาพรวมคริปโทเคอร์เรนซีมีหลายรูปแบบ ซึ่งจะมีลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกันไปแต่ละตัว 
บิตคอยน์ เป็นคริปโทเคอร์เรนซีตัวแรกของโลกที่ทำงานได้โดยไม่มีตัวกลางและไม่มีใครควบคุมได้ หลังจากนั้นมีคริปโทเกิดขึ้นอีกหลายตัว บางตัวก๊อปปี้บิตคอยน์เกิดเป็นอัลท์คอยน์ (Altcoin) หรือบางโครงการนำ code บิตคอยน์มาดัดแปลงเพิ่มคุณสมบัติอื่นเข้าไป มีทั้งที่ใช้ได้และล้มเหลว
เหรียญอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นยุคถัดมา ปี 2014-2015 เป็นสมาร์ทคอนแทร็ก แพลตฟอร์ม (smart contract platform) หรือ เวอร์ชวล แมชชีน แพลตฟอร์ม (virtual machine platform) เช่น อีเธอเรียม เป็นคริปโทตัวแรกที่ทำในลักษณะนี้ และมีหลายโปรเจ็กต์ที่ลอกเลียนแบบ source code ของอีเธอเรียม นำมาใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกัน 

5. ซื้อขายคริปโทเหมือน forex หรือ ทองไหม
คริปโท เปรียบได้กับสินค้าชนิดหนึ่ง ที่ซื้อขายได้กับคนที่ต้องการซื้อขายกับเรา ผ่านเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับตลาดแลกเปลี่ยน อาจคล้ายกับการซื้อขายทองคำ แต่ค่อนข้างแตกต่างกับการซื้อขาย forex 
forex เป็นตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงบุคคลธรรมดาไม่ได้ซื้อสินค้าเป็นตัวเงินสกุลเหล่านั้น แต่เป็นการซื้อสัญญาส่วนต่างของการเปรียบเทียบค่าเงิน 
ในมุมมองนี้ถ้าเทียบกัน น่าจะใกล้เคียงกับการซื้อทองคำที่สามารถซื้อและเป็นเจ้าของได้ 

6. ซื้อขายคริปโทได้รถสปอร์ต?
รวยได้และจนได้ ไม่ต่างจากการลงทุนทั่วไป หลายครั้งอาจเห็นสินค้าในตลาดนี้มูลค่าเพิ่มขึ้น 10 เท่าหรือ 100 เท่า ในช่วงทุก 4-5 ปี แต่ไม่ได้แปลว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคต
ช่วงที่ผ่านมาด้วยความเป็นตลาดใหม่ สภาพคล่องน้อย และมีเงินทุนไหลเข้าออกจำนวนมาก ทำให้ราคาคริปโทเมื่อเทียบกับ USD หรือเงินบาท มีความผันผวนมาก เช่น บิตคอยน์ ราคาอาจขึ้นได้ถึง 1,000% ต่อปี ขณะเดียวกันก็อาจลดลงได้ 80-90% ภายในไม่กี่เดือน

7. ราคาคริปโทขึ้นลงจากอะไร 
ปัจจัยที่ทำให้ราคาคริปโทขึ้นลง คือ กลไกตลาด จากปริมาณ (ซัพพลาย) กับความต้องการ (ดีมานด์) เมื่อซัพพลายมีจำกัดแต่มีคนต้องการซื้อมาก กำลังซื้อจะผลักดันให้ราคาสูงขึ้น ตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้นในทุกสินค้า 
ยกตัวอย่าง บิตคอยน์ ที่ถูกออกแบบให้มีจำนวนจำกัด ทำให้บิตคอยน์เกิดขึ้นในจำนวนที่ลดลงเรื่อย ๆ โดยปี 2140 จะมีบิตคอยน์จำนวนไม่เกิน 21 ล้านบิตคอยน์ ดังนั้น ทางฝั่งซัพพลายจึงคาดเดาได้ 
ฝั่งดีมานด์ เป็นผลมาจากบิตคอยน์ไม่สามารถถูกแทรกแซงได้ ทำให้หลายคนเริ่มเห็นคุณค่า และต้องการใช้เป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าชนิดหนึ่ง เมื่อซัพพลายคงที่แต่ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น
บางครั้งอาจจะมีดีมานด์อื่นที่เกิดจากกระแสหรือตามกันเข้ามา ดีมานด์เหล่านี้เมื่อถึงเวลาตลาดชะลอตัว ก็อาจกลับออกไป ทำให้เกิดการแกว่งของราคาได้ค่อนข้างมาก

8. จำเป็นต้องรู้อะไรก่อนซื้อขายคริปโท 
การศึกษาหาความรู้เรื่องคริปโทเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้น เพราะการซื้อขายโดยที่ไม่รู้ว่าซื้ออะไรลงไป หากราคาผันผวนหรือเกิดสิ่งที่ไม่เข้าใจ เช่น โอนเงินบนบล็อกเชนแล้วช้า ไม่เข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้น ก็จะนำไปสู่ความกระวนกระวายใจ อาจเกิดความผิดพลาดทำให้เสียเงินได้ 
อาจจะทำสองอย่างพร้อมกัน คือ ศึกษาหาข้อมูลคริปโทให้เข้าใจถ่องแท้ พร้อมกับเรียนรู้ตลาดไปด้วย สำหรับบางคนอยากมีบิตคอยน์แต่ความรู้ยังไม่ถึง แนะนำว่าอย่าพนันหรือเทรดหรือรับความเสี่ยงมาก ควรซื้อบิตคอยน์ด้วยเงินที่คำนวณแล้วว่าถ้าเสียเงินนี้ไปจะไม่มีผลกระทบกับชีวิต
การได้มีบิตคอยน์สักนิดหนึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้ศึกษาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วอาจจะเปลี่ยนแง่มุม หรือเปลี่ยนวิธีการซื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดความเข้าใจ 
          _______________

อ้างอิงจากความรู้พื้นฐาน คริปโท 101 ตอนที่ 1 หัวข้อ "ทำไมต้องคริปโทในนาทีนี้" โดย อ. พิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ Chaloke.com เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และ Start-to-invest  โดยข้อคิดเห็นที่ปรากฏนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของวิทยากร มิใช่ของสำนักงาน ก.ล.ต.
สามารถดูคลิปฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/2iHnWPDETqE​