#บทความ คริปโท 101 อ่านได้
EP.2 คริปโทกับบล็อกเชน คนละเรื่องเดียวกัน

02 กรกฎาคม 2564
อ่าน 4 นาที
​​​

​1. บล็อกเชนคืออะไร เกี่ยวอะไรกับคริปโท?
บล็อกเชน (Blockchain) เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่ทำให้คริปโทเคอร์เรนซี หรือ คริปโทแอสเซท ทำงานได้โดยไม่มีตัวกลาง หลายคนคิดว่าบล็อกเชนแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกได้ ซึ่งต้องบอกว่า ไม่ใช่  
บล็อกเชน คือ ระบบฐานข้อมูล ที่เป็นระบบเก็บและป้องกันการแก้ไขข้อมูลย้อนหลัง โดยกระจายข้อมูลไปยังหลายพื้นที่ หลายตำแหน่ง เพื่อป้องกันการแทรกแซงและการทำลายข้อมูล เทียบกับระบบฐานข้อมูลในระบบการเงิน/ธนาคาร ข้อมูลธุรกรรมจะเก็บอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์กลางของสำนักงานใหญ่ การมีฐานข้อมูลเดียวอาจ 1. เสี่ยงต่อการโจมตี 2. ทำให้ผู้ควบคุมฐานข้อมูลมีสิทธิที่จะอนุมัติ ไม่อนุมัติธุรกรรมได้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ตัวอย่าง บิตคอยน์ ต้องการให้ทำงานได้โดยไม่มีตัวกลางและไม่ให้มีช่องทางโจมตีฐานข้อมูลได้ จึงใช้วิธีกระจายฐานข้อมูลไปยังอยู่ในผู้ใช้งานทุกคนที่รันบิตคอยน์โหนด (node) ทำให้ฐานข้อมูลมีก๊อปปี้ซ้ำ ๆ อยู่ทั่วโลก การลบหรือแก้ไขข้อมูลในฐานข้อมูลก๊อปปี้ใดก๊อปปี้หนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุก node จะรู้ว่ามีการแก้ไขเกิดขึ้น ทำให้มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ ยังป้องกันการแก้ไขข้อมูลย้อนหลังด้วย โดยระบบฐานข้อมูลที่กระจายศูนย์จะไม่รู้ว่าธุรกรรมใดเกิดขึ้นก่อน เพราะแต่ละธุรกรรมจะถูกส่งไปยัง node ที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด วิธีที่จะทำให้เหลือความจริงเพียงหนึ่งเดียวจะใช้ การขุด 
การขุด คือ การปิดบัญชี โดยนักปิดบัญชีทำหน้าที่นำธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 10 นาทีมาเรียบเรียงในบล็อก แล้วใช้แฮชชิง อัลกอริทึ่ม (hashing algorithm) มาปิดบล็อก เพื่อไม่ให้ถูกแก้ไขย้อนหลังได้ง่าย ถ้าใครจะแก้ไขก็ต้องสร้างแฮช (hash) ด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เท่าเทียมกันหรือมากกว่าเท่านั้น ทำให้ฐานข้อมูลที่กระจายอยู่ทั่วโลกไม่สามารถถูกแทรกแซงได้ ไม่เป็นเป้าหมายโจมตี และไม่มีใครคนหนึ่งควบคุมธุรกรรมบนระบบได้ เกิดเป็นระบบการเงินที่ไร้ตัวกลางอย่างสมบูรณ์
ส่วนเหรียญอื่น ๆ ก็นำบล็อกเชนมาใช้งานเช่นเดียวกัน แต่อาจในลักษณะที่ต่างกันออกไป อาจจะลดหรือเพิ่มคุณสมบัติบางอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าเหรียญนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อทำอะไร 

2. บล็อกเชน ปลอดภัยจริงหรือ
คำที่พูดกันว่า ถ้าใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแล้วจะทำให้ฐานข้อมูลปลอดภัย โปร่งใส ไม่สามารถแก้ไขได้นั้น เป็นความเข้าใจผิด ความปลอดภัยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เป็นบล็อกเชน 
ตัวอย่าง บล็อกเชนของบิตคอยน์ ความปลอดภัยเกิดขึ้นจากจำนวน node ที่กระจายอยู่ทั่วโลก จากกำลังขุดมหาศาล หากใครต้องการแก้ไขข้อมูลในบล็อกเชนของบิตคอยน์ จำเป็นต้องใช้กำลังไฟฟ้ามหาศาลด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นกำลังไฟฟ้าที่มากเกินกว่ามนุษย์คนใดคนหนึ่งจะหามาได้
แต่หากเป็นบล็อกเชนที่ไม่มีใครใช้งาน มีข้อมูลกระจายอยู่เพียง 1-2 node หรือใช้โน้ตบุ๊กตัวเดียวก็ขุดได้ ก็ง่ายมากที่จะถูกแก้ไขบัญชีย้อนหลัง โจมตี ลบ หรือแฮ็ก ทำให้ระบบล่มหรือถูกควบคุมการทำงานได้
สิ่งที่ได้มาจากการใช้บล็อกเชน คือ การตัดตัวกลาง ฉะนั้น ถ้าการใช้งานบล็อกเชนนั้นไม่ได้ทำเพื่อการตัดตัวกลางจึงไม่ค่อยมีเหตุผลที่จะใช้บล็อกเชนเท่าไร
ไม่ใช่ทุกบล็อกเชนจะปลอดภัย ขึ้นอยู่กับกำลังขุดที่อยู่ข้างหลัง ขึ้นอยู่กับจำนวน node ที่กระจายตัว และลักษณะของ node ที่กระจายตัวอยู่ด้วย

3. จำเป็นต้องรู้จักบล็อกเชนไหมจึงจะสามารถซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้
สิ่งที่ทำให้คริปโทหลายตัวมีเอกลักษณ์หรือประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่แค่บล็อกเชนอย่างเดียว ฉะนั้นไม่ได้จำเป็นต้องรู้ว่าบล็อกเชนคืออะไรเสียทีเดียว แต่อยากให้รู้จักโปรเจ็กต์ที่ลงทุนหรือเหรียญที่เราซื้อ
ตัวอย่าง บิตคอยน์ ต้องการเป็นอะไร ต้องการทำอะไร และทำงานอย่างไร ซึ่งความรู้องค์รวมตรงนี้สำคัญกว่า เพราะจะเห็นการทำงานที่ผสมผสานกันระหว่างหลายตัวแปรที่มีเทคโนโลยีการเข้ารหัส เทคโนโลยีบล็อกเชน เทคโนโลยีปรูฟออฟเวิร์ก (proof of work) ที่ทำให้ปลอดภัย และใช้เทคโนโลยี automatic difficulty adjustment algorithm กำหนดให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราการผลิตได้ 
เหรียญอื่น ๆ จะมีเทคโนโลยีที่เลือกใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ อย่าโฟกัสศึกษาเพียงเทคโนโลยีหลัก (core technology) แต่ควรมองโปรเจ็กต์โดยรวม เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่เป็นการเลือกใช้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละโปรเจ็กต์

4. DeFi คืออะไร 
DeFi จะเรียกว่าเป็นระเบียบวิธีหรือแนวคิดก็ได้ ย่อมาจาก Decentralized Finance การให้บริการการเงินที่ไม่มีตัวกลาง หากมองบริการการเงินเป็นเรื่องการทำธุรกรรม คริปโทเคอร์เรนซียุคแรก ๆ ตั้งแต่บิตคอยน์มาก็ถือว่าเป็น DeFi ได้เหมือนกัน
แต่คำว่า DeFi  ที่พูดถึงกันในปี 2020-2021 จะพูดถึงตลาดที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม การฝากเงิน หรือบริการให้กู้ยืม (financing service) แบบไม่มีตัวกลาง โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า สมาร์ทคอนแทร็ก (smart contract) ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของคริปโทเคอร์เรนซีนั่นเอง
สมาร์ทคอนแทร็ก คือ โค้ด (code) ที่เมื่อข้อกำหนดเป็นจริงแล้ว จะทำงานได้ทันที เช่น รับ-ส่ง ล็อก หรือทำลายเงินตามโปรแกรมที่เขียนไว้
เงินที่ทำ DeFi กันก็จะเป็น อีเธอเรียม (Ethereum) เป็นเงินที่เขียนโปรแกรมได้ จึงนำมาพลิกแพลงสร้างบริการทางการเงิน ที่ปล่อยกู้ได้ โดยอาจมีเงื่อนไขให้วางสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นเหรียญคริปโทตัวอื่น ๆ แล้วใช้สมาร์ทคอนแทร็กล็อกเอาไว้ว่า ถ้าเบี้ยวหนี้หรือมูลค่าเหรียญที่ค้ำประกันลดลงไปโดยไม่สามารถค้ำประกันวงเงินกู้ได้ ให้ดึงเหรียญตรงนั้นมาสู่ผู้ให้กู้อัตโนมัติ เป็นการลดความเสี่ยงผู้ให้กู้ ทำให้กู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุมดูแล เนื่องจาก code สามารถดูแลได้ในระดับหนึ่ง
DeFi พัฒนาไปไกลในระยะเวลาสั้น เราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ (synthetic product) สามารถใช้กลไกตลาดกำหนดราคาอย่างเสรีบนตลาดเสรีผ่าน liquidity mining / liquidity pool ได้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่า ถ้าบริการการเงินเหล่านี้ทำงานได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง จะสร้างมูลค่าอะไรบ้าง 
ขณะเดียวกัน ด้วยความที่พัฒนาเร็วมาก จะตามมาด้วยปัญหามากเช่นกัน โดย code เหมือนโปรแกรมทั่วไปที่มีบั๊ก มีช่องโหว่ ถูกใช้ประโยชน์ (exploit) ทำให้คนเสียเงินไปมหาศาล เหตุการณ์ rug pull* ที่เงินถูกดึงออกจาก pool ทั้งหมด หรือถูก exploit ผ่านการถูกปัดเศษ หรือ flash loan เพราะฉะนั้น DeFi ตื่นเต้น น่าสนุก แต่ก็อันตราย ถ้าไม่มีความรู้เพียงพอก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม 

5. DeFi ไม่มีตัวกลาง เป็นบล็อกเชนไหม
บล็อกเชน กับ DeFi ไม่มีตัวกลางแต่เป็นคนละเรื่อง บล็อกเชน หมายถึงโครงสร้างของระบบฐานข้อมูล ส่วน DeFi ทำงานอยู่บนบล็อกเชน ทำให้คำสั่ง/สัญญาที่เกิดขึ้น (สมาร์ทคอนแทร็ก) เป็นจริงได้ ยากต่อการแก้ไขหรือลบล้าง และสามารถทำงานได้อัตโนมัติ 

6. smart contract คืออะไร ใช้ทำอะไรบ้าง
ในโลกของคริปโท มีคำว่า โค้ด คือ กฎหมาย (code is law) โดยสมาร์ทคอนแทร็ก (smart contract) เป็นสัญญาที่ทำงานได้โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม จากปกติจะต้องมีคนกลางควบคุมให้ทั้งสองฝ่ายเคารพสัญญา แต่สมาร์ทคอนแทร็ก เมื่อเขียนสัญญาขึ้นและทำถูกต้องตามข้อกำหนด จะเกิดผลตามที่เขียนไว้ในสัญญานั้นอัตโนมัติ 
ตัวอย่าง การส่งเงินในระบบบิตคอยน์ เป็นการทำงานในลักษณะของสมาร์ทคอนแทร็กเหมือนกัน ซึ่งบิตคอยน์จะถูกล็อกเอาไว้ในแอดเดรส (address) เราสามารถปลดล็อกได้ด้วยลายเซ็นดิจิทัลของเรา พอปลดล็อกแล้วก็ต้องล็อกใหม่อีกครั้ง การที่ปลดล็อกได้แปลว่าเราสามารถใช้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคนมาอนุญาต ซึ่งการปลดล็อกมีแค่เราเท่านั้นที่ทำได้ตามโปรแกรมที่เขียนเอาไว้ 
สมาร์ทคอนแทร็ก อาจมีความซับซ้อนกว่าแล้วแต่โปรแกรมที่เขียนเข้าไป เช่น กำหนดให้ล็อกเงินเอาไว้เป็นเวลา 10 ปี หรือหากจะเอาออกมาใช้ต้องมีคนเซ็น 3 จาก 5 คนขึ้นไป หรือใช้กระจายสินทรัพย์ของบริษัทในการออกหุ้น หรือค้ำประกันเงินกู้แล้วสั่งยึดสินทรัพย์ค้ำประกันอัตโนมัติก็ได้
ปัญหาของสมาร์ทคอนแทร็ก อยู่ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าสามารถใช้ทำได้กับทุกสัญญาในโลก "ซึ่งไม่ใช่" สมาร์ทคอนแทร็กไม่สามารถสั่งการสินทรัพย์ที่อยู่นอกเหนือระบบของตัวเองได้ เรานำสมาร์ทคอนแทร็กไปผูกกับโฉนดที่ดินไม่ได้ เพราะสำนักที่ดินไม่ได้รับรู้ด้วย ก็ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย
แต่หลักการทำงานของสมาร์ทคอนแทร็กที่ไม่มีตัวกลาง ทำให้เริ่มคิดวิธีการเขียนคอนแทร็กเพื่อนำไปสู่การสร้างบริการการเงินการลงทุนต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายตามมา 

7.  สินทรัพย์ดิจิทัลดีหรือแตกต่างจากสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างไร 
ในมุมมองส่วนตัว สินทรัพย์ก็คือสินทรัพย์ ไม่ต่างกัน อาจจะแค่ใหม่และน่าตื่นเต้น สิ่งที่ต่างจะเป็นเรื่องคุณสมบัติ ที่สามารถเป็นสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์ตัวเองได้ดีแค่ไหน 
ทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์การเป็นเงินโลกตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18-19 เป็นต้นมา เพราะสามารถแลกเปลี่ยนทดแทนได้ (fungibility) มีรูปแบบเดียว (uniformity) ที่ทุกหน่วยเหมือนกัน และไม่เสื่อมสลาย สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของแท้ จะโกงกันก็ยาก ทองคำจึงเป็นเงินที่ยอมรับทั่วโลก เพราะตอบโจทย์การเป็นเงินที่ดี
เมื่อมาพิจารณาสินทรัพย์ดิจิทัล บิตคอยน์ต้องการตอบโจทย์เป็นเงินโลกที่ดีเหมือนทองคำได้หรือไม่ การตรวจสอบว่าบิตคอยน์เป็นของแท้ก็ตรวจสอบได้โดยทุกคนที่อยู่ในระบบ มีอัตราผลิตที่ตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน การเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งให้กันได้ผ่านระบบสื่อสารโทรคมนาคม จึงเหนือกว่าทองคำในแง่การใช้งานข้ามระยะทางไกล ก็แล้วแต่ว่าจะพิจารณาอย่างไร
อีเธอเรียม เป็นสมาร์ทคอนแทร็กแพลตฟอร์มสำหรับเป็นคอมพิวเตอร์ ก็ต้องพิจารณาว่าสามารถตอบโจทย์ตรงนั้นได้ดีหรือไม่ 
เพราะฉะนั้นสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะเหมือนกับสินทรัพย์ คือ ต้องดูว่าสินทรัพย์นั้นต้องการมาทำอะไร และตอบโจทย์ได้ดีหรือเปล่า
          _______________

*rug pull คือ การฉ้อโกง (scam) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นบน DeFi project โดยเมื่อมีผู้ใช้งาน DeFi จำนวนหนึ่ง ผู้พัฒนาจะยุติโครงการ และหนีหายไปพร้อมกับทรัพย์สินของผู้ใช้งานหรือผู้ลงทุน อ่านเพิ่มเติมข่าวเกี่ยวกับ rug pull : โครงการ DeFi “Meerkat DeFi” ปิดตัวหนี มูลค่าความเสียหายรวมเกือบ 1,000 ล้านบาท https://bitcoinaddict.org/2021/03/04/rug-pull-defi-meerkat-31-million/

อ้างอิงจากความรู้พื้นฐาน คริปโท 101 ตอนที่ 2 หัวข้อ "คริปโทกับบล็อกเชน คนละเรื่องเดียวกัน" โดย อ. พิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ Chaloke.com เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และ Start-to-invest โดยข้อคิดเห็นที่ปรากฏนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของวิทยากร มิใช่ของสำนักงาน ก.ล.ต.
สามารถดูคลิปฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/uA22U0ria3o