
1. คริปโทและโทเคน ต่างกันอย่างไร
• เหรียญที่รู้จักกันอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) อีเธอเรียม (Ethereum) นับเป็นตัวหลักของคริปโทเคอร์เรนซี
• ส่วน โทเคน (Token) มักจะเป็นเหรียญที่ออกอยู่บนบล็อกเชนของตัวหลัก เช่น อีเธอเรียม ที่คนทั่วไปสามารถมาออกเหรียญบนตัวบล็อกเชนของอีเธอเรียมได้
• ถ้าเปรียบเทียบกับโลกจริง คริปโทเคอร์เรนซีกับโทเคน อาจเหมือนกับเงินทั่วไป แต่ต่างกันที่โทเคนจะเหมือนกับคูปองศูนย์อาหาร ที่รากฐานเหมือนเงินปกติแต่เมื่อจะใช้งานที่ฟู้ดคอร์ทต้องแลกเป็นโทเคน
• ที่ต้องสนใจว่าอะไรเป็นเหรียญแบบไหน เพื่อให้เรารู้ว่าเรามีสิทธิจากเหรียญต่าง ๆ นั้นมากน้อยแค่ไหน
• คริปโทเคอร์เรนซี เหมือนการถือเงินสกุลต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร นอกจากไปแลกเป็นสินค้าหรือบริการ ตามที่คนให้ค่ากัน
• ส่วนโทเคน ก็อาจจะต้องกลับไปถามกับผู้ออกว่า โทเคนนั้นมีคุณค่าอย่างไร ตัวอย่าง กรณีฟู้ดคอร์ทเวลาที่ไปแลกเป็นโทเคนออกมา เราสามารถนำโทเคนนั้นไปแลกอาหารได้เฉพาะที่ฟู้ดคอร์ทนั้น ๆ เป็นต้น
2. โทเคนคืออะไร
• การพิจารณาว่า โทเคนแต่ละตัวทำงานอย่างไร ต้องศึกษาจาก White Paper ที่จะระบุว่าออกแบบหรือดีไซน์รูปแบบการใช้งานโทเคนนั้นไว้อย่างไร ใช้ประโยชน์ (utility) อย่างไรได้บ้าง
• เปรียบเทียบได้กับ การเตรียมจะเปิดสนามกอล์ฟ และมีให้ซื้อ voucher ก่อน เป็นการขายสินค้าหรือบริการล่วงหน้า แล้วค่อยมาใช้คืนทีหลัง หรือตัวอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ คือ การแลกสินค้าหรือบริการจากศูนย์อาหารเป็นคูปองอาหารหรือเครดิตในการ์ดของฟู้ดคอร์ทสิ่งเหล่านี้มีลักษณะใกล้เคียงรูปแบบของ utility token คือ ใช้งานในพื้นที่จำกัดในสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้
• โทเคนอีกประเภทหนึ่ง คือ อินเวสเมนต์ โทเคน (investment token) ที่อาจจะมีสิทธิต่าง ๆ ในการเข้าร่วมลงทุน แล้วแต่การออกแบบโทเคนแต่ละประเภท อาจจะมีการปันผล หรือมีสิทธิต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงหรือคล้ายกับการเข้าลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ
• ควรศึกษาให้ดีว่าแต่ละโทเคนมีการชี้แจงใน white paper อย่างไร มากกว่าดูแต่ชื่อเหรียญแล้วเข้าไปลงทุนอย่างเดียว ในมุมนี้คล้ายกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วรู้เพียงสัญลักษณ์ (symbol) แต่ไม่รู้ว่าบริษัทนี้ทำอะไร
• อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องสนใจ คือ โทเคนที่เข้าไปถือนั้นมีปริมาณเท่าไร มีจำนวนจำกัดหรือไม่ ซึ่งปริมาณที่ซื้อขายอยู่ในตลาดอาจไม่ใช่ทั้งหมดของเหรียญที่มี คล้ายกับการดูว่า ในตลาดมี float* อยู่เท่าไร ที่จะทำให้รู้ว่า โทเคนหรือเหรียญต่าง ๆ เหล่านั้น มีโอกาสที่จะถูกจัดการ (manipulate) กับราคาได้อย่างไรบ้าง
• อีกคำหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยมากในช่วงนี้ คือ DeFi (Decentralized Finance) คือ การนำโทเคนเข้ามาอยู่ในกระบวนการ stake หรือ farm เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการที่มีคนแลกเปลี่ยนเยอะ ๆ ตรงนี้ก็น่าสนใจที่จะศึกษาและเป็นเรื่องที่ต่อยอดลงไปได้ลึกมาก ๆ
3. Security Token คืออะไร
• โทเคนอีกแบบที่น่าสนใจไม่แพ้กันและมีความผูกพันกับสินทรัพย์ชนิดต่าง ๆ คือ securities token เป็นการนำสินทรัพย์จริง ๆ ในโลกปกติ มาโทเคนไนซ์ (tokenize) หรือเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นโทเคน เป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคต เนื่องจากทำให้สามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ ที่ปกติแล้วอาจจะเข้าไม่ถึง tokenization ทำให้เกิดการสร้าง democratize investment ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการลงทุนได้เท่า ๆ กัน
• จึงต้องศึกษาดูว่า สินทรัพย์ที่เป็นรากฐานของการ tokenize หรือออกมาเป็นโทเคนนั้น เป็นสินทรัพย์ประเภทไหน อย่างไร ซึ่งจะมีวิธีการดูแล จัดการ และวิธีการเลือกลงทุนต่างกันไปแต่ละสินทรัพย์
4. NFT (Non-Fungible Token) ที่เป็นกระแสอยู่ คืออะไร
• โทเคนอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ NFT (Non-Fungible Token) ที่ตอนนี้เป็นกระแสอยู่
• หากเป็นโทเคนหรือคริปโททั่วไป เวลาที่ส่งข้ามหากันจะสามารถทดแทนกันได้ เหมือนธนบัตร 100 บาท เวลาแลกเปลี่ยนกันไม่ต้องสนใจว่าเป็นใบเดิมเบอร์เดิมหรือไม่
• แต่โทเคนแบบ NFT ไม่สามารถทดแทนกันได้ และสามารถออกแบบให้มีเพียงชิ้นเดียวในโลกก็ได้ เช่น
ภาพงานศิลปะ 1 ภาพ ถ้าอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ปกติส่งไฟล์หากัน จะทำให้ไฟล์นั้นขยายตัวเพิ่มขึ้น ตัวอย่าง A ส่งไฟล์ให้ B แปลว่า ทั้ง A และ B จะมีไฟล์นั้นด้วย เรียกว่าไม่ได้มีเอกสิทธิ์เฉพาะของภาพนั้น ๆ
• แต่ NFT เป็นการออกแบบโทเคน ที่ทำให้ไม่สามารถเอาโทเคนใดโทเคนหนึ่งมาทดแทนกันได้ หมายความว่า โทเคนนี้จะมีชิ้นเดียวในโลก คล้ายพระเครื่อง งานศิลปะ หรือของสะสมอย่างแสตมป์ เป็นต้น มักจะมีสตอรี่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งงานศิลปะบน NFT บางชิ้น เมื่อตัวงานจริงทำ tokenize เป็น NFT ไปแล้ว งานจริงอาจจะเผาทิ้งจากโลกไปเลย**
• ล่าสุด มีการ์ดสะสมของนักบาสเก็ตบอล NBA ที่นำมาทำ NFT แปลงจากการสะสมในโลก physical หรือออฟไลน์ มาเป็นโลกออนไลน์แทน โดย NFT เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากและยังเริ่มต้นอยู่ แต่น่าสนใจที่จะเข้าไปศึกษาดูอาจเป็นโอกาสในการเติบโตได้ในอนาคต
• การที่ NFT มีชิ้นเดียวในโลก มีผลกับดีมานด์/ซัพพลาย ด้วยซัพพลายมีจำกัด คือ มีชิ้นเดียวในโลก แต่อาจเกิดดีมานด์จากคุณค่าของสตอรี่ เช่น เป็นของศิลปินที่ได้รับการยกย่อง อาจจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากคนในกลุ่มที่มีความต้องการงานชิ้นนั้นที่มีชิ้นเดียวในโลก และเห็นคุณค่า นอกจากนี้ NFT อยู่บนบล็อกเชน มีเสน่ห์ที่ตรวจสอบได้ว่า ใครเคยเป็นเจ้าของมาบ้าง ก็อาจเกิดสตอรี่ที่ทำให้สินทรัพย์หรืองานศิลปะชิ้นนั้นมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว
5. ใครเป็นใครในในภาพรวมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
• หากมองเป็น ecosystem ภาพใหญ่ของประเทศไทยว่า การที่จะมีเหรียญ 1 เหรียญมาอยู่ในมือของประชาชนทั่วไป จะต้องผ่านหน่วยงานใดบ้าง อาจเล่าได้ดังนี้
• การจะออกเหรียญในตลาดแรก แบบ ICO (initial coin offering) จะต้องดำเนินการผ่าน ICO portal โดยบริษัทที่ต้องการออกเหรียญ จะไปยื่นผ่าน ICO Portal โดย ICO Portal จะตรวจสอบว่า เหรียญหน้าตาเป็นอย่างไร มีสินทรัพย์เบื้องหลังอย่างไร ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดูแลการเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบผู้บริหาร การบริหารจัดการเงินหรือสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงให้คนทั่วไปที่จะลงทุน
• การเสนอขายเหรียญ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะเสนอขายผ่านช่องทางใด ส่วนใหญ่จะเป็นออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นตลาดแรก หรือ การระดมทุนครั้งแรก
• exchange ต่าง ๆ เป็นที่ที่สามารถนำเงินบาทเข้าไปแลกเป็นโทเคนหรือแลกเป็นสกุลเงินดิจิทัล และรายชื่อ exchange ที่อยู่ในการกำกับดูแล สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ ก.ล.ต.
• สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อาจต้องย้ำอีกทีว่า ผู้ที่ซื้อขายต้องรับผิดชอบในการเลือกซื้อขายของตัวเอง เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นของค่อนข้างใหม่ ควรลงทุนในความรู้ให้มากและติดตามสิ่งที่ซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพราะโลกหมุนเร็ว ข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
• ส่วนตัวเคารพในสิทธิการตัดสินใจของทุกคน เพียงแต่ว่าการเริ่มต้น ถ้าเริ่มต้นในเงินที่เสียได้ ก็จะปลอดภัยมากกว่า ทุกคนอาจจะเห็นโอกาสเติบโตมหาศาลเป็น 100 เป็น 1,000% แต่ขณะเดียวกันอาจจะเหลือศูนย์เลยก็เป็นได้ สิ่งที่น่าสนใจของสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ downside จำกัดที่ศูนย์ แต่ upside อาจไม่จำกัด ทำให้น่าศึกษา และทางที่ดีที่สุด คือ ต้องเลือกลงทุนในความรู้ เลือกลงทุนในตัวเองก่อน
_______________
หมายเหตุ :
* float ตามความหมายวิทยากร คือ ปริมาณเหรียญที่ซื้อขายอยู่ในตลาด
** NFT ตามบริบทวิทยากร คือ การแปลงสินทรัพย์ที่มีหนึ่งเดียวในโลกจริง (เช่น งานศิลปะ) เป็นโทเคน 1 โทเคน โดยหลังจากแปลงเป็นโทเคนแล้ว จะทำลายสินทรัพย์ในโลกจริง เพื่อให้โทเคนมีคุณค่าเพราะมีชิ้นเดียวในโลก
อ้างอิงจากความรู้พื้นฐาน คริปโท 101 ตอนที่ 3 หัวข้อ "คริปโท vs โทเคน ต่างกันไหม” โดย คุณธีรชาติ ก่อตระกูล CEO StockRadars เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และ Start-to-invest โดยข้อคิดเห็นที่ปรากฏนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของวิทยากร มิใช่ของสำนักงาน ก.ล.ต.