
1. คริปโทปั้นเศรษฐีได้จริงหรือ
• คนจะเป็นเศรษฐีไม่ได้เกี่ยวกับคริปโท แต่เขามีคุณสมบัติ ข้อแรก คือ อดทนรอเป็น ไม่ว่าจะอดทนรอด้วยการสั่งสมความรู้หรือทักษะในการลงทุน หรือพอลงทุนแล้วต้องรอให้จังหวะของสินทรัพย์นั้นราคาขึ้น
• ข้อสอง คือ มีความทนอยู่ในตลาดได้นาน ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น มีความเชื่อมั่นว่าตลาดจะเติบโตได้ในอนาคต หรือระหว่างที่อดทนรอได้เรียนรู้หลายอย่าง เช่น เรียนรู้ตลาด เรียนรู้สินทรัพย์
• คริปโทเป็นเรื่องใหม่ การฟังจากคนอื่นบอกเป็นทางลัดก็จริง แต่การที่ได้สัมผัสเอง เรียนรู้เอง เป็นทักษะหรือประสบการณ์ที่หาที่ใดในโลกไม่ได้ เราต้องอยู่ในตลาดให้นาน อดทนรอให้เป็น อย่าออกจากตลาดก่อนที่จะประสบความสำเร็จ
• อีกคุณสมบัติหนึ่งที่เห็น คือ ส่วนใหญ่จะกล้า เร็ว และ ลงมือ (execution) ทันที โดยตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานที่เขารู้
• สิ่งหนึ่งที่น่ากังวล คือ ทำตามสิ่งที่คนอื่นบอก เมื่อได้ยินคนที่เรารู้สึกเชื่อถือ แล้วทำตามที่เขาบอกเลย อาจเป็นความผิดพลาดมหันต์ ที่ทำให้เราไม่ได้เรียนรู้ สิ่งที่เราควรจะทำคือ เราหาหลักของเราให้เจอ แล้วลงมือทำ หากพลาดก็จะได้เรียนรู้ว่าพลาดจากอะไร หรือแม้แต่ถ้าทำแล้วสำเร็จก็ต้องสกัดให้ออกว่า หลักที่เราคิดแล้วทำสำเร็จนั้นคืออะไร เพื่อที่จะได้ทำซ้ำใหม่ได้ คุณสมบัติพวกนี้จะใช้พัฒนาตัวเองได้
2. ถ้ามีคนมาชวนซื้อขายคริปโทจะทำอย่างไร
• เวลาที่มีคนชวนบอกว่าเป็นโอกาส ต้องรีบ ขอให้มีคำถามผุดขึ้นมาในใจง่าย ๆ ว่า โอกาสเป็นของใคร โอกาสเป็นของเรา หรือเป็นของคนที่มาชวนเรา
• สิ่งที่ทำให้คนหลงประเด็น คือ เราไม่ได้ใส่ใจในสาระสำคัญ แต่ใส่ใจในเรื่องราวที่เขามาเล่าให้ฟัง ทำให้เราตัดสินใจอยู่บนอารมณ์มากกว่าอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง
• ฉะนั้น หากยังไม่รู้ข้อเท็จจริง ขอให้มีคำถามขึ้นมาในใจว่า โอกาสที่เราเห็นเป็นของใคร จะทำให้เรามีสติยับยั้งชั่งใจ อาจตอบว่า น่าสนใจนะ ขอไปคิดหนึ่งคืนแล้วจะให้คำตอบ หนึ่งคืนที่ยื้อไปจะเป็นคืนที่เรากลับไปทบทวนว่าโอกาสเป็นของใคร
• อีกส่วนที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด คือ เวลาที่บีบคั้น เขาอาจจะบอกว่าไม่ทันแล้ว ต้องตัดสินใจตอนนี้ ความบีบคั้นของระยะเวลาในการตัดสินใจ อาจทำให้ความสามารถพิจารณาหรือตัดสินใจลดลง
• แนะนำเทคนิคง่าย ๆ เมื่อถูกชักชวน คือ ตั้งคำถาม แล้วยื้อเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะยื้อได้ เพื่อที่เราจะมีโอกาสคิดพิจารณา เป็นอาวุธที่เอาไว้ปกป้องตัวเองให้รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อ
3. เขาใช้คริปโทมาหลอกลวงอย่างไร
• การหลอกลวงเป็นเรื่องที่คู่กับมนุษย์มานาน เพียงแต่กาลเวลาเปลี่ยน รูปแบบเปลี่ยน เทคโนโลยีหรือสินทรัพย์เปลี่ยนไป แต่ความโลภของคนยังเหมือนเดิม ฉะนั้น ต้องระวังให้มาก ตอนที่เราคิดหรือตัดสินใจลงไปนั้น มีความโลภเป็นตัวขับเคลื่อนหรือไม่
• ในโลกของคริปโท จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พบได้บ่อยมาก เช่น เมื่อโพสต์อะไรในเพจ จะมีกลุ่มหลอกลวงเข้ามาโพสต์ต่อข้างล่างว่า เราสร้าง/มีแคมเปญแจกเงิน โดยมีแอดเดรสมาให้ บอกว่า เพียงแค่คุณโอนบิตคอยน์มาในแอดเดรสนี้ คุณจะได้บิตคอยน์โอนกลับไป แล้วก็จะมีหน้าม้าหลายคนมาบอกต่อว่า โอ้! จริง ๆ ด้วย
• เห็นได้ว่าองค์ประกอบครบ คือ ทำให้เราอยากได้ก่อน แล้วก็ใช้วิธีให้คนมายืนยันว่าได้จริง ๆ โดยคนที่อ่านอาจยังไม่เข้าใจว่าจะยืนยันได้อย่างไร
• ยังมีบางเคส มาหลอกลวงโดยก๊อปปี้โลโก้ของผม แล้วมาโพสต์อีกด้วย
• ผู้ที่จะเข้ามาในแวดวงคริปโท ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ต้องใส่ใจและหาความรู้ เพราะในโลกของคริปโท อาจเห็นคุณสมบัติหลายอย่างคล้ายกันก็จริง แต่ไม่ได้เหมือนกัน จะต้องหาทางยืนยันให้ได้ว่า สิ่งนี้ใช่ หรือไม่ใช่
• มีข้อคิดอย่างหนึ่ง หากบางอย่างดูดีเกินจริงให้ตระหนักไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ใช่ เช่น การันตีผลตอบแทน ซึ่งหลายโปรเจ็กต์ในคริปโทของจริง จะไม่การันตีผลตอบแทน เพราะไม่สามารถกำหนดราคาหรือผลตอบแทนได้ เนื่องจากโลกของคริปโทเป็นตลาดเปิดที่ใครก็เข้าถึงได้ จึงควบคุมลำบาก เพราะฉะนั้นในเรื่องการันตีผลตอบแทน เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในปัจจุบัน
• หากถูกชักชวน อาจจะบอกไปว่าขอคิดก่อน เพื่อให้มีเวลาปรึกษาคนข้างเคียงหรือคนที่มีความรู้ หรือตรวจสอบในเว็บไซต์ของก.ล.ต. หรือแอปพลิเคชัน SEC Check First ก็ได้
4. คริปโทมีการกำกับดูแลหรือไม่
• ในโลกของคริปโทอาจแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล กับส่วนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในโลกไหน
• ถ้าอยู่ในโลกที่ไม่ได้กำกับดูแล แปลว่า เราต้องดูแลตัวเอง เปรียบเหมือน Wild Wild West (ภาพยนตร์) ใครมีกำลัง ใครเก่ง ก็เอาตัวรอดในโลกนั้นได้ แต่หากอยู่ในโลกที่มีการกำกับดูแล ก็แปลว่า เราพึ่งพาคนที่กำกับดูแลนั้นได้ สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ หากอยู่ในโลกที่ต้องดูแลตัวเอง ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจะไปขอความช่วยเหลือกับคนที่กำกับดูแลไม่ได้
• ตัวอย่างเช่น exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หากใช้งานแล้วมีปัญหา คุณขอให้ผู้ประกอบการแก้ไข แล้วไม่ได้รับการแก้ไขตามพันธสัญญาที่เคยมีให้กันไว้ คุณมีสิทธิให้ ก.ล.ต. ช่วยเหลือได้ เพราะเขาเป็นคนกำกับดูแล เป็นคนออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายนั้น
• แต่หากว่า เขาไม่เคยมีสัญญา แต่คุณไปเรียกร้องให้มี และเขาไม่ทำให้ ตรงนี้ ก.ล.ต. ก็ช่วยไม่ได้ ซึ่งอยากให้ทุกคนเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับฐานะโดยหน้าที่ของแต่ละฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดความคาดหวังเกินกว่าที่ควรจะเป็น (over expectation)
• ส่วนกรณี exchange บางเจ้าที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลแต่คนละประเทศ ซึ่งกฎหมายไทยครอบคลุมเพียงราชอาณาจักรไทย จึงควรไปดูขอบเขตของ exchange เจ้านั้นว่า เมื่อมีปัญหาจะช่วยเหลือได้แค่ไหน
• สิ่งหนึ่งที่ exchange ที่อยู่ในกำกับดูแลต้องมี คือ KYC (Know your customer) เป็นพื้นฐานที่ต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน หรือ พาสปอร์ต เพื่อยืนยันว่าเราเป็นใคร มีที่อยู่จริงชัดเจน ตรงนี้อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้สังเกตเวลาที่มีคนมาชักชวน หากไม่ขอเอกสารเลย ก็ต้องฉุกคิด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนที่คิดจะหลอกก็พยายามทำให้ตัวเองมีคุณลักษณะคล้ายกับของจริง
• อีกอย่างที่ต้องระวัง คือ การที่ไว้ใจให้คนอื่นดูแลสินทรัพย์ตัวเอง ซึ่งพบเห็นบ่อยมาก ขอเตือนว่า ใจคนเปลี่ยนได้ตลอด อย่าเชื่อมั่นในตัวบุคคลมากนัก
• สำหรับคนที่ซื้อขาย อาจดูตัวสัญญาหรือเอกสารเวลาที่ไปใช้บริการเพื่อดูว่าเขาจะทำอะไรให้เราบ้าง
ซึ่งสัญญานี้จะเป็นตัวช่วยหนึ่งได้เวลาเกิดปัญหา ที่มีสิ่งให้ยืนยันหรืออ้างอิงได้
5. ถ้ามีคนมาบอกว่าจะรับบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลให้ เชื่อได้ไหม
• ในต่างประเทศมีธุรกิจดังกล่าวอยู่ เช่น หนึ่งในบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักและได้ยินชื่อบ่อย คือ Grayscale ซึ่งเป็น investment trust กองทุนขนาดใหญ่ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
• สำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน ก.ล.ต. ออกกฎหมายมาเรียบร้อยแล้ว (ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล) ซึ่งเชื่อว่ามีผู้ประกอบการหลายรายกำลังยื่นขอใบอนุญาตอยู่ แต่ ณ วันที่บันทึกเทปนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ใบอนุญาต โดยตรวจสอบรายชื่อได้จาก SEC Check First ว่ามีใครประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบ้าง ระหว่างนี้มีคนมาชักจูงให้ลงทุนในลักษณะหรือรูปแบบนี้ ให้ตระหนักไว้ก่อนว่า อาจจะไม่ใช่
• สำหรับ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” อธิบายอย่างง่าย คือ เป็นคนจัดการให้เรา ไม่ใช่การนำเงินมากองรวมกันเพื่อไปซื้อเหมือน mutual fund แต่อย่างใด
• โลกของคริปโทในปัจจุบันมีความหลากหลายและซับซ้อนมาก เกินกว่าคนหน้าใหม่จะเข้าใจ โดยตอนนี้หากเข้าไปดู จะเห็นแต่รูปกราฟิกง่าย ๆ กับผลตอบแทนที่ได้กำไร แต่ไม่เข้าใจโครงสร้างว่ามาได้อย่างไร มาจากอะไร ทำไมถึงได้มา หลายคนโฟกัสเพียงทำ 1 2 3 4 แล้วได้ผลตอบแทน ซึ่งต้องระวังหากเราไม่เข้าใจ และลงเงินจำนวนมากและเป็นเงินที่สูญเสียไม่ได้ ก็น่าเป็นห่วง
6. เราจะรู้ทันกลโกงได้อย่างไร
• คนที่มาหลอกลวงมักจะมาในรูปแบบที่ดูเหมือนจะดูดี ไม่ว่าจะการันตีผลตอบแทน ทำแพคเกจให้ง่าย เพียงเอาเงินมาเดี๋ยวที่เหลือจัดการให้ ถ้าพบเห็นให้ระวัง
• สิ่งสำคัญ หากไม่รู้จะตรวจสอบอย่างไร ก.ล.ต. ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเหลือ โดยอาจจะตรวจสอบที่แอปพลิเคชัน SEC Check First หรือโทรสอบถาม ก.ล.ต. ก็ได้ว่า มีโปรเจ็กต์นี้อยู่ได้รับอนุญาตหรือไม่
• แต่ถ้าไปลงทุนในส่วนที่ไม่ได้ถูกกำกับดูแล ต้องตระหนักว่า เราเลือกที่จะตัดสินใจเอง หากมีปัญหาอาจจะขอให้คนอื่นมาช่วยเราไม่ได้
_______________
อ้างอิงจากความรู้พื้นฐาน คริปโท 101 ตอนที่ 4 หัวข้อ “ระวังถูกหลอกให้ซื้อขายคริปโท” โดย คุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และ Start-to-invest โดยข้อคิดเห็นที่ปรากฏนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของวิทยากร มิใช่ของสำนักงาน ก.ล.ต.